แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความว่า จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ประเด็นข้อกฎหมาย ตามฎีกาข้อ 2 ประเด็นที่ 1 และที่ 2 จำเลยมิได้ยกขึ้นว่ากันมา โดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ทั้งที่พฤติการณ์เปิดช่อง ให้กระทำได้ จึงต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณา ความแพ่ง มาตรา 249 ส่วนปัญหาข้อเท็จจริงตามฎีกาข้อ 2 ประเด็นที่ 3 และข้อ 3 นั้น เมื่อผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณา ในศาลชั้นต้นไม่รับรองให้ฎีกา จึงไม่รับฎีกาจำเลย คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกา
จำเลยเห็นว่า ฎีกาข้อ 1 เรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์และฎีกาข้อ 2 ที่ว่าเจ้าพนักงานที่ดินได้ทำเอกสารสารสละมรดก ของทายาทผู้ตายตามเอกสารหมาย จ.6โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยจะมิได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ ศาลย่อมยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ โปรดมีคำสั่งรับฎีกาของจำเลยไว้พิจารณาต่อไป
หมายเหตุ โจทก์ได้รับสำเนาคำร้องแล้ว (อันดับ 70)
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3 ก.) เลขที่ 301 ตำบลสระแก้ว กิ่งอำเภอหนองหงส์จังหวัดบุรีรัมย์ เฉพาะส่วนของนายทอง ศรีหาฆัง เนื้อที่ 65 ไร่ 2 งาน 35 ตารางวา เป็นมรดกตกแก่โจทก์และจำเลย คนละกึ่งหนึ่ง ให้จำเลยไปจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์กึ่งหนึ่ง หรือเนื้อที่ 32 ไร่ 3 งาน 17.5 ตารางวา ภายใน 15 วัน นับแต่วันพิพากษา หากไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษา แทนการแสดงเจตนาของจำเลย ถ้าไม่สามารถจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินดังกล่าวได้ ให้นำที่ดินดังกล่าวออกขายทอดตลาดนำเงิน มาแบ่งกันระหว่างโจทก์และจำเลย
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาดังกล่าว (อันดับ 66)
จำเลยจึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 70)
คำสั่ง
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ปัญหาว่าการสละมรดกของทายาทตามเอกสารหมาย จ.6 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมาย อันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยจะมิได้ ยกขึ้นต่อสู้ไว้ก็มีสิทธิที่จะยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ จึงให้รับฎีกาข้อนี้ของจำเลย ส่วนปัญหาว่าโจทก์มิได้บรรยายฟ้อง ว่า โจทก์เป็นบุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้ว ทั้งโจทก์ มิได้เบิกความว่าโจทก์เป็นบุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า ปัญหาว่าโจทก์ มิได้บรรยายฟ้องว่า โจทก์เป็นบุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เมื่อศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริง เป็นยุติว่าโจทก์เป็นบุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้วเช่นนี้ ข้อฎีกาดังกล่าวจึงเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่ไม่เป็นสาระแก่คดี ส่วนปัญหาว่า โจทก์มิได้เบิกความว่าโจทก์เป็นบุตรนอกกฎหมาย ที่บิดารับรองแล้วปรากฏจากคำเบิกความของโจทก์ว่า เหตุที่พยาน มีชื่อบิดาว่านายทอง มารดาชื่อนางน้อยในสำเนาทะเบียนบ้านเนื่องจากนายทองเป็นผู้ไปแจ้งต่อนายทะเบียน ถือได้ว่าโจทก์เบิกความว่าโจทก์เป็นบุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้ว ฎีกาของจำเลยส่วนนี้จึงเป็นการโต้แย้งข้อเท็จจริง เป็นฎีกา ปัญหาข้อเท็จจริง ที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับจึงชอบแล้ว