คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8341/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์และจำเลยต้องปรับปรุงสัญญาขุดขนดินและถ่านลิกไนต์ในประเด็นราคาค่าจ้าง เพราะมีการยกเลิกระบบภาษีการค้ามาเป็นระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม จึงจำเป็นต้องหักภาษีการค้าซึ่งเดิมรวมอยู่ในราคาค่าจ้างออกจากราคาค่าจ้างเดิม เพื่อให้เหลือราคาค่าจ้างที่แท้จริง การที่โจทก์และจำเลยไม่ได้แก้ไขสัญญาในเรื่องการจ่ายกระแสไฟฟ้าเหมือนดังที่แก้ไขราคาค่าจ้างเช่นนี้ ย่อมแสดงให้เห็นว่าโจทก์และจำเลยยังคงยึดถือข้อตกลงเดิมไม่เปลี่ยนแปลง จำเลยจึงต้องปฏิบัติตามสัญญาที่ทำไว้กับโจทก์ คือมีหน้าที่ชำระค่ากระแสไฟฟ้าให้แก่โจทก์ในอัตรากิโลวัตต์- ชั่วโมงละ 1.20 บาท การที่โจทก์แยกคิดกระแสไฟฟ้าจากจำเลยโดยแยกเป็นค่ากระแสไฟฟ้ากิโลวัตต์ – ชั่วโมงละ 1.121495 บาท และค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม 0.078505 บาทนั้น ทำให้โจทก์ได้รับเงินค่ากระแสไฟฟ้าไม่ครบ โดยขาดหายไปเท่ากับจำนวนค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม จำเลยจึงต้องชำระเงินจำนวนนี้แก่โจทก์
โจทก์ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อจำหน่ายพลังงานไฟฟ้าให้แก่บุคคลทั่วไป ดังเช่นการไฟฟ้านครหลวงหรือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคการที่โจทก์จ่ายกระแสไฟฟ้าให้แก่จำเลยโดยคิดค่ากระแสไฟฟ้าในราคาที่ต่ำมาก แสดงว่าโจทก์ไม่ได้จ่ายกระแสไฟฟ้าให้แก่จำเลยในเชิงการค้าหากแต่เป็นการจ่ายกระแสไฟฟ้าตามเงื่อนไขของสัญญาจ้างเหมาขุดขนดินและถ่านลิกไนต์ระหว่างโจทก์และจำเลย ซึ่งนอกจากโจทก์จะต้องจ่ายกระแสไฟฟ้าให้แก่จำเลยดังกล่าวแล้ว โจทก์ยังต้องจัดหาน้ำมันดีเซลหมุนเร็วส่งถึงบริเวณถังน้ำมันของเหมืองแม่เมาะให้แก่จำเลยตามสัญญาด้วยข้อตกลงเรื่องกระแสไฟฟ้าระหว่างโจทก์กับจำเลยตามเงื่อนไขของสัญญาจึงเป็นเรื่องเฉพาะกิจ ไม่ได้ทำเป็นปกติธุระเช่นจำหน่ายให้แก่บุคคลทั่วไปถือไม่ได้ว่าโจทก์เป็นผู้ประกอบการค้าตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34(1) ประกอบกับหนี้คดีนี้เกิดจากโจทก์สำคัญผิดว่าโจทก์ต้องเป็นผู้รับภาระภาษีมูลค่าเพิ่มแทนจำเลย จึงคิดค่ากระแสไฟฟ้าจากจำเลยขาดตกบกพร่องเท่ากับจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อหนี้ส่วนนี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/30
ตามสัญญาจ้างเหมาขุดขนดินและถ่านลิกไนต์ โจทก์เรียกเก็บค่ากระแสไฟฟ้าจากจำเลยเป็นงวด ตามงวดของการทำงานที่จำเลยส่งมอบให้แก่โจทก์ และจำเลยจะต้องชำระค่ากระแสไฟฟ้าให้แก่โจทก์หลังจากได้รับแจ้งจากโจทก์เป็นลายลักษณ์อักษรภายใน 30 วัน ถ้าผิดนัดจำเลยจะต้องเสียดอกเบี้ยให้แก่โจทก์เท่ากับอัตราดอกเบี้ยที่โจทก์เสียให้แก่ธนาคาร แต่หนี้ในคดีนี้ไม่ใช่ค่ากระแสไฟฟ้าที่โจทก์เรียกเก็บจากจำเลยตามงวดของการทำงานดังที่ระบุไว้ในสัญญา หากแต่เป็นหนี้ที่เกิดจากโจทก์สำคัญผิดว่าโจทก์ต้องเป็นผู้รับภาระภาษีมูลค่าเพิ่มแทนจำเลย ทำให้คิดค่ากระแสไฟฟ้าจากจำเลยขาดจำนวนไป จำเลยจึงไม่ต้องเสียดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ตามอัตราที่โจทก์เสียให้แก่ธนาคารตามสัญญา แต่เมื่อเป็นหนี้เงินจำเลยจึงต้องเสียดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีให้แก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 224

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษารวมกัน โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องทำนองเดียวกันว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด โจทก์ว่าจ้างจำเลยขุดขนดินและถ่านลิกไนต์ที่บริเวณเหมืองแม่เมาะ อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ในราคาประมาณ7,501,130,000 บาท โดยโจทก์จะจำหน่ายกระแสไฟฟ้าให้แก่จำเลยเพื่อใช้ในการดำเนินงานตามสัญญาในระบบ 22 เควี ราคากิโลวัตต์ -ชั่วโมงละ 1.20 บาท คำนวณตามจำนวนที่โจทก์และจำเลยร่วมกันอ่านได้จากมาตรวัดไฟฟ้าที่ติดตั้งเพื่อรับกระแสไฟฟ้ามาใช้งานที่จ้างคูณอัตราค่ากระแสไฟฟ้าที่กำหนดไว้ และหักออกจากค่าจ้างที่จำเลยมีสิทธิได้รับในงวดนั้น ๆ หากไม่มีค่าจ้างให้หักจำเลยจะต้องชำระค่ากระแสไฟฟ้าให้แก่โจทก์ภายใน 30 วัน นับจากได้รับแจ้งจากโจทก์เป็นลายลักษณ์อักษร หากผิดนัดจำเลยยอมให้คิดดอกเบี้ยเท่ากับอัตราดอกเบี้ยที่โจทก์เบิกเงินเกินบัญชีจากธนาคารที่โจทก์ใช้บริการอยู่ในวันที่ถึงกำหนดชำระ ต่อมาโจทก์และจำเลยตกลงเปลี่ยนแปลงแบบที่ทิ้งดินและเพิ่มงานขุดขนดินทำให้ราคาค่าจ้างตามสัญญาเพิ่มขึ้นอีกจำนวน2,364,084,000 บาท โจทก์และจำเลยตกลงหักลดภาษีการค้าออกจากราคาค่าจ้าง เนื่องจากการเปลี่ยนระบบภาษีการค้ามาเป็นระบบภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน 325,315,000 บาท คงเป็นราคาค่าจ้างที่ตกลงกันรวมทั้งสิ้นประมาณ9,539,899,000 บาท นับจากวันเริ่มต้นทำงานตามสัญญาจนถึงเดือนธันวาคม 2534 จำเลยทำงานตามที่ว่าจ้างและชำระ ค่ากระแสไฟฟ้าให้โจทก์ในราคาตามที่ได้สัญญาคือกิโลวัตต์ – ชั่วโมงละ 1.20 บาทโดยให้โจทก์หักจากราคาค่าจ้างแต่ละงวดมาโดยตลอด ต่อมาวันที่1 มกราคม 2535 มีการเปลี่ยนแปลงระบบการเก็บภาษีการค้ามาเป็นภาษีมูลค่าเพิ่มแทน นับตั้งแต่งวดงานเดือนมกราคม 2535 โจทก์เรียกเก็บค่ากระแสไฟฟ้าจากจำเลยในราคารวมภาษีมูลค่าเพิ่ม (อัตราร้อยละ7) กิโลวัตต์ – ชั่วโมงละ 1.20 บาท โดยแยกเป็นค่ากระแสไฟฟ้ากิโลวัตต์- ชั่วโมงละ 1.121495 บาท และเป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งจำเลยมีหน้าที่ต้องชำระให้แก่โจทก์เพื่อนำส่งกรมสรรพากรกิโลวัตต์ – ชั่วโมงละ 0.078505บาท โดยโจทก์ออกใบกำกับภาษีมูลค่าเพิ่มให้จำเลยตามจำนวนภาษีที่เรียกเก็บ การที่โจทก์เรียกเก็บค่ากระแสไฟฟ้าในราคาดังกล่าวมาตั้งแต่มีการเปลี่ยนระบบภาษี เนื่องจากโจทก์สำคัญผิดในวิธีการทางภาษีของระบบภาษีมูลค่าเพิ่มที่ถูกต้องแล้วแม้จะเปลี่ยนมาใช้ระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม จำเลยคงมีหน้าที่ต้องชำระกระแสไฟฟ้าให้โจทก์ในอัตรากิโลวัตต์ – ชั่วโมงละ 1.20บาทตามสัญญา และจำเลยมีภาระต้องชำระภาษีมูลค่าเพิ่มให้โจทก์อีกร้อยละ 7 ของ 1.20 บาท เพื่อให้โจทก์นำส่งกรมสรรพากร และจำเลยจะได้รับเครดิตภาษีตามจำนวนที่จ่ายภาษีซื้อ โดยนำใบกำกับภาษีไปขอคืนภาษีจากกรมสรรพากรได้ การสำคัญผิดดังกล่าวทำให้โจทก์ได้รับชำระค่ากระแสไฟฟ้าจากจำเลยเพียงกิโลวัตต์ – ชั่วโมงละ 1.121495 บาทซึ่งต่ำกว่าที่ตกลงให้ตามสัญญาจ้างเป็นเงินกิโลวัตต์ – ชั่วโมงละ 0.078505บาท ดังนั้น จึงยังมีค่ากระแสไฟฟ้าส่วนที่โจทก์เรียกเก็บขาดไปในสำนวนแรกนับตั้งแต่เดือนมกราคม 2535 จนถึงเดือนมกราคม 2539 จำนวน54,069,094.58 บาท และในสำนวนหลังนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2539จนถึงเดือนพฤศจิกายน 2539 จำนวน 11,860,345.98 บาท โจทก์แจ้งให้จำเลยชำระค่ากระแสไฟฟ้าที่ขาดไปดังกล่าว แต่จำเลยไม่ชำระ จำเลยจึงต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราที่โจทก์เบิกเงินเกินบัญชีจากธนาคารที่ใช้บริการอยู่ในวันถึงกำหนดชำระค่ากระแสไฟฟ้าที่ขาดไปในสำนวนแรกอัตราร้อยละ9.25 ต่อปี นับแต่วันที่ 9 สิงหาคม 2539 และในสำนวนหลังอัตราร้อยละ12.50 ต่อปี นับแต่วันที่ 23 สิงหาคม 2540 ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 2,389,553.60บาท และ 152,372.67 บาท ตามลำดับ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินในสำนวนแรก 56,458,648.18 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 9.25 ต่อปีของต้นเงิน 54,069,094.59 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จและในสำนวนหลัง 12,012,718.65 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ12.50 ต่อปี ของต้นเงิน 11,860,345.98 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยทั้งสองสำนวนให้การทำนองเดียวกันว่า โจทก์ว่าจ้างจำเลยขุดขนดินและถ่านลิกไนต์ที่บริเวณเหมืองแม่เมาะ อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง โดยโจทก์จะจำหน่ายกระแสไฟฟ้าให้แก่จำเลยเพื่อใช้ในการดำเนินงานตามสัญญาในระบบ 22 เควี ราคากิโลวัตต์ – ชั่วโมงละ 1.20 บาทคำนวณตามจำนวนที่โจทก์และจำเลยร่วมกันอ่านได้จากมาตรวัดไฟฟ้าที่ติดตั้งเพื่อรับกระแสไฟฟ้ามาใช้ในงานที่จ้าง คูณอัตราค่ากระแสไฟฟ้าที่กำหนดไว้ และหักออกจากค่าจ้างที่จำเลยมีสิทธิได้รับในงวดนั้น ๆ หากไม่มีค่าจ้างให้หัก จำเลยจะต้องชำระค่ากระแสไฟฟ้าให้แก่โจทก์ภายใน30 วัน นับจากได้รับแจ้งจากโจทก์เป็นลายลักษณ์อักษร