คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6171/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยต่อเติมอาคารตึกแถวของจำเลยมีการตอกเสาเข็มโดยใช้เครื่องจักรกลขนาดใหญ่แรงสั่นสะเทือนทำให้เสาอาคารของโจทก์หัก ผนังและพื้นแตกร้าว ก่อนจำเลยได้ก่อสร้างเพิ่มเติมอาคารตึกแถวดังกล่าว จำเลยได้ลงเสาเข็มก่อนทำการก่อสร้างโดยใช้วิธีเจาะเสาเข็มห่างจากแนวรั้วบ้านโจทก์ประมาณ 50 ถึง 100 เซนติเมตร เพื่อรองรับอาคาร ส่วนที่ต่อเติมจำนวนถึง 3 ชั้นซึ่งจะต้องมีการขุดเจาะลงเสาเข็มจำนวนหลายต้น แม้วิธีการขุดเจาะลงเสาเข็มจะเป็นวิธีการที่ดีที่สุดเพียงใดก็ตาม แต่ต้องมีการตอกปลอกเหล็กลงไปในดินก่อนจนถึงดินแข็งซึ่งมีความลึกพอสมควรต่อจากนั้นจึงจะมีการปั๊มลมเพื่อนำดินออกจากปลอกเหล็กแล้ว จึงตอกอัดเสาเข็มลงไป จึงย่อมจะต้องมีแรงสั่นสะเทือน กระทบต่อบริเวณพื้นที่ใกล้เคียงอยู่บ้างไม่มากก็น้อย มิใช่ว่าวิธีการของจำเลยเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะทำให้ ไม่มีแรงสั่นสะเทือนเกิดขึ้นเลย ดังนี้ เมื่อความเสียหาย ของอาคารตึกแถวโจทก์เกิดจากการกระทำของจำเลย จำเลยจึงต้องรับผิดในความเสียหายดังกล่าวต่อโจทก์ แม้ทางนำสืบของโจทก์จะฟังไม่ได้ว่าโจทก์เสียหายตามจำนวนที่ขอมาในฟ้องเป็นค่าเสียหายที่แท้จริงก็ตาม แต่เมื่อเห็นได้ว่าความเสียหายของโจทก์ยังคงมีอยู่ศาลย่อมมีอำนาจใช้ดุลพินิจกำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์ได้ตามความเหมาะสมและพฤติการณ์แห่งรูปคดี

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยว่าจ้างช่างก่อสร้างตอกเสาเข็มลงในที่ดินของจำเลยเพื่อก่อสร้างต่อเติมอาคารบ้านซึ่งที่ดินและอาคารของจำเลยอยู่ติดกับที่ดินและอาคารบ้านของโจทก์ดังกล่าวจำเลยเป็นผู้ควบคุมดูแลการก่อสร้างด้วยตนเอง จำเลยและช่างใช้เครื่องจักรขนาดใหญ่ ตอกเสาเข็มลงในบริเวณที่จำเลยก่อสร้างด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวังเป็นผลให้เกิดแรงสั่นสะเทือนอย่างรุนแรง เป็นเหตุให้ผนังและเสาหินบ้านของโจทก์แตกร้าวและหักการกระทำของจำเลยเป็นการละเมิดต่อโจทก์ขอให้จำเลยชำระเงิน 325,549 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 304,925 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 150,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 28 พฤษภาคม 2535 จนกว่าจะชำระเสร็จ คำขอนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
จำเลยฎีกาโดยผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 57185 พร้อมสิ่งปลูกสร้างตึกแถวเลขที่ 329 จำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตึกแถวเลขที่ 328 ติดกับที่ดินของโจทก์เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2535 จำเลยว่าจ้างช่างต่อเติมด้านหลังตึกแถวของจำเลยและลงเสาเข็มในส่วนที่ต่อเติมขึ้นใหม่
ในปัญหาว่า จำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์ตามฟ้องหรือไม่โจทก์มีตัวโจทก์ สามีโจทก์ นายเสกสรร ปี่เงิน และนายภูษิตเมฆนิติกุล นายช่างโยธาประจำส่วนอำเภอเมืองสมุทรปราการนายสำเริง จิตต์อาจหาญ ผู้ใหญ่บ้านในท้องที่เกิดเหตุเบิกความเป็นพยานโจทก์ว่า อาคารตึกแถวของโจทก์เดิมไม่แตกร้าวเมื่อจำเลยต่อเติมอาคารตึกแถวของจำเลยมีการตอกเสาเข็มโดยใช้เครื่องจักรกลขนาดใหญ่ แรงสั่นสะเทือนทำให้เสาอาคารของโจทก์หัก ผนังและพื้นแตกร้าวโจทก์จึงไปแจ้งต่อทางอำเภอเมืองสมุทรปราการ นายเสกสรร จึงออกไปตรวจสอบพบว่าอาคารตึกแถวของโจทก์มีรอยแตกร้าวจึงมีคำสั่งด้วยวาจาห้ามจำเลยตอกเสาเข็ม แต่จำเลยไม่ปฏิบัติตามและยังคงตอกเสาเข็มอยู่ต่อมานายภูษิตได้ออกไปตรวจสอบตามคำร้องเรียนของโจทก์และพบว่าอาคารตึกแถวของโจทก์แตกร้าว จึงแนะนำจำเลยให้หยุดการก่อสร้างและเจรจาเรื่องค่าเสียหายกับโจทก์นายสำราญพยานโจทก์เบิกความว่า