คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8340/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์ร่วมกับจำเลยสมัครใจวิวาทต่อสู้กัน โจทก์ร่วมจึงมิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) ย่อมไม่มีอำนาจเข้าร่วมเป็นโจทก์ตาม ป.อ. มาตรา 30 ดังนั้น เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาแล้ว โจทก์ร่วมย่อมไม่มีสิทธิอุทธรณ์ และศาลอุทธรณ์ภาค 6 ย่อมไม่มีอำนาจวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมที่ขอให้กำหนดโทษจำเลยสูงขึ้น จึงต้องบังคับโทษจำเลยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 91, 288, 295
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นางลำจวน ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต กับยื่นคำร้องและแก้ไขคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลอันตนต้องเสียไป และค่าเสียหายเพื่อการที่เสียความสามารถประกอบการงาน รวมทั้งเพื่อความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงิน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 994,000 บาท
จำเลยให้การในคดีส่วนแพ่ง ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295, 288 ประกอบมาตรา 80 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานทำร้ายร่างกาย จำคุก 2 เดือน ฐานพยายามฆ่า จำคุก 10 ปี จำเลยให้การรับสารภาพบางส่วนในชั้นสอบสวน และทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุกฐานทำร้ายร่างกาย 1 เดือน ฐานพยายามฆ่า จำคุก 5 ปี รวมจำคุก 5 ปี 1 เดือน และให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ร่วม เป็นเงิน 208,454 บาท
โจทก์ร่วมและจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษฐานพยายามฆ่า จำคุก 12 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 8 ปี รวมกับโทษจำคุกฐานทำร้ายร่างกายอีก 1 เดือน เป็นจำคุก 8 ปี 1 เดือน และให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ร่วม เป็นเงิน 417,454 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์ โจทก์ร่วม และจำเลยมิได้โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังได้ว่า โจทก์ร่วมอยู่กินฉันสามีภริยากับจำเลยตั้งแต่ปี 2549 ก่อนหน้านั้นจำเลยมีภริยาอยู่แล้วคนหนึ่ง คือนางอ้วน ไม่ปรากฏชื่อจริงและนามสกุล โจทก์ร่วมอยู่กินกับจำเลยและร่วมกันประกอบอาชีพขายของชำที่บ้านที่เกิดเหตุ ในวันและเวลาเกิดเหตุตามฟ้อง โจทก์ร่วมไปร่วมงานฉลองพิธีสมรสของเพื่อนบ้าน ต่อมาจำเลยตามไปดูพฤติกรรมของโจทก์ร่วมพบว่ากำลังคุยอยู่กับชายอื่นก็เกิดความหึงหวงจึงเข้าไปทำร้าย โดยการใช้มือตบแก้มและกกหูซ้าย และใช้เท้าถีบหลัง จนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กาย หลังจากนั้นโจทก์ร่วมและจำเลยต่างเดินทางกลับบ้านที่เกิดเหตุโดยจำเลยเดินทางถึงก่อน เมื่อโจทก์ร่วมเดินทางถึงบ้าน จำเลยใช้มีดปลายตัด ใบมีดยาว 16 นิ้ว ส่วนปลายกว้าง 2.5 นิ้ว เป็นอาวุธฟันโจทก์ร่วมหลายครั้ง ถูกที่ศีรษะ แก้มขวา ต้นคอ ข้อศอกขวา ข้อมือขวา หลังมือขวาและซ้าย พลเมืองดีพาผู้เสียหายส่งโรงพยาบาลบางกระทุ่ม เจ้าพนักงานแพทย์ตรวจรักษาในเบื้องต้นแล้วส่งไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลพุทธชินราช เจ้าพนักงานแพทย์ทั้งสองโรงพยาบาลทำรายงานการตรวจชันสูตรไว้ตามใบนำส่งผู้บาดเจ็บให้แพทย์ตรวจชันสูตร ต่อมาจำเลยเข้ามอบตัวต่อเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรบางกระทุ่ม เจ้าพนักงานตำรวจส่งจำเลยไปตรวจชันสูตรร่างกายที่โรงพยาบาลบางกระทุ่มเนื่องจากจำเลยให้การว่าถูกโจทก์ร่วมใช้ไม้ตี เจ้าพนักงานแพทย์ทำรายงานการตรวจชันสูตรไว้ตามใบรับรองแพทย์ ความผิดฐานทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยว่า โจทก์ร่วมมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ถ้าผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพราะเหตุได้รับอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย จิตใจ หรือได้รับความเสื่อมเสียต่อเสรีภาพในร่างกาย ชื่อเสียง หรือได้รับความเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลย ผู้เสียหายจะยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญาขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนก็ได้” เมื่อคดีได้ความว่า ขณะเกิดเหตุในความผิดฐานพยายามฆ่าตามที่โจทก์ฟ้องนั้นโจทก์ร่วมกับจำเลยสมัครใจวิวาทต่อสู้กัน โจทก์ร่วมจึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย และไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากการกระทำความผิดฐานพยามยามฆ่าได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากการกระทำความผิดฐานพยายามฆ่าให้แก่โจทก์ร่วมจึงไม่ถูกต้อง ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น
เมื่อคดีได้ความว่า โจทก์ร่วมมิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (4) โจทก์ร่วมจึงไม่มีอำนาจเข้าร่วมเป็นโจทก์ตามมาตรา 30 ดังนั้น เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาแล้วโจทก์ร่วมย่อมไม่มีสิทธิอุทธรณ์ และศาลอุทธรณ์ภาค 6 ย่อมไม่มีอำนาจวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมที่ขอให้กำหนดโทษจำเลยสูงขึ้น ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของจำเลยอีก
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 ในส่วนที่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ร่วม ให้บังคับโทษจำเลยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ยกคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ และคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วม ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6

Share