คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 833/2508

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

รูป รอยประดิษฐ์ของโจทก์จำเลยเป็นอย่างไรเป็นที่รับกันข้อเท็จจริงอื่นก็ไม่โต้เถียงกัน คงมีปัญหาเพียงว่าจะถือได้หรือไม่ว่าจำเลยได้เอารูปรอยประดิษฐ์กล่องบรรจุยาของโจทก์มาใช้กับสินค้าของจำเลยเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าของโจทก์เป็นปัญหาข้อกฎหมาย (เทียบฎีกาที่1691/2493 เรื่องเลียนเครื่องหมายการค้า)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นบริษัทจำกัดจดทะเบียนนิติบุคคลในประเทศอเมริกา มีอาชีพปรุงและผลิตยาและวัตถุเคมีจำหน่ายเป็นเจ้าของยาฉีดสำหรับโรคทางปอดชื่อ ไดไฮโดรสเตรบโตมัยซิน ซัลเฟตยานี้ได้จำหน่ายในประเทศอเมริกา ได้ส่งมาจำหน่ายในประเทศไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2492 โดยบริษัทบีแอลฮั้ว จำกัด เป็นผู้แทนจำหน่ายเมื่อ พ.ศ. 2502 โจทก์ได้มอบให้บริษัทเมอร์คชาร์ฟ แอนด์โดม(ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้บรรจุหีบห่อยาในหีบห่อกระดาษ และนำออกจำหน่ายประเทศไทยจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ได้ร่วมกันทำหีบห่อกระดาษเหมือนของโจทก์ กล่าวคือใช้หีบห่อกระดาษสีเขียวทาบสีขาว ใช้ชื่อเหมือนของโจทก์กับประดิษฐ์รูปลักษณะ วางระยะอักษรและรอยประดิษฐ์ทั่วไป กับขนาดหีบห่อเหมือนของโจทก์ กับเลขที่ 24267 ข้างบนหีบห่อคล้ายของโจทก์มากทำให้ประชาชนหลงเข้าใจผิดว่าเป็นยาของโจทก์ เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อซึ่งจำเลยได้ทำขึ้นและจำหน่ายที่ร้านของจำเลย กับได้แจกจ่ายจำหน่ายตามร้านขายยาในที่อื่น ๆ ทั้งในพระนครและต่างจังหวัด อันเป็นการทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 272

จำเลยให้การปฏิเสธว่าไม่ได้ทำผิด

ศาลแขวงพระนครใต้พิจารณาแล้วฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยได้ผลิตยาไดไฮโดรสเตรบโตมัยซินซัลเฟต โดยบรรจุขวดยาไว้ในกล่องออกจำหน่ายตามกล่องยาของจำเลยที่โจทก์อ้างส่งศาลนั้นจริง วินิจฉัยว่าเมื่อได้ตรวจพิเคราะห์แล้วเห็นว่า รูปรอยประดิษฐ์ที่กล่องยาของจำเลยมีแตกต่างไม่เหมือนกับของโจทก์หลายประการ จะฟังว่าจำเลยเอารูปรอยประดิษฐ์ของโจทก์ไปใช้ก็ไม่ถนัด จะฟังว่าจำเลยมีเจตนาเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าสินค้าของจำเลยเป็นสินค้าของโจทก์หาได้ไม่พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ว่า สำหรับข้อเท็จจริงได้ความตามสำนวนตรงกันแล้วคือยาของโจทก์ผลิตออกจำหน่ายก่อนจำเลยผลิตขึ้นภายหลัง ปรากฏรูปรอยประดิษฐ์ที่หีบห่อหรือกล่องยาของทั้งโจทก์จำเลยดังที่ส่งศาลและถือได้ว่าจำเลยพยายามทำรูปรอยประดิษฐ์ให้เหมือนของโจทก์เพื่อให้ประชาชนเข้าใจผิดหรือหลงผิดเป็นยาของโจทก์ จำเลยจึงมีความผิดตามฟ้อง

ศาลชั้นต้นเห็นว่า อุทธรณ์ของโจทก์เป็นปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 22 สั่งไม่รับ

โจทก์อุทธรณ์คำสั่ง

ศาลอุทธรณ์เห็นว่าเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ให้ยกคำร้อง

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว ในเรื่องรูปรอยประดิษฐ์ของโจทก์และของจำเลยเป็นอย่างไรเป็นที่รับกันตามที่โจทก์ส่งศาลแล้ว ส่วนข้อเท็จจริงอื่น ๆ ก็ไม่โต้เถียงกัน คงมีปัญหาเพียงว่าตามข้อเท็จจริงดังกล่าวนั้นจะถือได้หรือไม่ว่าจำเลยได้เอารูปรอยประดิษฐ์กล่องบรรจุยาของโจทก์ มาใช้กับสินค้าของจำเลยเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าของโจทก์ ปัญหาดังกล่าวนี้เทียบได้กับเรื่องเลียนเครื่องหมายการค้า ซึ่งศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้เป็นบรรทัดฐานว่า “เมื่อปรากฏว่าคู่ความรับกันในรูปเครื่องหมายแล้วคงเถียงกันว่าเป็นการเลียนหรือไม่ เป็นปัญหาในข้อกฎหมาย”ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 1691/2493 ดังนั้น อุทธรณ์ของโจทก์ในทำนองเดียวกับปัญหาตามฎีกาดังกล่าวจึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมายไม่ต้องห้ามอุทธรณ์

พิพากษากลับคำสั่งศาลอุทธรณ์ให้รับอุทธรณ์โจทก์ดำเนินการตามกระบวนพิจารณาต่อไป

Share