แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง บัญญัติว่า “ให้จำเลยแสดงโดยชัดแจ้งในคำให้การว่าจำเลยยอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วนรวมทั้งเหตุการนั้น” ซึ่งหมายความว่า จำเลยจะต้องแสดงโดยชัดแจ้งว่าจำเลยยอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วน และต้องแสดงโดยชัดแจ้งถึงเหตุแห่งการปฏิเสธนั้นด้วย เมื่อจำเลยปฏิเสธฟ้องโจทก์ว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ 2 ปี จำเลยต้องแสดงโดยชัดแจ้งด้วยว่าอายุความ 2 ปี นับแต่วันใดและโจทก์ฟ้องเมื่อพ้นกำหนดอายุความนั้นแล้ว การที่จำเลยให้การต่อสู้คดีว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ เนื่องจากโจทก์ฟ้องจำเลยเมื่อพ้นกำหนด 2 ปี นับแต่วันเกิดวินาศภัย โดยมิได้ระบุว่าวันเกิดเหตุวินาศภัยซึ่งเป็นวันเริ่มต้นนับอายุความเป็นวันที่เท่าใด จึงไม่แจ้งชัดว่าอายุความเริ่มนับเมื่อวันที่เท่าใดและโจทก์ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดอายุความแล้วจริงหรือไม่ จะอนุมานเอาจากคำให้การที่ไม่ชัดแจ้งนั้นว่าความเสียหายเกิดวันเดือนปีใดไม่ได้ และจะถือว่าคู่ความอีกฝ่ายรู้แล้วก็ไม่ได้ ทั้งมิใช่ข้อเท็จจริงที่เป็นเพียงรายละเอียดที่คู่ความสามารถนำสืบในชั้นพิจารณาได้ แต่เป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยจะต้องแสดงโดยชัดแจ้งในคำให้การ มิฉะนั้นจะเป็นคำให้การที่ไม่ชอบและไม่เป็นประเด็นข้อพิพาทว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ข้อที่ว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่นี้จึงเป็นข้อที่มิได้ว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น แม้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์จะวินิจฉัยในประเด็นนี้ให้ ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ฎีกาของจำเลยข้อนี้จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 2,294,045 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 1,730,870 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า “…ที่จำเลยฎีกาว่าฟ้องโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับค่าเสียหายของนางอาภาเคลือบคลุม โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่าโจทก์ได้ชำระหรือชดใช้ให้นางอาภาไปแล้วเป็นเงินเท่าใด และในคดีที่นางอาภาฟ้องโจทก์มีผู้รับเหมาเป็นจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดร่วมกับโจทก์ด้วย เพราะเหตุใดโจทก์จึงเรียกร้องเอากับจำเลยเต็มจำนวน 1,000,000 บาท เห็นว่า โจทก์ได้บรรยายฟ้องว่า นางอาภาตรวจพบว่าบ้านของตนเสียหายเป็นเงิน 1,200,000 บาท นางอาภาได้ฟ้องโจทก์กับผู้รับเหมาเป็นจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และศาลแพ่งพิพากษาให้โจทก์กับผู้รับเหมาร่วมกันรับผิดชำระค่าเสียหายจำนวน 1,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 เมษายน 2539 จนกว่าจะชำระเสร็จและยังได้บรรยายว่าให้รับผิดในค่าเสียหายนอกจากนี้ รวมทั้งค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความด้วย ฟ้องของโจทก์จึงระบุค่าเสียหายจำนวนแน่นอนตามคำพิพากษาศาลแพ่ง ซึ่งโจทก์มีความผูกพันที่จะต้องชำระตามคำพิพากษาดังกล่าวเต็มจำนวน ไม่จำเป็นต้องบรรยายว่าเพราะเหตุใดจำเลยจึงต้องรับผิดเต็มจำนวนตามคำพิพากษานั้น เนื่องจากโจทก์กับผู้รับเหมาต้องร่วมกันรับผิดในผลแห่งละเมิดที่ทำให้บ้านของนางอาภาเสียหาย ตามกฎหมายนางอาภาซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาย่อมมีสิทธิเรียกร้องหรือบังคับคดีให้โจทก์หรือผู้รับเหมาที่เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือจำเลยร่วมหรือลูกหนี้ร่วมคนใดคนหนึ่งให้ร่วมกันรับผิดต่อนางอาภาเต็มจำนวนได้ เมื่อโจทก์ซึ่งต้องผูกพันชำระค่าเสียหายให้นางอาภาตามคำพิพากษาศาลแพ่งดังกล่าว