หากผิดนัดจำเลยยอมให้คิดดอกเบี้ยเท่ากับอัตราดอกเบี้ยที่โจทก์เบิกเงินเกินบัญชีจากธนาคารที่โจทก์ใช้บริการอยู่ในวันที่ถึงกำหนดชำระ ต่อมาวันที่ 22 มกราคม2535 โจทก์และจำเลยตกลงเปลี่ยนแปลงแบบที่ทิ้งดินและเพิ่มงานขนดินทำให้ราคาค่าจ้างเพิ่มขึ้น วันที่ 8 กันยายน 2535 โจทก์และจำเลยตกลงหักลดภาษีการค้าออกจากราคาค่าจ้าง แม้ว่าวันที่ 1 มกราคม 2535 จะมีการใช้บังคับบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยภาษีมูลค่าเพิ่มแทนภาษีการค้าแต่คณะรัฐมนตรีมีมติให้รัฐวิสาหกิจที่ประกอบการสาธารณูปโภคและสาธารณูปการซึ่งรวมทั้งโจทก์ด้วย ระงับการปรับเพิ่มอัตราค่าบริการให้สูงกว่าอัตราที่เก็บอยู่ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2534 โดยให้รัฐวิสาหกิจดังกล่าวเป็นผู้รับภาระภาษีมูลค่าเพิ่ม โจทก์จึงต้องจำหน่ายกระแสไฟฟ้าให้แก่จำเลยเพื่อใช้ในการดำเนินงานในราคากิโลวัตต์ – ชั่วโมงละ 1.20 บาทตามสัญญา ซึ่งเป็นราคารวมภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7 ตามมติคณะรัฐมนตรี คำนวณเป็นค่ากระแสไฟฟ้ากิโลวัตต์ – ชั่วโมงละ1.121495 บาท และภาษีมูลค่าเพิ่ม 0.078505 บาท โจทก์มิได้สำคัญผิดในวิธีการทางภาษีของระบบภาษีมูลค่าเพิ่มแต่อย่างใด จำเลยไม่จำต้องชำระค่ากระแสไฟฟ้าให้แก่โจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 9.25 ต่อปี นับแต่วันที่ 9 สิงหาคม 2539 ในสำนวนแรกและอัตราร้อยละ 12.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 23 สิงหาคม 2540 ในสำนวนหลัง โจทก์ฟ้องเรียกค่ากระแสไฟฟ้าที่ค้างตั้งแต่เดือนมกราคม 2535ถึงเดือนมกราคม 2539 ในสำนวนแรกเกินกว่าสองปีนับแต่วันที่จำเลยต้องชำระค่ากระแสไฟฟ้าในแต่ละเดือน สิทธิเรียกร้องค่ากระแสไฟฟ้าตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2538 ย้อนหลังขึ้นไปจึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34(1) ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้จึงสั่งงดสืบพยานโจทก์และจำเลย แล้วพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 65,925,440.56 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 9.25 ต่อปี ของต้นเงิน 54,069,094.58บาท นับแต่วันที่ 25 สิงหาคม 2539 จำนวนหนึ่งและดอกเบี้ยอัตราร้อยละ12.50 ต่อปี ของต้นเงิน 11,860,345.98 บาท นับแต่วันที่ 5 กันยายน2540 อีกจำนวนหนึ่งไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยทั้งสองสำนวนอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยทั้งสองสำนวนฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามคำฟ้องของโจทก์และคำให้การจำเลยว่า เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2532 โจทก์ตกลงว่าจ้างจำเลยขุดขนดินและถ่านลิกไนต์บริเวณเหมืองแม่เมาะ อำเภอแม่เมาะจังหวัดลำปาง