คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8332/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ป.วิ.อ.มาตรา 158 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 ไม่ได้ระบุให้โจทก์ต้องบรรยายฟ้องเกี่ยวกับการขอให้นับโทษจำคุกในแต่ละกระทงติดต่อกันหรือขอให้รวมโทษในแต่ละกระทง เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องระบุวันที่จำเลยทั้งสองสั่งจ่ายเช็คทั้งเจ็ดฉบับต่างวันกัน และจำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ แสดงว่าจำเลยทั้งสองเจตนาสั่งจ่ายเช็คแต่ละฉบับชำระหนี้แต่ละส่วนแยกกัน การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน แม้โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องหรือมีคำขอให้ศาลพิพากษานับโทษจำคุกแต่ละกระทงติดต่อกันหรือขอให้รวมโทษในคำฟ้องแต่ละสำนวน ศาลก็ลงโทษจำเลยทั้งสองในแต่ละสำนวนทุกกรรมเป็นกระทงความผิดและรวมโทษในแต่ละสำนวนได้ ฟ้องโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอ
คดีนี้เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวง จึงต้องนำ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 มาใช้บังคับ เมื่ออุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงและ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499กับกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญาไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 นำ ป.วิ.พ. มาตรา 225 มาใช้บังคับกับอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกัน โดยเรียกโจทก์ทั้งสองสำนวนว่า โจทก์ และเรียกจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทั้งสองสำนวนว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 (ที่ถูก มาตรา 4 (1) (2) (3) (5)) ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 รวม 7 กระทง ลงโทษปรับจำเลยที่ 1 กระทงละ 30,000 บาท เป็นปรับ 210,000 บาท ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 กระทงละ 6 เดือน เป็นจำคุก 42 เดือน จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 105,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 21 เดือน หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ตามเช็คฉบับลงวันที่ 15 และ 31 กรกฎาคม 2546 ในสำนวนหลัง คงลงโทษปรับจำเลยที่ 1 กระทงละ 15,000 บาท รวม 5 กระทง เป็นเงิน 75,000 บาท และคงจำคุกจำเลยที่ 2 กระทงละ 3 เดือน ตามสำนวนแรก 2 กระทง เป็นจำคุก 6 เดือน และสำนวนหลัง 3 กระทง เป็นจำคุก 9 เดือน โดยไม่นับโทษติดต่อกัน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการแรกว่า ฟ้องโจทก์ชอบด้วยกฎหมายและศาลอุทธรณ์ภาค 1 ลงโทษจำเลยทั้งสองเกินคำขอหรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 มิได้ระบุให้โจทก์ต้องบรรยายฟ้องเกี่ยวกับการขอให้นับโทษจำคุกในแต่ละกระทงติดต่อกันหรือขอให้รวมโทษในแต่ละกระทง ประกอบกับคำฟ้องของโจทก์ทั้งสองสำนวนได้บรรยายระบุวันที่จำเลยทั้งสองสั่งจ่ายเช็คทั้งเจ็ดฉบับต่างวันกัน เมื่อจำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ แสดงว่าจำเลยทั้งสองเจตนาสั่งจ่ายเช็คแต่ละฉบับชำระหนี้แต่ละส่วนแยกกัน การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ดังนั้น แม้โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องหรือมีคำขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้นับโทษจำคุกในแต่ละกระทงติดต่อกันหรือขอให้รวมโทษในคำฟ้องในแต่ละสำนวน ศาลก็ลงโทษจำเลยทั้งสองในแต่ละสำนวนทุกกรรมเป็นกระทงความผิดและรวมโทษในแต่ละสำนวนได้ ฟ้องโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอ ฎีกาจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการต่อไปว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองที่ว่าจำเลยทั้งสองไม่มีเจตนากระทำความผิดและมูลหนี้ตามเช็คไม่สมบูรณ์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวง จึงต้องนำพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาใช้บังคับ ซึ่งมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติว่า กรณีที่ไม่มีบทบัญญัติในพระราชบัญญัตินี้บังคับ ให้คงใช้กฎหมายว่าด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม กฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญา กฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความแพ่งบังคับ เมื่ออุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 กับกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญา ไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 มาใช้บังคับกับอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสอง จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน

Share