คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8325/2553

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยทั้งสามในฐานะผู้ค้ำประกันต้องร่วมกันรับผิดชำระหนี้ตามสัญญารับสภาพหนี้เพื่อปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่ระบุจำนวนเงินพร้อมอัตราดอกเบี้ยไว้แน่นอน สามารถคำนวณยอดหนี้ถึงวันฟ้องได้ หนี้ตามฟ้องจึงเป็นหนี้ที่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอน ส่วนการที่โจทก์อาจได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของ อ. ในภายหลังนั้น หาเป็นเหตุให้หนี้ตามฟ้องกลับกลายเป็นหนี้ที่ไม่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนไม่
ความปรากฏเพียงว่าในการทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี จำเลยที่ 1 ได้มอบบัญชีเงินฝากสะสมทรัพย์และบัญชีเงินฝากประจำไว้ให้แก่โจทก์เป็นประกันเท่านั้น แต่มิได้มีข้อตกลงเกี่ยวกับการให้สิทธิโจทก์นำเงินฝากดังกล่าวมาหักชำระหนี้ไว้อย่างไร สิทธิเรียกร้องในเงินฝากจึงยังเป็นของจำเลยที่ 1 ดังนั้นแม้โจทก์มิได้นำเงินฝากในบัญชีที่วางประกันไว้มาหักจากยอดหนี้ดังที่จำเลยทั้งสามอ้าง กรณีก็ต้องถือว่าจำเลยทั้งสามมียอดหนี้ค้างชำระอยู่ตามฟ้อง ซึ่งจำเลยที่ 1 คงมีสิทธิเพียงขอให้โจทก์นำเงินฝากมาหักกลบลบหนี้ได้ ถือไม่ได้ว่าโจทก์มีฐานะเป็นเจ้าหนี้มีประกัน โจทก์จึงไม่ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 10 (2)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสามเด็ดขาด และพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย
จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลล้มละลายกลางพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า หนี้ตามฟ้องเป็นหนี้ที่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนหรือไม่ เห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงจะได้ความว่า ศาลล้มละลายกลางอนุญาตให้โจทก์ได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของนางอังคณาซึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมกับจำเลยทั้งสาม และโจทก์ไม่ได้นำสืบโดยตรงว่าได้รับเงินชำระหนี้ในคดีดังกล่าวและนำมาหักจากยอดหนี้คดีนี้แล้วหรือไม่ก็ตาม แต่การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามสัญญารับสภาพหนี้เพื่อปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้แก่โจทก์เพียงบางส่วนและคำนวณดอกเบี้ยในต้นเงินที่ค้างชำระถึงวันฟ้อง โดยไม่ได้บรรยายฟ้องว่าได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของนางอังคณาและนำมาหักออกจากยอดหนี้ ย่อมแสดงโดยปริยายว่าโจทก์ยังไม่ได้รับชำระหนี้ในคดีดังกล่าว หากจำเลยทั้งสามเห็นว่าโจทก์ได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของนางอังคณาซึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมแล้วเพียงใด จำเลยทั้งสามก็ชอบที่เป็นฝ่ายกล่าวอ้างขึ้น แต่จำเลยทั้งสามมิได้ให้การในข้อนี้แต่อย่างใด ทั้งมิได้นำพยานหลักฐานมาสืบเพื่อหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบว่าจำเลยทั้งสามเป็นหนี้โจทก์ตามฟ้อง ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า โจทก์ยังไม่ได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของนางอังคณา โดยจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันต้องร่วมกันรับผิดชำระหนี้ตามสัญญารับสภาพหนี้เพื่อปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่ระบุจำนวนเงินพร้อมอัตราดอกเบี้ยไว้แน่นอน สามารถคำนวณยอดหนี้ถึงวันฟ้องได้ตามฟ้อง หนี้ตามฟ้องจึงเป็นหนี้ที่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอน ส่วนการที่โจทก์อาจได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของนางอังคณาในภายหลังนั้น หาเป็นเหตุให้หนี้ตามฟ้องกลับกลายเป็นหนี้ที่ไม่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนไม่ ที่ศาลล้มละลายกลางวินิจฉัยว่าหนี้ตามฟ้องไม่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนและพิพากษายกฟ้องโจทก์ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้น
ปัญหาต่อไปว่า ในการฟ้องคดีโจทก์จะต้องนำเงินฝากที่มอบไว้แก่โจทก์ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีมาหักจากยอดหนี้ตามฟ้องหรือไม่ ซึ่งศาลล้มละลายกลางยังมิได้วินิจฉัยประเด็นดังกล่าว เมื่อศาลล้มละลายกลางได้พิจารณาสืบพยานมาเสร็จสิ้นแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปทีเดียวโดยไม่ย้อนสำนวนไปยังศาลล้มละลายกลาง สำหรับปัญหาประการแรกว่า โจทก์จะต้องนำเงินฝากที่มอบไว้แก่โจทก์มาหักจากยอดหนี้หรือไม่นั้น เห็นว่า การทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีครั้งที่ 3 และที่ 5 จำเลยที่ 1 ได้มอบบัญชีเงินฝากสะสมทรัพย์และบัญชีเงินฝากประจำจำนวนเงินบัญชีละ 1,000,000 บาท ไว้ให้แก่โจทก์เป็นประกันเท่านั้น แต่มิได้มีข้อตกลงเกี่ยวกับการให้สิทธิโจทก์นำเงินฝากดังกล่าวมาหักชำระหนี้ไว้อย่างไร สิทธิเรียกร้องในเงินฝากจึงยังเป็นของจำเลยที่ 1 ดังนั้นแม้โจทก์มิได้นำเงินฝากในบัญชีที่วางประกันไว้มาหักจากยอดหนี้ดังที่จำเลยทั้งสามอ้าง กรณีก็ต้องถือว่าจำเลยทั้งสามมียอดหนี้ค้างชำระอยู่ตามฟ้อง ซึ่งจำเลยที่ 1 คงมีสิทธิเพียงขอให้โจทก์นำเงินฝากมาหักกลบลบหนี้ได้ ถือไม่ได้ว่าโจทก์มีฐานะเป็นเจ้าหนี้มีประกันซึ่งมีสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้ในทางจำนอง จำนำ หรือสิทธิยึดหน่วง หรือมีบุริมสิทธิที่บังคับได้ทำนองเดียวกับผู้รับจำนำ โจทก์จึงไม่จำต้องปฏิบัติตามมาตรา 10 ของพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ในอันที่จะต้องนำเงินในบัญชีเงินฝากที่จำเลยที่ 1 มอบให้ไว้มาหักจากยอดหนี้ก่อน และเมื่อเงินยังขาดอยู่เป็นจำนวนไม่น้อยกว่าที่กฎหมายกำหนด จึงจะฟ้องจำเลยทั้งสามได้ เมื่อหนี้ที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามมีจำนวนไม่น้อยกว่าที่กำหนดตามมาตรา 9 โจทก์จึงฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นคดีล้มละลายได้…
พิพากษากลับ ให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสามเด็ดขาด ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 14 ให้จำเลยทั้งสามใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยหักจากกองทรัพย์สินของจำเลยทั้งสาม เฉพาะค่าทนายความให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนดตามที่เห็นสมควร.

Share