โดยโจทก์จะจ่ายกระแสไฟฟ้าให้แก่จำเลยเพื่อใช้ดำเนินการตามสัญญาขุดขนดินและถ่านลิกไนต์ในราคากิโลวัตต์ – ชั่วโมงละ1.20 บาท ตลอดอายุสัญญาโดยไม่เปลี่ยนแปลง ต่อมาโจทก์และจำเลยได้เพิ่มเติมงานขุดขนดินและถ่านลิกไนต์ ทำให้ราคาค่าจ้างเพิ่มขึ้นและเนื่องจากมีการเปลี่ยนระบบภาษีการค้ามาเป็นระบบภาษีมูลค่าเพิ่มทำให้จำเลยไม่ต้องเสียภาษีการค้าอีกต่อไป โจทก์และจำเลยจึงตกลงหักภาษีการค้าจำนวน 325,315,000 บาท ออกจากราคาค่าจ้างโดยโจทก์คิดค่ากระแสไฟฟ้าจากจำเลยในอัตรากิโลวัตต์ – ชั่วโมงละ 1.20 บาทตั้งแต่เริ่มสัญญาเรื่อยมา ครั้นวันที่ 1 มกราคม 2535 ซึ่งเป็นวันที่ประกาศใช้บังคับภาษีมูลค่าเพิ่มจนถึงเดือนพฤศจิกายน 2539 โจทก์คิดค่ากระแสไฟฟ้าจากจำเลย โดยแยกเป็นค่ากระแสไฟฟ้ากิโลวัตต์ – ชั่วโมงละ1.121495 บาท และค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม 0.078505 บาท ทำให้โจทก์ได้รับเงินค่ากระแสไฟฟ้าไม่ครบ ขาดหายไปเท่ากับจำนวนค่าภาษีมูลค่าเพิ่มคิดเป็นเงิน 65,929,440.56 บาท มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่าจำเลยต้องชำระเงินจำนวน 65,929,440.56บาทให้แก่โจทก์หรือไม่ ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ได้รับประโยชน์จากการปรับปรุงสัญญาเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2535 จำนวน 325,315,000 บาทและหลังจากประกาศใช้ภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว โจทก์ได้ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีโดยโจทก์เป็นผู้รับภาระภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าการปรับปรุงสัญญาดังกล่าวเป็นการปรับปรุงราคาค่าจ้างที่โจทก์ว่าจ้างจำเลยขุดขนดินและถ่านลิกไนต์ ไม่เกี่ยวกับกระแสไฟฟ้าที่โจทก์จ่ายให้แก่จำเลยและเหตุที่ต้องมีการปรับปรุงสัญญาก็เพราะมีการยกเลิกระบบภาษีการค้ามาเป็นระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม จึงจำเป็นต้องหักภาษีการค้าซึ่งเดิมรวมอยู่ในราคาค่าจ้างออกจากราคาค่าจ้างเดิม เพื่อให้เหลือราคาค่าจ้างที่แท้จริง ในคำฟ้องฎีกาแผ่นที่ 9 ด้านหลัง จำเลยยอมรับว่าเหตุที่ต้องมีการปรับปรุงสัญญาเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2535 เนื่องมาจากมีการเปลี่ยนระบบภาษีการค้า ไม่ใช่กรณีที่จำเลยยอมลดราคาค่าจ้างให้แก่โจทก์เพื่อแลกเปลี่ยนกับการที่โจทก์ยอมเป็นผู้รับภาระภาษีมูลค่าเพิ่มในการจ่ายกระแสไฟฟ้าให้แก่จำเลย การที่โจทก์และจำเลยไม่ได้แก้ไขสัญญาในเรื่องการจ่ายกระแสไฟฟ้าเหมือนดังที่แก้ไขราคาค่าจ้างเช่นนี้ ย่อมแสดงให้เห็นว่าโจทก์และจำเลยยังคงยึดถือข้อตกลงเดิมไม่เปลี่ยนแปลง ส่วนมติคณะรัฐมนตรีที่จำเลยอ้างถึงนั้น มติข้อ 1 ให้รัฐวิสาหกิจที่ประกอบการสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ ระงับการปรับเพิ่มอัตราค่าบริการให้สูงกว่าอัตราที่เก็บอยู่ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2534 ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ ปรับอัตราค่ากระแสไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ทั้งข้อ 3 ให้รัฐวิสาหกิจเป็นผู้รับภาระภาษีมูลค่าเพิ่มกรณีผู้ใช้บริการประเภทครัวเรือน แต่จำเลยซึ่งเป็นผู้ใช้บริการไม่ได้อยู่ในประเภทครัวเรือน กรณีนี้ไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามข้อ 3 จำเลยจึงต้องปฏิบัติตามสัญญาจ้างเหมาที่ทำไว้กับโจทก์ คือมีหน้าที่ชำระค่ากระแสไฟฟ้าให้แก่โจทก์ในอัตรากิโลวัตต์ – ชั่วโมงละ 1.20 บาท เมื่อจำเลยชำระค่ากระแสไฟฟ้าให้แก่โจทก์ขาดไป 65,929,440.56 บาทจำเลยก็ต้องชำระเงินจำนวนนี้แก่โจทก์

มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่าฟ้องของโจทก์ขาดอายุความแล้วหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า โจทก์เป็นผู้ประกอบการค้าหรืออุตสาหกรรมโดยเป็นผู้ขายสินค้าหรือให้บริการในทางธุรกิจและมีหมายเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอายุความฟ้องร้องคดีนี้จึงมีเพียง 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/34(1) นั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2511 มาตรา 6 บัญญัติว่าโจทก์มีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้ (1) ผลิต จัดให้ได้มา จัดส่งหรือจำหน่ายซึ่งพลังงานไฟฟ้าให้แก่ (ก)การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคหรือการไฟฟ้าอื่นตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น (ข) ผู้ใช้พลังงานไฟฟ้าตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา(ค) ประเทศใกล้เคียง ส่วนมาตรา 6(2) ทวิ ที่บัญญัติว่า ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานไฟฟ้าและธุรกิจอื่นที่เกี่ยวกับหรือต่อเนื่องกับกิจการของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยนั้น เป็นบทบัญญัติเพิ่มเติมขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2535หลังจากทำสัญญาจ้างเหมาระหว่างโจทก์และจำเลย จากบทบัญญัติดังกล่าวจะเห็นได้ว่าโจทก์มีวัตถุประสงค์ในการจำหน่ายพลังงานไฟฟ้าให้แก่บุคคลเฉพาะที่ระบุไว้ตามกฎหมายโจทก์ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อจำหน่ายพลังงานไฟฟ้าให้แก่บุคคลทั่วไปดังเช่นการไฟฟ้านครหลวงหรือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคการที่โจทก์จ่ายกระแสไฟฟ้าให้แก่จำเลยในระบบ 22 เควี โดยคิดค่ากระแสไฟฟ้าจากจำเลยกิโลวัตต์ – ชั่วโมงละ 1.20 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำมากแสดงว่าโจทก์ไม่ได้จ่ายกระแสไฟฟ้าให้แก่จำเลยในเชิงการค้า หากแต่เป็นการจ่ายกระแสไฟฟ้าตามเงื่อนไขของสัญญาจ้างเหมาขุดขนดินและถ่านลิกไนต์ระหว่างโจทก์และจำเลย