คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 833/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยทั้งสองร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนของกลาง 11,000 เม็ด ไว้ในครอบครอง ซึ่งเมื่อคำนวณน้ำหนักเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 233.633 กรัม ซึ่งเกินกว่า 20 กรัม จึงเข้าข้อสันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 15 วรรคสอง นอกจากนี้ในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนจำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ ซึ่งตามบันทึกการจับกุมและบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาไม่ส่อพฤติการณ์ให้เห็นว่า จำเลยทั้งสองถูกเจ้าพนักงานตำรวจหลอกลวงให้รับสารภาพ โดยเฉพาะในชั้นสอบสวน พันตำรวจโท ส. พนักงานสอบสวนได้ยืนยันการรับสารภาพและได้มีการแจ้งสิทธิตามกฎหมายของผู้ต้องหาให้จำเลยทั้งสองทราบก่อนลงมือสอบปากคำจำเลยทั้งสองอันเป็นการสอบสวนโดยชอบแล้ว ส่วนในชั้นจับกุมขณะนั้นยังไม่มีกฎหมายบังคับให้เจ้าพนักงานตำรวจต้องแจ้งสิทธิก่อนทำการจับกุม จึงหาจำต้องแจ้งสิทธิดังกล่าวไม่ พยานหลักฐานของโจทก์จึงรับฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดตามฟ้อง
ทางนำสืบของโจทก์ ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองได้นำโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางมาใช้สำหรับติดต่อซื้อขายยาเสพติดให้โทษในคดีนี้อย่างไร โทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางจึงไม่ใช่เครื่องมือ เครื่องใช้ หรือวัตถุอื่น ซึ่งได้ใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 102 และไม่ใช่ทรัพย์สินที่กฎหมายบัญญัติว่า ผู้ใดทำหรือมีไว้เป็นความผิดหรือได้มาโดยกระทำความผิด ซึ่งหมายถึงเฉพาะความผิดที่กระทำในคดีนี้ตาม ป.อ. มาตรา 32 และ 33 (2) จึงไม่อาจริบได้ตามขอ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคูความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็หยิบยกว่ากล่าวและสั่งคืนแก่เจ้าของได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83 ริบของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำคุกคนละตลอดชีวิต คำให้การรับสารภาพของจำเลยทั้งสองในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 ลดโทษให้หนึ่งในสาม จำคุกคนละ 33 ปี 4 เดือน ริบของกลาง
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง เจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจนครบาลประชาชื่นจับกุมจำเลยทั้งสองโดยกล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย เจ้าพนักงานตำรวจยึดได้เมทแอมเฟตามีนจากจำเลยที่ 1 จำนวน 2,000 เม็ด และยึดได้จากบ้านที่เกิดเหตุอีก 9,000 เม็ด พนักงานสอบสวนได้ส่งเมทแอมเฟตามีนของกลางทั้งหมดไปตรวจพิสูจน์ ผลการตรวจพิสูจน์ตรวจพบยาเสพติดให้โทษชนิดเมทแอมเฟตามีนไฮโดรคลอไรด์ซึ่งเป็นเกลือของเมทแอมเฟตามีนที่วัตถุของกลางคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 233.633 กรัม คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มีร้อยตำรวจเอกพัฒน์พงษ์ ทองสาริ และจ่าสิบตำรวจสุรเดช ฉัตรไชย เจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมจำเลยทั้งสองมาเบิกความในทำนองเดียวกันว่า ในวันเกิดเหตุเวลาประมาณ 9 นาฬิกา ร้อยตำรวจเอกพัฒน์พงษ์และจ่าสิบตำรวจสุรเดชได้รับแจ้งว่าสายลับสามารถล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนได้ โดยมีการนัดส่งมอบที่บริเวณหน้าโรงแรมพงษ์เพชรเกสโฮเต็ลจึงร่วมกันวางแผนจับกุมโดยให้สายลับไปติดต่อเพื่อล่อซื้อ โดยร้อยตำรวจเอกพัฒน์พงษ์และจ่าสิบตำรวจสุรเดชพร้อมด้วยสายลับไปแอบซุ่มดูอยู่ที่บริเวณลานจอดรถของโรงแรม ครั้นในเวลาประมาณ 13 นาฬิกา สายลับแจ้งว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งได้นำเมทแอมเฟตามีนมาเพื่อจำหน่ายได้เดินลงจากรถแท็กซี่แล้วเดินเข้ามาในบริเวณลานจอดรถของโรงแรมดังกล่าว ร้อยตำรวจเอกพัฒน์พงษ์และจ่าสิบตำรวจสุรเดชกับเจ้าพนักงานตำรวจที่ไปแอบซุ่มดูได้เข้าตรวจค้นและจับกุม จากการตรวจค้นพบเมทแอมเฟตามีนอยู่ในถุงกระดาษที่จำเลยที่ 1 ถืออยู่ 2,000 เม็ด บรรจุอยู่ในถุงพลาสติกพันด้วยเทปพลาสติกเป็นมัด จำเลยที่ 1 รับว่ากำลังจะนำเมทแอมเฟตามีนของกลาง 2,000 เม็ด ส่งมอบให้แก่ลูกค้าและรับว่าเมทแอมเฟตามีนของกลางดังกล่าวเป็นของจำเลยทั้งสอง โดยจำเลยที่ 2 พักอาศัยอยู่บ้านเลขที่ 73/122 ถนนสามัคคี ตำบลท่าทราย อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี ร้อยตำรวจเอกพัฒน์พงษ์จึงขอหมายค้นจากศาลชั้นต้นแล้วนำพนักงานตำรวจไปตรวจค้นบ้านดังกล่าวจากการตรวจค้นตู้เสื้อผ้าซึ่งมีเสื้อผ้าของจำเลยทั้งสองอยู่ด้วยกันในห้องนอนและพบเมทแอมเฟตามีนอีก 9,000 เม็ด อยู่ในลิ้นชักของตู้เสื้อผ้าของจำเลยทั้งสองและเงินสด 50,000 บาท จำเลยทั้งสองรับว่า เมทแอมเฟตามีนของกลางดังกล่าวมีไว้เพื่อจำหน่าย ร้อยตำรวจเอกพัฒน์พงษ์และจ่าสิบตำรวจสุรเดชกับเจ้าพนักงานตำรวจที่ไปตรวจค้นจึงร่วมกันจับกุมจำเลยทั้งสอง เห็นว่า ร้อยตำรวจเอกพัฒน์พงษ์และจ่าสิบตำรวจสุรเดชเป็นเจ้าพนักงานเบิกความได้อย่างสอดคล้องต้องกันตามที่ได้รู้เห็นมาจากการปฏิบัติหน้าที่ คำเบิกความจึงมีน้ำหนักรับฟังได้ จากคำเบิกความของร้อยตำรวจเอกพัฒน์พงษ์และจ่าสิบตำรวจสุรเดชแสดงว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนของกลาง 11,000 เม็ด ตามฟ้องไว้ในครอบครอง และเมื่อคำนวณน้ำหนักของเมทแอมเฟตามีนของกลางเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 233.633 กรัม ซึ่งเกินกว่า 20 กรัม กรณีจึงเข้าข้อสันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2520 มาตรา 15 วรรคสอง นอกจากจะมีพยานบุคคลดังกล่าวแล้ว โจทก์ยังมีคำรับสารภาพของจำเลยทั้งสอง ในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน ซึ่งไม่ส่อพฤติการณ์พิรุธให้เห็นว่า จำเลยทั้งสองถูกเจ้าพนักงานตำรวจหลอกลวงให้รับสารภาพโดยเฉพาะในชั้นสอบสวน พันตำรวจโทสถาพร บุนนาค พนักงานสอบสวนได้เบิกความยืนยันการรับสารภาพและได้มีการแจ้งสิทธิตามกฎหมายของผู้ต้องหาให้จำเลยทั้งสองทราบก่อนลงมือสอบปากคำจำเลยทั้งสองอันเป็นการสอบสวนโดยชอบแล้ว ส่วนในชั้นจับกุม ขณะนั้นยังไม่มีกฎหมายบังคับให้เจ้าพนักงานตำรวจต้องแจ้งสิทธิก่อนทำการจับกุม ดังนั้นเจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมจึงหาจำต้องแจ้งสิทธิดังกล่าวไม่ พยานหลักฐานของโจทก์มั่นคงรับฟังได้โดยปราศจากสงสัยว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดตามฟ้อง พยานหลักฐานของจำเลยทั้งสองไม่อาจรับฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ ที่จำเลยที่ 1 นำสืบว่า ในวันเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ไปเยี่ยมจำเลยที่ 2 แล้วจำเลยที่ 2 ขอร้องให้จำเลยที่ 1 ไปส่งของให้เพื่อนที่บริเวณหน้าโรงแรมที่เกิดเหตุโดยจำเลยที่ 1 เข้าใจว่าสิ่งของดังกล่าวเป็นแผ่นซี.