แม้โจทก์จะยังไม่ได้ชำระค่าเสียหายให้แก่นางอาภา ก็มีสิทธิเรียกร้องเงินจำนวนตามคำพิพากษาดังกล่าวโจทก์จึงไม่ต้องบรรยายฟ้องว่าได้ชำระค่าเสียหายให้แก่นางอาภาแล้ว ฟ้องโจทก์ได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นตามที่บัญญัติไว้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง ฟ้องโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับค่าเสียหายของนางอาภาจึงไม่เคลือบคลุม ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยฎีกาต่อไปว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ แม้จำเลยจะไม่ได้ระบุวันเวลาที่เกิดเหตุวินาศภัยไว้ตามคำให้การข้อ 4 แต่ก็พออนุมานได้ว่าเกิดความเสียหายในวันเดือนและปีใดซึ่งคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งย่อมทราบดีอยู่แล้ว ส่วนรายละเอียดย่อมนำสืบได้ในชั้นพิจารณาและไม่ทำให้โจทก์เสียเปรียบนั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง บัญญัติว่า ให้จำเลยแสดงโดยชัดแจ้งในคำให้การว่าจำเลยยอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วน รวมทั้งเหตุแห่งการนั้น ซึ่งหมายความว่า จำเลยจะต้องแสดงโดยชัดแจ้งว่าจำเลยยอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วน และต้องแสดงโดยชัดแจ้งถึงเหตุแห่งการปฏิเสธนั้นด้วย เมื่อจำเลยปฏิเสธฟ้องโจทก์ว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ 2 ปี จำเลยต้องแสดงโดยชัดแจ้งด้วยว่าอายุความ 2 ปี นับแต่วันใดและโจทก์ฟ้องเมื่อพ้นกำหนดอายุความนั้นแล้ว การที่จำเลยให้การต่อสู้คดีว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ เนื่องจากโจทก์ฟ้องจำเลยเมื่อพ้นกำหนด 2 ปี นับแต่วันเกิดวินาศภัย โดยมิได้ระบุว่าวันเกิดเหตุวินาศภัยซึ่งเป็นวันเริ่มต้นนับอายุความเป็นวันที่เท่าใด จึงไม่แจ้งชัดว่าอายุความเริ่มนับเมื่อวันที่เท่าใดและโจทก์ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดอายุความแล้วจริงหรือไม่ จะอนุมานเอาจากคำให้การที่ไม่ชัดแจ้งนั้นว่าความเสียหายเกิดวันเดือนปีใดไม่ได้ และจะถือว่าคู่ความอีกฝ่ายรู้แล้วก็ไม่ได้ ทั้งมิใช่ข้อเท็จจริงที่เป็นเพียงรายละเอียดที่คู่ความสามารถนำสืบในชั้นพิจารณาได้ แต่เป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยจะต้องแสดงโดยชัดแจ้งในคำให้การ มิฉะนั้นจะเป็นคำให้การที่ไม่ชอบและไม่เป็นประเด็นข้อพิพาทว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ข้อที่ว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่นี้จึงเป็นข้อที่มิได้ว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น แม้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์จะวินิจฉัยในประเด็นนี้ให้ ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ฎีกาของจำเลยข้อนี้จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
ที่จำเลยฎีกาต่อไปอีกว่า ความเสียหายของบ้านพิพาททั้งสองหลังตามฟ้องไม่อยู่ภายใต้ความคุ้มครองของสัญญาประกันภัย โดยจำเลยได้ให้การว่ากรมธรรม์ประกันภัยให้ความคุ้มครองเฉพาะกรณีที่ความเสียหายเกิดขึ้นจากการพังทลายของอาคารบ้านเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างของบุคคลภายนอกที่ได้รับความเสียหายทั้งหมดหรือแต่บางส่วนเท่านั้น ทั้งยังได้กล่าวถึงสภาพรอยแตกร้าวว่าไม่ใช่กรณีเกิดการพังทลายของอาคารบ้านเรือนดังกล่าว จึงไม่ตกอยู่ในความคุ้มครองตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัย คำให้การของจำเลยจึงเป็นคำให้การที่ปฏิเสธความรับผิดในกรณีที่เกิดรอยแตกร้าวของบ้านพิพาททั้งสามหลังแล้ว เห็นว่า ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า กรมธรรม์ประกันภัยนอกจากคุ้มครองในกรณีการพังทลายทั้งหมดหรือบางส่วนแล้วยังคุ้มครองถึงรอยแตกร้าวอันก่อให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของสิ่งปลูกสร้างหรือความปลอดภัยของผู้ใช้อาคารอีกด้วย