ซึ่งนอกจากโจทก์จะต้องจ่ายกระแสไฟฟ้าให้แก่จำเลยดังกล่าวตามสัญญา 3.2 แล้ว โจทก์ยังต้องจัดหาน้ำมันดีเซลหมุนเร็วส่งถึงบริเวณถังน้ำมันของเหมืองแม่เมาะให้แก่จำเลยตามสัญญาข้อ 3.1 ด้วย ข้อตกลงเรื่องกระแสไฟฟ้าระหว่างโจทก์และจำเลยตามเงื่อนไขของสัญญาข้อ 3 จึงเป็นเรื่องเฉพาะกิจไม่ได้ทำเป็นปกติธุระ เช่นจำหน่ายให้แก่บุคคลทั่วไป ถือไม่ได้ว่าโจทก์เป็นผู้ประกอบการค้าตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา193/34(1) ประกอบกับหนี้คดีนี้เกิดจากโจทก์สำคัญผิดว่าโจทก์ต้องเป็นผู้รับภาระภาษีมูลค่าเพิ่มแทนจำเลย จึงคิดค่ากระแสไฟฟ้าจากจำเลยขาดตกบกพร่องเท่ากับจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อหนี้ส่วนนี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีอายุความ 10 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/30 ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าคดีนี้ไม่ขาดอายุความ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย

มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายว่าจำเลยต้องเสียดอกเบี้ยหรือไม่เพียงใด ตามสัญญาจ้างเหมาขุดขนดินและถ่านลิกไนต์ ข้อ 2. มีใจความโดยสรุปว่าในระหว่างการดำเนินการตามสัญญา โจทก์จะเรียกเก็บค่ากระแสไฟฟ้าจากจำเลยเป็นงวด ตามงวดของการทำงานที่ส่งมอบ โดยโจทก์และจำเลยจะร่วมกันอ่านมาตรวัดไฟฟ้าและจำเลยจะต้องชำระค่ากระแสไฟฟ้าให้แก่โจทก์ภายใน 30 วันหลังจากได้รับแจ้งจากโจทก์เป็นลายลักษณ์อักษร ถ้าผิดนัดไม่ชำระภายในเวลาที่กำหนด จำเลยยอมเสียดอกเบี้ยเท่ากับอัตราดอกเบี้ยที่โจทก์เบิกเงินเกินบัญชีจากธนาคารที่โจทก์ใช้บริการอยู่ในวันที่ถึงกำหนดชำระ จากข้อสัญญาดังกล่าวแสดงว่าโจทก์เรียกเก็บค่ากระแสไฟฟ้าจากจำเลยเป็นงวด ตามงวดของการทำงานที่จำเลยส่งมอบให้แก่โจทก์ และจำเลยจะต้องชำระค่ากระแสไฟฟ้าให้แก่โจทก์หลังจากได้รับแจ้งจากโจทก์เป็นลายลักษณ์อักษรภายใน 30 วันถ้าผิดนัดจำเลยจะต้องเสียดอกเบี้ยให้แก่โจทก์เท่ากับอัตราดอกเบี้ยที่โจทก์เสียให้แก่ธนาคาร แต่หนี้ในคดีนี้ไม่ใช่หนี้ค่ากระแสไฟฟ้าที่โจทก์เรียกเก็บจากจำเลยตามงวดของการทำงาน ดังที่ระบุไว้ในสัญญา หากแต่เป็นหนี้ที่เกิดจากโจทก์สำคัญผิดว่าโจทก์ต้องเป็นผู้รับภาระภาษีมูลค่าเพิ่มแทนจำเลยทำให้คิดค่ากระแสไฟฟ้าจากจำเลยขาดจำนวนไปจำเลยจึงไม่ต้องเสียดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ตามอัตราที่โจทก์เสียให้แก่ธนาคารตามสัญญา แต่อย่างไรก็ตามเมื่อหนี้คดีนี้เป็นหนี้เงิน จำเลยจึงต้องเสียดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีให้แก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยเสียดอกเบี้ยตามสัญญา ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีทั้งสองสำนวน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share