ดี.ลามก และที่จำเลยที่ 2 นำสืบต่อสู้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นนายหน้าขายบริการทางเพศให้แก่จำเลยที่ 1 ในวันเกิดเหตุจำเลยที่ 1 มาพักอาศัยอยู่กับจำเลยที่ 2 ในบ้านที่เกิดเหตุและในเวลาประมาณ 10 นาฬิกา จำเลยที่ 2 ตื่นนอนขึ้นมาก็ไม่พบจำเลยที่ 1 และในขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 พาเจ้าพนักงานตำรวจมาตรวจค้นพบเมทแอมเฟตามีนของกลางในบ้านที่เกิดเหตุ จำเลยที่ 2 ไม่ทราบว่าเมทแอมเฟตามีนของกลางเป็นของผู้ใด อันเป็นการนำสืบโดยกล่าวอ้างลอย ๆ ในทำนองว่าจำเลยทั้งสองไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้องนั้น จำเลยทั้งสองมิได้ซักค้านพยานผู้จับกุมไว้ ข้อต่อสู้ของจำเลยทั้งสองจึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง ส่วนที่จำเลยที่ 1 ฎีกาขอให้ลดมาตราส่วนโทษเพราะขณะกระทำผิดจำเลยที่ 1 อายุ 18 ปีเศษ เป็นผู้เยาว์นั้น พิเคราะห์ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีแล้วไม่สมควรลดมาตราส่วนโทษให้จำเลยที่ 1 และที่จำเลยที่ 1 ขอให้ลงโทษสถานเบานั้น การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15, 66 วรรคสอง (เดิม) ซึ่งมีโทษจำคุกตลอดชีวิตเป็นโทษขั้นต่ำสุด ดังนั้น ที่ศาลล่างทั้งสองวางโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ตลอดชีวิตแล้วลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบด้วยมาตรา 53 หนึ่งในสามนั้น เหมาะสมตามพฤติการณ์แห่งรูปคดีแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขเป็นอย่างอื่น
อนึ่ง ทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่าโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางจำเลยทั้งสองได้นำมาใช้สำหรับติดต่อซื้อขายยาเสพติดให้โทษในคดีนี้อย่างไร โทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางจึงไม่ใช่เครื่องมือเครื่องใช้ หรือวัตถุอื่น ซึ่งได้ใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 102 และไม่ใช่ทรัพย์สินที่กฎหมายบัญญัติว่า ผู้ใดทำหรือมีไว้เป็นความผิดหรือได้มาโดยกระทำความผิด ซึ่งหมายถึงเฉพาะความผิดที่กระทำในคดีนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33 (2) จึงยังไม่อาจริบได้ตามขอ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่คู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาเห็นควรหยิบยกว่ากล่าวและสั่งคืนแก่เจ้าของ
นอกจากนี้แม้ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาจะได้มีพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 มาตรา 8 และมาตรา 19 ยกเลิกความในมาตรา 15 และมาตรา 66 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 และให้ใช้ข้อความใหม่แทน แต่กฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลยทั้งสองจึงต้องใช้กฎหมายเดิมซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลยทั้งสอง”
พิพากษายืน ให้คืนโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางแก่เจ้าของ

Share