และฟังข้อเท็จจริงว่าความเสียหายและรอยแตกร้าวของบ้านทั้งสามหลังตามฟ้องก่อให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของสิ่งปลูกสร้างหรือความปลอดภัยของผู้ใช้อาคารอยู่ภายใต้ความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัย โดยวินิจฉัยจากพยานหลักฐานของโจทก์ประกอบกับที่จำเลยมิได้ให้การต่อสู้ว่ารอยแตกร้าวของบ้านทั้งสามหลังมิได้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของสิ่งปลูกสร้างหรือความปลอดภัยของผู้ใช้อาคาร เพื่อให้เห็นว่าพยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานจำเลย เมื่อจำเลยฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แต่เพียงว่าคำให้การของจำเลยเป็นการปฏิเสธว่ารอยแตกร้าวไม่อยู่ในความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัยเท่านั้น โดยมิได้โต้แย้งว่าพยานหลักฐานโจทก์ที่ศาลอุทธรณ์หยิบยกขึ้นมาวินิจฉัยนั้นไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อควรแก่การรับฟังอย่างไร ทั้งที่คำให้การของจำเลยที่ให้การว่ารอยแตกร้าวของบ้านทั้งสามหลังไม่อยู่ในความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัยเพราะไม่ใช่กรณีพังทลายทั้งหมดหรือบางส่วน มิได้หมายความว่ารอยแตกร้าวนั้นมิได้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของสิ่งปลูกสร้างหรือความปลอดภัยของผู้ใช้อาคารตามที่จำเลยฎีกา พยานหลักฐานโจทก์จึงมีน้ำหนักน่าเชื่อกว่าพยานหลักฐานจำเลย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่ารอยแตกร้าวและความเสียหายของบ้านทั้งสามหลังตามฟ้องอยู่ภายใต้ความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยฎีกาเป็นข้อสุดท้ายว่า จำเลยหลุดพ้นจากความรับผิดเพราะโจทก์ได้เจรจาตกลงใช้ค่าเสียหายโดยมิได้แจ้งให้จำเลยทราบและไม่แจ้งให้จำเลยทราบเมื่อถูกนางอาภาฟ้อง เงื่อนไขที่ต้องแจ้งให้จำเลยทราบนั้นเป็นเงื่อนไขที่อยู่ภายใต้กำกับดูแลของกรมการประกันภัย มีผลผูกพันให้รับผิดตามเงื่อนไขอย่างเคร่งครัดเมื่อโจทก์ถูกนางอาภาฟ้อง โจทก์ไม่แจ้งและเรียกจำเลยเข้าไปในคดี ทำให้จำเลยเสียโอกาสต่อสู้คดี การที่โจทก์เคยเรียกร้องให้จำเลยรับผิดชอบในความเสียหายมาก่อนนั้น จำเลยได้ปฏิเสธความรับผิดโดยชอบ มิได้ปัดความรับผิดชอบ ซึ่งเป็นคนละกรณีกับการที่โจทก์ถูกฟ้องแล้วไม่แจ้งให้จำเลยทราบนั้น เห็นว่า กรมธรรม์ประกันภัยที่มีเงื่อนไขว่า หากผู้เอาประกันภัยถูกฟ้องหรือถูกเรียกร้องความเสียหายผู้เอาประกันภัยต้องแจ้งให้จำเลยในฐานะผู้รับประกันภัยทราบนั้น มีความมุ่งหมายที่จะให้ผู้รับประกันภัยเข้ามาตรวจสอบความเสียหายว่าอยู่ภายใต้ความคุ้มครองกรมธรรม์ประกันภัยหรือไม่เพียงใด มิใช่เงื่อนไขยกเว้นให้หลุดพ้นความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยไปโดยเด็ดขาดสิ้นเชิง หากผู้เอาประกันภัยเจรจาตกลงและชดใช้ค่าเสียหายให้แก่บุคคลภายนอก ก็มีผลแต่เพียงว่าผู้รับประกันภัยไม่ผูกพันตามข้อตกลงนั้นด้วย โดยผู้รับประกันภัยสามารถพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายนั้นมิได้อยู่ภายใต้ความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัยและมิใช่จำนวนค่าเสียหายตามที่ตกลงชดใช้กันนั้น สำหรับกรณีที่ผู้เอาประกันภัยถูกบุคคลภายนอกฟ้องแล้วไม่แจ้งหรือเรียกให้ผู้รับประกันภัยเข้ามาในคดีนั้น ก็มีผลแต่เพียงว่าผู้เอาประกันไม่ผูกพันตามคำพิพากษาในคดีนั้นและไม่ต้องรับผิดชอบในความเสียหายอื่นใดที่เกิดจากการถูกฟ้องคดีรวมทั้งค่าฤชาธรรมเนียมในคดีนั้นด้วย คงรับผิดชอบเฉพาะความเสียหายที่อยู่ภายใต้ความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัยเท่านั้น ซึ่งผู้รับประกันภัยสามารถต่อสู้คดีและพิสูจน์ความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยได้เต็มที่ในคดีที่ตนถูกฟ้อง