คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7829/2553

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

องค์การบริหารส่วนตำบล บ. จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของรถยนต์คันเกิดเหตุ วันเกิดเหตุ ส. ปลัดของจำเลยที่ 2 ใช้ให้จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์คันดังกล่าวไปส่ง ส. ที่บ้าน จากนั้น ระหว่างทางกลับจำเลยที่ 1 ขับรถโดยประมาททำให้รถยนต์เสียหลักชนเสาไฟฟ้าของโจทก์หักเสียหาย โดยขณะเกิดเหตุ จำเลยที่ 2 มีคำสั่งให้ ส. เป็นผู้มีหน้าที่ควบคุม บำรุงรักษา และรับผิดชอบรถยนต์ของจำเลยที่ 2 แสดงว่าจำเลยที่ 2 อนุญาตให้ ส. ใช้รถยนต์คันเกิดเหตุได้ตลอดเวลา ฉะนั้นวันเกิดเหตุที่ ส. ใช้ให้จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์คันดังกล่าวไปส่งตน แม้จะนอกเวลาราชการและเป็นไปเพื่อความประสงค์ของ ส. เอง แต่ก็ต้องถือว่าจำเลยที่ 1 โดย ส. ได้รับอนุญาตจากจำเลยที่ 2 ให้ทำเช่นนั้นได้ การขับรถยนต์คันเกิดเหตุของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล บ. และตามคำสั่งของ ส. จึงถือว่ากระทำไปในระหว่างปฏิบัติงานตามหน้าที่ของจำเลยที่ 2 แล้ว หาได้เป็นการกระทำนอกอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ไม่ จำเลยที่ 2 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดในผลแห่งละเมิดต่อโจทก์
สิทธิของโจทก์ในการฟ้องจำเลยซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่และหน่วยงานรัฐให้รับผิดทางละเมิดนั้นต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 เมื่อการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์เป็นการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 2 โจทก์จึงต้องห้ามมิให้ฟ้องจำเลยที่ 1 ตามมาตรา 5 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 71,178 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันละเมิดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ จำนวน 71,178 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 28 ตุลาคม 2542 ซึ่งเป็นวันทำละเมิดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องให้ไม่เกิน 5,338 บาท ตามที่โจทก์ขอ กับให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 1,500 บาท ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่านายสุทิน ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลบางเป้าเป็นผู้มีอำนาจใช้รถยนต์ของจำเลยที่ 2 ใช้ให้จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ดังกล่าวไปส่งนายสุทิน การขับรถทั้งขาไปและขากลับจึงอยู่ในหน้าที่ของนิติบุคคลจำเลยที่ 2 กรณีไม่ว่าจะเป็นประการใดจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำต่อโจทก์ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์นั้น เห็นว่า คดีนี้ต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงจึงต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 วินิจฉัยมาว่าจำเลยที่ 2 เป็นเจ้ารถยนต์คันหมายเลขทะเบียน บจ 3359 ตรัง วันเกิดเหตุนายสุทินปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลบางเป้าใช้ให้จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์คันนี้ของจำเลยที่ 2 ไปส่งนายสุทินที่บ้านในอำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง เมื่อจำเลยที่ 1 ขับรถไปส่งนายสุทินเสร็จแล้วได้ขับรถกลับมาที่ตำบลบางเป้า อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง ในระหว่างทางจำเลยที่ 1 ขับรถโดยประมาทเลินเล่อด้วยความเร็วสูงทำให้รถยนต์เสียหลักชนเสาไฟฟ้าของโจทก์ข้างถนนทำให้เสาไฟฟ้าหัก หม้อแปลงตกลงมาที่พื้นได้รับความเสียหายเป็นเงิน 71,178 บาท แต่ข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ฟังมาดังกล่าวข้างต้นนี้ยังไม่พอแก่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาของโจทก์ได้ ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยข้อเท็จจริงเพิ่มเติมโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 9 วินิจฉัยและฟังข้อเท็จจริงตามทางนำสืบของจำเลยที่ 2 ที่โจทก์ไม่โต้แย้งเป็นอย่างอื่นว่าขณะเกิดเหตุผู้มีอำนาจใช้รถยนต์ของจำเลยที่ 2 มีอยู่ 3 คน คือนายวีระ ขณะนั้นเป็นประธานกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบลบางเป้า นายจำลอง ขณะนั้นเป็นประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลบางเป้าและนายสุทินขณะนั้นเป็นปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลบางเป้าและจำเลยที่ 2 ยังมีคำสั่งให้นายสุทินเป็นผู้มีหน้าที่ควบคุม บำรุงรักษาและรับผิดชอบรถยนต์ของจำเลยที่ 2 ด้วย ส่วนจำเลยที่ 1 เป็นสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลบางเป้าแล้ววินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายต่อไปว่าการที่นายสุทินมีอำนาจใช้รถยนต์ของจำเลยที่ 2 และได้รับคำสั่งจากจำเลยที่ 2 ให้มีหน้าที่ควบคุม บำรุงรักษาและรับผิดชอบรถยนต์ของจำเลยที่ 2 ด้วยแสดงว่าจำเลยที่ 2 ได้อนุญาตให้นายสุทินใช้รถยนต์คันเกิดเหตุได้ตลอดเวลา ฉะนั้นวันเกิดเหตุที่นายสุทินใช้ให้จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ดังกล่าวไปส่งตนแล้วนำรถกลับมาแม้จะนอกเวลาราชการและเป็นไปเพื่อความประสงค์ของนายสุทินเองแต่ก็ต้องถือว่าจำเลยที่ 1 โดยนายสุทินได้รับอนุญาตจากจำเลยที่ 2 ให้ทำเช่นนั้นได้ การขับรถยนต์คันเกิดเหตุของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลบางเป้าและตามคำสั่งของนายสุทินจึงถือว่ากระทำไปในระหว่างปฏิบัติงานตามหน้าที่ของจำเลยที่ 2 แล้ว หาได้เป็นการกระทำนอกอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 วินิจฉัยไม่ จำเลยที่ 2 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดในผลแห่งละเมิดต่อโจทก์ อย่างไรก็ดีสิทธิของโจทก์ในการฟ้องจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่และหน่วยงานของรัฐให้รับผิดทางละเมิดนั้นต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 เมื่อการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์เป็นการกระทำในการปฎิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 2 โจทก์จึงต้องห้ามมิให้ฟ้องจำเลยที่ 1 ตามมาตรา 5 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ดังกล่าว เช่นนี้ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินจำนวน 71,178 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 28 ตุลาคม 2542 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ (ดอกเบี้ยคิดถึงวันที่ 30 ตุลาคม 2543 ซึ่งเป็นวันฟ้องไม่เกิน 5,338 บาท) ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์และจำเลยทั้งสองทั้งสามศาลให้เป็นพับ.

Share