ได้รับคำสั่งจากปลัดอำเภอและได้รับการขอร้องจากพยานจำเลยให้ช่วยไกล่เกลี่ยกรณีโจทก์ร้องเรียนว่า จำเลยตอกเสาเข็มทำให้อาคารตึกแถวของโจทก์เสียหาย จึงไปพบโจทก์และพบว่าอาคารตึกแถวของโจทก์มีรอยแตกร้าวจริง ได้มีการพูดคุยกัน แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ เนื่องจากจำเลยไม่ยอมชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์จึงไม่มีเหตุระแวงสงสัยว่าพยานโจทก์ดังกล่าวแล้วจะเบิกความเข้าข้างหรือให้เป็นประโยชน์แก่โจทก์และทำให้จำเลยเสียหายได้เชื่อว่าพยานโจทก์เบิกความไปตามที่รู้เห็นและมีส่วนเกี่ยวข้องแท้จริง คำเบิกความของพยานโจทก์ข้างต้นสอดคล้องตรงกัน ลำดับเหตุการณ์ต่อเนื่องตามลำดับ จึงมีน้ำหนักและมีเหตุผลที่จะเชื่อถือรับฟัง เมื่อพิเคราะห์ประกอบกับข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยได้ก่อสร้างเพิ่มเติมอาคารตึกแถวของจำเลยและได้ลงเสาเข็มก่อนทำการก่อสร้างดังกล่าว ซึ่งจำเลยอ้างว่าจำเลยลงเสาเข็มโดยใช้วิธีเจาะเสาเข็มและไม่มีผลกระทบต่อพื้นที่ใกล้เคียงแต่ก็ปรากฏว่าการขุดเจาะเสาเข็มดังกล่าวห่างจากแนวรั้วบ้านโจทก์ประมาณ 50 ถึง 100 เซนติเมตร เท่านั้น และเป็นการขุดเจาะลงเสาเข็มเพื่อรองรับอาคารส่วนที่ต่อเติมจำนวนถึง 3 ชั้นจึงเชื่อว่าจะต้องมีการขุดเจาะลงเสาเข็มจำนวนหลายต้นแม้วิธีการขุดเจาะลงเสาเข็มจะเป็นวิธีการที่ดีที่สุดเพียงใดก็ตาม แต่ก็ได้ความว่าจะต้องมีการตอกปลอกเหล็กลงไปในดินก่อนจนถึงดินแข็งซึ่งน่าจะต้องมีความลึกพอสมควรกว่าจะพบดินแข็งดังกล่าว ต่อจากนั้นจึงจะมีการปั๊มลมเพื่อนำดินออกจากปลอกเหล็กแล้วจึงตอกอัดเสาเข็มลงไป จึงย่อมจะต้องมีแรงสั่นสะเทือนกระทบต่อบริเวณพื้นที่ใกล้เคียงอยู่บ้างไม่มากก็น้อย มิใช่ว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุดแล้วจะไม่มีแรงสั่นสะเทือนเกิดขึ้นเลยซึ่งเป็นเรื่องที่ผิดปกติวิสัยเป็นอย่างยิ่งและจากคำเบิกความของนายสำราญพยานโจทก์ซึ่งจำเลยไม่ได้โต้แย้งเป็นอย่างอื่นจึงเชื่อว่าพยานจำเลยรู้ดีว่าความเสียหายของอาคารตึกแถวของโจทก์มีสาเหตุมาจากการขุดเจาะเสาเข็มภายในบริเวณบ้านจำเลยดังกล่าว จึงได้ขอร้องให้นายสำราญไปเจรจาไกล่เกลี่ยพฤติการณ์ของภรรยาจำเลยข้างต้นจึงขัดแย้งกับทางนำสืบของจำเลยที่ว่า อาคารตึกแถวของโจทก์เสียหายมีรอยแตกร้าวอยู่ก่อนแล้วอันเนื่องมาจากเสาเข็มที่ต่อเติมใหม่ ไม่สามารถรับน้ำหนักของตัวอาคารส่วนที่ต่อเติมได้ เพราะหากความเสียหายเกิดจากสาเหตุดังกล่าวแล้วก็ไม่จำเป็นที่ภรรยาจำเลยจะต้องไปขอร้องให้นายสำราญพยานโจทก์ไปเจรจาไกล่เกลี่ยอีก ทั้งข้ออ้างดังกล่าวก็เป็นเพียงคำเบิกความกล่าวอ้างเพียงลอย ๆ เท่านั้นมิได้มีพยานหลักฐานอื่นสนับสนุนพอที่จะมีน้ำหนักให้เชื่อถือรับฟังพยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักและมีเหตุผลรับฟังได้มั่นคงมากกว่าพยานหลักฐานของจำเลย ฟังได้ว่า ความเสียหายของอาคารตึกแถวโจทก์เกิดจากการกระทำของจำเลย จำเลยจึงต้องรับผิดในความเสียหายดังกล่าวต่อโจทก์ ในปัญหาที่ว่าค่าเสียหายสมควรเป็นจำนวนเท่าใดนั้นจำเลยฎีกาว่าโจทก์ไม่สามารถนำสืบถึงความเสียหายได้ ค่าเสียหายที่ศาลชั้นต้นกำหนดจึงสูงเกินกว่าความเป็นจริงนั้น เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายจากการกระทำละเมิดของจำเลยและโจทก์เรียกร้องค่าเสียหายมาตามจำนวนที่ฟ้อง แม้ทางนำสืบของโจทก์จะฟังไม่ได้ว่าโจทก์เสียหายตามจำนวนที่ขอมาดังกล่าวแท้จริงก็ตาม แต่ก็เห็นได้ว่าความเสียหายของโจทก์ยังคงมีอยู่และศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจกำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์ได้ตามความเหมาะสมและพฤติการณ์แห่งรูปคดี ซึ่งศาลฎีกาเห็นว่าจำนวนค่าเสียหายที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้นั้นพอเหมาะสมดีแล้ว
พิพากษายืน

Share