มิได้ทำให้ผู้รับประกันเสียหายหรือเสียเปรียบแต่อย่างใด ดังนั้น การที่โจทก์เคยแจ้งให้จำเลยทราบถึงความเสียหายของบ้านทั้งสามหลังตามฟ้องในครั้งแรกแต่จำเลยมีหนังสือปฏิเสธความรับผิด แล้วโจทก์ไม่ได้แจ้งให้จำเลยทราบซ้ำอีก ทั้งได้ตกลงชำระค่าเสียหายให้แก่พลโทปุ่นและนางชัดฉวีกับการที่โจทก์ถูกนางอาภาฟ้องเป็นคดีแล้วไม่แจ้งและไม่ได้เรียกให้จำเลยเข้ามาในคดีด้วยนั้น จึงไม่มีผลให้จำเลยหลุดพ้นความรับผิดตามสัญญาประกันภัย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน
ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยต้องรับผิดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความที่โจทก์ต้องรับผิดในคดีที่โจทก์ถูกนางอาภาฟ้อง เพราะเป็นค่าเสียหายโดยตรงในคดีที่เป็นผลมาจากจำเลยผิดสัญญาประกันภัย ทำให้โจทก์ต้องต่อสู้คดีกับนางอาภาเองโดยลำพังและตามกรมธรรม์ประกันภัยผู้รับประกันภัยต้องชดเชยให้ผู้เอาประกันภัยสำหรับบรรดาค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในคดีความ ซึ่งผู้เรียกร้องได้รับไปจากผู้เอาประกันภัยและบรรดาค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายซึ่งเสียไปโดยได้รับความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรจากผู้รับประกันภัย เห็นว่า ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความที่โจทก์ต้องรับผิดต่อนางอาภาในคดีที่โจทก์ถูกฟ้องมิใช่ค่าเสียหายโดยตรงที่จำเลยผิดสัญญาประกันภัยและไม่ใช่ความเสียหายโดยตรงที่เอาประกันภัย ทั้งมิใช่ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายที่จำเลยจะชดเชยให้ตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยซึ่งจำเลยจะชดเชยให้ ก็ต่อเมื่อโจทก์ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขในสัญญาเกี่ยวกับการแจ้งหรือเรียกให้จำเลยเข้ามาในคดี หรือจำเลยยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษร เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าโจทก์มิได้แจ้งหรือเรียกจำเลยเข้ามาในคดีเมื่อถูกนางอาภาฟ้อง อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในเรื่องดังกล่าว ทั้งจำเลยก็มิได้ให้ความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษร จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความที่โจทก์ต้องรับผิดต่อนางอาภาในคดีที่ถูกนางอาภาฟ้องตามที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดในคดีนี้ ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ที่โจทก์ฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่วินิจฉัยว่าศาลชั้นต้นกำหนดดอกเบี้ยให้จำเลยรับผิดชอบนับแต่วันฟ้องชอบแล้ว เพราะคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ขอดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้อง โดยอ้างมาในฎีกาว่าโจทก์เรียกร้องให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ตามสิทธิที่โจทก์จะได้รับ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยนับแต่วันที่โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายแก่นางอาภา ก็ชอบที่จะให้จำเลยชดใช้นั้น เห็นว่า ในการทำคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดี ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 วรรคหนึ่ง ห้ามมิให้พิพากษาหรือทำคำสั่งให้สิ่งใด ๆ เกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง เมื่อโจทก์มีคำขอท้ายฟ้องขอดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จเท่านั้น มิได้ขอดอกเบี้ยนับแต่วันที่โจทก์ใช้ค่าเสียหายแก่นางอาภาด้วย จึงเกินคำขอและนอกฟ้อง ต้องห้ามตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์และจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