คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8322/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

หนังสือมอบอำนาจทำขึ้นในต่างประเทศมีการรับรองโดยเจ้าพนักงานโนตารีปับลิกและเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศ ประเทศสาธารณรัฐฟินแลนด์กับเจ้าหน้าที่กงสุลไทยรับรองอีกชั้นหนึ่งว่ามีการจัดทำเอกสารอย่างแท้จริง กรณีเช่นนี้ไม่อยู่ในบังคับที่ต้องปิดอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากรฯ จึงเป็นหนังสือมอบอำนาจที่รับฟังเป็นพยานหลักฐานโดยชอบด้วยกฎหมาย
สัญญาซื้อขายพิพาทระบุเงื่อนไขชำระราคาใน 365 วันจากวันที่มีการส่งของ และตามใบตราส่ง โจทก์ส่งของให้แก่ผู้ขนส่งวันที่ 18ธันวาคม 2540 ซึ่งตรงกับวันที่โจทก์ออกใบกำกับสินค้าพร้อมแจ้งหนี้ดังนี้ จึงต้องถือว่าจำเลยผิดนัดชำระหนี้แก่โจทก์ซึ่งโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยของหนี้เงินค่าสินค้าในระหว่างผิดนัดได้ตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม2541 เป็นต้นไป มิใช่คิดดอกเบี้ยได้ตั้งแต่วันที่ 18 ธันวาคม 2540

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงิน3,680,197.92 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน3,221,473.50 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยทั้งสองให้การ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 82,475 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 18 ธันวาคม 2540 จนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ หากจำเลยที่ 1 จะชำระหนี้เป็นเงินบาท ให้คิดตามอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยที่ขายให้ลูกค้าในวันที่ใช้เงินจริง ถ้าไม่มีอัตราแลกเปลี่ยนในวันที่ใช้เงินจริง ให้ถือเอาวันสุดท้ายที่มีอัตราเช่นว่านั้นก่อนวันดังกล่าว ในกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศแจ้งให้ทราบถึงอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ (อัตราอ้างอิง) ก็ให้ถืออัตราดังกล่าวเป็นเกณฑ์คำนวณแต่ทั้งนี้จะต้องไม่เกินอัตรา 39.06 บาท ต่อ ดอลลาร์สหรัฐ ตามที่โจทก์ฟ้อง

จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นที่ยุติในเบื้องต้นว่าจำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดในฐานะส่วนตัว และสำนักงานจำเลยที่ 1 ตั้งอยู่เลขที่ 31/7 ถนนเทศบาลสงเคราะห์ แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์จำเลยที่ 1 ดังนี้

ปัญหาข้อแรก โจทก์เป็นนิติบุคคลหรือไม่ โจทก์มีนายธเนศ ทวิภมรกุลวงศ์ผู้รับมอบอำนาจโจทก์เป็นพยานเบิกความประกอบข้อความที่พิมพ์จากระบบทะเบียนการค้าประเทศสาธารณรัฐฟินแลนด์ เอกสารหมาย จ.1 ยืนยันว่าโจทก์เป็นนิติบุคคลและนายทิโม อิโซจาร์วิ แต่ลำพังเป็นผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อผูกพันโจทก์ ส่วนจำเลยที่ 1 มีจำเลยที่ 2 เป็นพยานเบิกความว่า โจทก์มิได้เป็นนิติบุคคล และนายทิโม อิโซจาร์วิ ไม่ได้เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ เห็นว่า นายธเนศเป็นผู้รับมอบอำนาจโจทก์ย่อมต้องรู้ว่าโจทก์เป็นนิติบุคคลหรือไม่ ทั้งข้อความที่ปรากฏในเอกสารหมาย จ.1ก็มีข้อความยืนยันว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดและมีนายทิโมอิโซจาร์วิ ได้รับการแต่งตั้งให้ลงลายมือชื่อผูกพันโจทก์ได้ ส่วนจำเลยที่ 2เป็นบุคคลภายนอก ย่อมทราบสถานะโจทก์สู้นายธเนศไม่ได้ ทั้งคำเบิกความของจำเลยที่ 2 ก็ขัดกับข้อความในเอกสารหมาย จ.1 ซึ่งแม้จะเป็นคำแปลจากภาษาฟินแลนด์ แต่ก็เป็นคำแปลที่เป็นต้นฉบับ มีลายมือชื่อและตราประทับของผู้แปลรับรองว่าแปลจากภาษาฟินแลนด์ถูกต้อง โดยมีเจ้าหน้าที่ของประเทศสาธารณรัฐฟินแลนด์รับรองความสามารถของผู้แปล และมีเจ้าหน้าที่กงสุลไทยรับรองเจ้าหน้าที่ประเทศสาธารณรัฐฟินแลนด์อีกต่อหนึ่งคำแปลดังกล่าวหาใช่สำเนาเอกสารดังที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ไม่ และการนำสืบว่าโจทก์เป็นนิติบุคคลหรือไม่ ก็ไม่มีกฎหมายใดบังคับให้ต้องนำสืบด้วยเอกสารที่ออกโดยทางราชการเท่านั้น โจทก์จึงสามารถนำสืบด้วยพยานบุคคลประกอบคำแปลตามเอกสารหมาย จ.1 ได้ และพยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักน่ารับฟังมากกว่าพยานหลักฐานจำเลยที่ 1 อุทธรณ์จำเลยที่ 1ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาข้อที่สอง โจทก์มอบอำนาจให้ฟ้องคดีโดยชอบหรือไม่ โจทก์มีนายธเนศ ทวิภมรกุลวงศ์ ผู้รับมอบอำนาจโจทก์เป็นพยานเบิกความประกอบหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.2 ว่า โจทก์มอบอำนาจให้นายธเนศฟ้องคดีแทน เห็นว่า เมื่อ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่านายทิโม อิโซจาร์วิมีอำนาจลงลายมือชื่อโดยลำพังผูกพันโจทก์และตามเอกสารหมาย จ.2ก็ระบุข้อความว่า โจทก์มอบอำนาจให้นายธเนศฟ้องคดีแทนโดยมีนายทิโม อิโซจาร์วิ ลงลายมือชื่อ มีเจ้าพนักงานโนตารีปับลิกรับรองลายมือชื่อของนายทิโม อิโซจาร์วิ และมีเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐฟินแลนด์รับรองลายมือชื่อและตราของโนตารีปับลิก กับมีเจ้าหน้าที่กงสุลไทยรับรองลายมือชื่อของเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศประเทศสาธารณรัฐฟินแลนด์อีกต่อหนึ่ง พยานหลักฐานโจทก์จึงมีน้ำหนักรับฟังได้ ส่วนที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่า หนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.2ไม่ได้ปิดอากรแสตมป์ จึงไม่สมบูรณ์นั้น เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยที่ 1 มิได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การจำเลยที่ 1 ก็ยกขึ้นอุทธรณ์ได้ ซึ่งในปัญหาข้อนี้เห็นว่า หนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.2 ทำขึ้นในต่างประเทศมีการรับรองโดยเจ้าพนักงานโนตารีปับลิกและเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศ ประเทศสาธารณรัฐฟินแลนด์กับเจ้าหน้าที่กงสุลไทยรับรองอีกชั้นหนึ่งว่ามีการจัดทำเอกสารดังกล่าวอย่างแท้จริง กรณีเช่นนี้ไม่อยู่ในบังคับที่ต้องปิดอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากร จึงเป็นหนังสือมอบอำนาจที่รับฟังเป็นพยานหลักฐานได้โดยชอบด้วยกฎหมาย อุทธรณ์จำเลยที่ 1 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาข้อที่สาม จำเลยที่ 1 ซื้อสินค้าจากโจทก์หรือไม่ ในราคาเท่าใดโจทก์มีนายธเนศ ทวิภมรกุลวงศ์ ผู้รับมอบอำนาจโจทก์เป็นพยานเบิกความประกอบสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.4 ภาพถ่ายบ้านตัวอย่างหมาย จ.5ใบตราส่งเอกสารหมาย จ.6 ใบกำกับสินค้า (invoice) ซึ่งใช้ในการส่งของพร้อมเรียกเก็บเงินเอกสารหมาย จ.7 ว่า จำเลยที่ 1 สั่งซื้อบ้านสำเร็จรูปจากโจทก์ โดยตามสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.4 ระบุว่าผู้ซื้อคือมวกเหล็กวาลเลย์ แอนด์ คันทรี คลับ ซึ่งมีที่อยู่ที่เดียวกับสำนักงานจำเลยที่ 1 และระบุชื่อผู้ลงลายมือชื่อในนามผู้ซื้อคือจำเลยที่ 2 ในฐานะกรรมการ ส่วนใบกำกับสินค้าเอกสารหมาย จ.7 ก็ระบุผู้รับตราส่งคือมวกเหล็ก วาลเลย์ แอนด์คันทรีคลับ มีที่อยู่ตรงกับสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.4 ดังกล่าว ข้างต้นและตามเอกสารหมาย จ.6 (32 แผ่น) ประกอบด้วยใบตราส่งซึ่งระบุให้ส่งสินค้าไปที่กรุงเทพมหานคร โดยระบุชื่อและที่อยู่ของมวกเหล็ก วาลเลย์แอนด์ คันทรี คลับ ดังกล่าวเช่นกัน เห็นว่า คำเบิกความของนายธเนศสอดคล้องกับข้อความที่ปรากฏในเอกสารหมาย จ.4, จ.6 และ จ.7ซึ่งใบตราส่งในเอกสารหมาย จ.6 เป็นเอกสารที่จัดทำโดยบริษัทเรือที่รับขนส่งสินค้า ซึ่งไม่มีส่วนได้เสียกับฝ่ายใด พยานหลักฐานของโจทก์ดังกล่าวจึงมีน้ำหนักที่แสดงถึงข้อเท็จจริงว่าโจทก์ได้ขายบ้านสำเร็จรูปและจัดการให้ผู้ขนส่งดำเนินการขนส่งสินค้าไปให้แก่ผู้ซื้อที่สำนักงานของจำเลยที่ 1ซึ่งมีที่อยู่ตามข้อเท็จจริงที่รับฟังได้ยุติในเบื้องต้นดังกล่าวแล้ว ทั้งจำเลยที่ 2ในฐานะกรรมการผู้จัดการจำเลยที่ 1 ก็เบิกความรับว่า ได้เคยติดต่อซื้อขายบ้านสำเร็จรูปตามภาพถ่ายเอกสารหมาย จ.5 จากโจทก์มา 3 ถึง 4 ปี แล้วและนำบ้านสำเร็จรูปที่ซื้อจากโจทก์ไปปลูกในที่ดินโครงการมวกเหล็กวาลเลย์ แอนด์ คันทรี คลับ ทั้งขายให้ผู้ซื้อบ้านหมดแล้ว ประกอบกับสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.4 ก็ระบุว่าผู้ซื้อคือมวกเหล็ก วาลเลย์ แอนด์ คันทรีคลับ จึงมีเหตุให้เชื่อได้ว่า จำเลยที่ 1 ติดต่อกับโจทก์ในนามของมวกเหล็กวาลเลย์ แอนด์ คันทรี คลับ นอกจากนั้นโจทก์ยังมีนายสุวิทธิ์ เกิดน้อยทนายโจทก์เบิกความว่า เมื่อได้รับมอบหมายจากโจทก์ให้ทวงถามค่าสินค้าจากจำเลยที่ 1 ก็ได้โทรศัพท์ติดต่อกับจำเลยที่ 2 และได้รับคำตอบจากจำเลยที่ 2 ในฐานะกรรมการผู้จัดการจำเลยที่ 1 ว่า กำลังรอเงินกู้จากธนาคารอยู่ซึ่งสอดคล้องกับข้อความตามหนังสือของนายวิฑูรถึงโจทก์ตามเอกสารแผ่นสุดท้ายในชุดเอกสารหมาย จ.6 ที่แจ้งว่ามารดานายวิฑูรกำลังติดต่อหาเงินกู้อยู่โดยจำเลยที่ 2 ก็เบิกความว่านายวิฑูรเป็นบุตรของตน และความข้อนี้จำเลยที่ 1 ก็ไม่ได้นำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่นคดีจึงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ได้ตกลงซื้อและรับสินค้าไปจากโจทก์ครบถ้วนแล้ว แต่ยังค้างชำระค่าสินค้าแก่โจทก์ เมื่อการซื้อขายบ้านสำเร็จรูประหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ซึ่งซื้อขายอย่างสังหาริมทรัพย์โดยมีเอกสารเป็นหนังสือตามสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.4 ทั้งโจทก์ได้ส่งมอบบ้านสำเร็จรูปให้จำเลยที่ 1 แล้ว โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องบังคับตามสัญญาได้ และการลงลายมือชื่อในสัญญาซื้อขายในนามของโจทก์ก็ไม่จำต้องให้กรรมการผู้มีอำนาจของโจทก์เป็นผู้ลงลายมือชื่อเท่านั้น โจทก์มีอำนาจที่จะมอบอำนาจให้ผู้อื่นลงลายมือชื่อแทนได้ในฐานะตัวแทนโจทก์ไม่ใช่ในฐานะผู้แทนโจทก์ อุทธรณ์ในส่วนนี้ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า จำเลยที่ 1 เป็นหนี้ค่าซื้อบ้านสำเร็จรูปต่อโจทก์ด้วยเงินสกุลใด เห็นว่าตามสัญญาซื้อขายที่โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อในสัญญานี้ระบุราคาสินค้าเป็นเงิน 444,000มาร์กฟินแลนด์ (FIM) โดยแบ่งชำระ 2 งวด ไม่ได้ระบุเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐ ฉะนั้น คดีจึงต้องฟังว่าจำเลยที่ 1 ค้างชำระค่าสินค้าให้โจทก์เป็นเงินสกุลมาร์กฟินแลนด์ แต่จำนวนเงินมาร์กฟินแลนด์นี้ต้องเป็นจำนวนที่มีค่าเท่ากับเงินบาทไม่เกิน 3,221,473.50 บาท ตามที่โจทก์ฟ้องซึ่งโจทก์คำนวณเป็นเงินบาทจากเงินดอลลาร์สหรัฐโดยใช้อัตราแลกเปลี่ยนอัตราขายตามเอกสารหมาย จ.8 อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ในส่วนนี้ฟังขึ้น

อนึ่ง ปรากฏว่า ตามคำฟ้องมีสำเนาสัญญาซื้อขายเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 4 อันเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้องของโจทก์มีข้อความระบุเงื่อนไขการชำระราคาใน 365 วัน จากวันที่มีการส่งของ (Shipment date)และตามใบตราส่งในเอกสารหมาย จ.6 โจทก์ส่งของให้แก่ผู้ขนส่งวันที่ 18 ธันวาคม 2540 ซึ่งตรงกับวันที่โจทก์ออกใบกำกับสินค้าพร้อมแจ้งหนี้เอกสารหมาย จ.7 ดังนี้ จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้แก่โจทก์ซึ่งโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยของหนี้เงินค่าสินค้าดังกล่าวในระหว่างผิดนัดได้ตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2541 เป็นต้นไป มิใช่คิดดอกเบี้ยได้ตั้งแต่วันที่ 18 ธันวาคม 2540 ตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง นอกจากนี้ยังปรากฏว่าศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีแต่คำวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2ไม่ต้องรับผิด แต่ไม่ได้พิพากษาถึงจำเลยที่ 2 เป็นการไม่ถูกต้อง สมควรแก้ไขให้ถูกต้อง”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินแก่โจทก์เป็นเงินสกุลมาร์กฟินแลนด์เป็นจำนวนซึ่งคำนวณได้เท่ากับเงินบาท 3,221,473.50บาท โดยใช้อัตราแลกเปลี่ยนตามอัตราขายเงินมาร์กฟินแลนด์ในเอกสารหมาย จ.8 พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 19 ธันวาคม2541 จนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นแก่โจทก์ โดยหากจะชำระเป็นเงินบาท ให้คิดอัตราแลกเปลี่ยนเงินมาร์กฟินแลนด์เป็นเงินบาทตามอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยที่ขายเงินมาร์กฟินแลนด์ให้แก่ลูกค้าในวันที่ใช้เงินจริง ถ้าไม่มีอัตราแลกเปลี่ยนในวันที่ใช้เงินจริง ให้ถือ เอาอัตราแลกเปลี่ยนในวันสุดท้ายที่มีอัตราเช่นว่านั้นก่อนวันใช้เงินจริงและในกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ (อัตราอ้างอิง) ก็ให้ถืออัตราดังกล่าวเป็นเกณฑ์คำนวณ แต่ทั้งนี้เมื่อคำนวณเป็นเงินบาทแล้วจำนวนต้นเงินต้องไม่เกิน3,221,473.50 บาท และจำนวนดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน458,724.42 บาท ตามที่โจทก์ฟ้องให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 2 ในชั้นศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง

Share