แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นออกนั่งพิจารณาและสอบถามจำเลยเรื่องทนายความกับอ่านอธิบายฟ้องให้จำเลยฟังแล้ว จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นได้บันทึกคำให้การจำเลยไว้ เมื่อปรากฏว่าความผิดฐานมีอาวุธปืนไม่มีหมายเลขทะเบียนปืนของเจ้าพนักงานประทับและกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ มาตรา 7, 72 วรรคหนึ่ง, มีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปีฯ ส่วนฐานพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ มาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง มีอัตราโทษจำคุกไม่เกินห้าปีฯ และฐานพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันสมควรตาม ป.อ. มาตรา 371 มีอัตราโทษปรับไม่เกิน 100 บาท เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลชั้นต้นย่อมพิพากษาได้โดยไม่ต้องสืบพยานตาม ป.วิ.อ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง กระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นดังกล่าวไม่เสียไปแม้โจทก์จะยังมิได้ลงชื่อในรายงานกระบวนพิจารณา
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371, 32, 91 และริบของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีอาวุธปืน จำคุก 2 ปี ฐานพาอาวุธปืน เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ให้กระทงละกึ่งหนึ่งแล้ว ฐานมีอาวุธปืน จำคุก 1 ปี ฐานพาอาวุธปืน จำคุก 6 เดือน รวมจำคุก 1 ปี 6 เดือน ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาข้อแรกเป็นปัญหาข้อกฎหมายว่า ในวันนัดสืบพยานโจทก์และสอบคำให้การจำเลย ไม่ปรากฏว่าโจทก์มาศาลและลงชื่อในรายงานกระบวนพิจารณา จำเลยได้ยื่นคำแถลงประกอบคำรับสารภาพว่า จำเลยมีความจำเป็นต้องพกอาวุธปืนติดตัวเนื่องจากพื้นที่ที่จำเลยอาศัยและทำงานไม่มีความปลอดภัย จำเลยไม่มีเจตนากระทำความผิด ดังนั้น โจทก์มีภาระหน้าที่ต้องนำพยานหลักฐานมาพิสูจน์ว่าจำเลยกระทำความผิดในข้อหาดังกล่าว แต่โจทก์กลับไม่มีพยานหลักฐานมาสืบ จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นออกนั่งพิจารณาและสอบถามจำเลยเรื่องทนายความ กับอ่านอธิบายฟ้องให้จำเลยฟัง แล้วจำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นได้บันทึกคำให้การจำเลยไว้ เมื่อปรากฏว่าความผิดฐานมีอาวุธปืนไม่มีหมายแลขทะเบียนปืนของเจ้าพนักงานประทับและกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 7, 72 วรรคหนึ่ง มีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปีฯ ส่วนฐานพาอาวุธปืนไปในเมืองหมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง มีอัตราโทษจำคุกไม่เกินห้าปีฯ และฐานพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันสมควรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 มีอัตราโทษปรับไม่เกิน 100 บาท เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลชั้นต้นย่อมพิพากษาได้โดยไม่ต้องสืบพยานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 176 วรรคหนึ่ง กระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นดังกล่าวไม่เสียไปแม้โจทก์จะยังมิได้ลงชื่อในรายงานกระบวนพิจารณา และที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยไม่มีเจตนากระทำความผิดเป็นปัญหาที่ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยจึงไม่ชอบนั้น เห็นว่า การที่จำเลยให้การในวันนัดสอบคำให้การว่าขอให้การรับสารภาพตามฟ้อง คดีย่อมรับฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง ซึ่งก็คือมีเจตนากระทำความผิดนั่นเอง จำเลยจะอุทธรณ์ว่าไม่มีเจตนากระทำความผิดหาได้ไม่ เพราะมิใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยให้จึงชอบแล้ว ส่วนที่จำเลยฎีกาข้อสุดท้าย ขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษให้แก่จำเลยนั้น เห็นว่า การที่จำเลยมีอาวุธปืนไม่มีหมายเลขทะเบียนของเจ้าพนักงานประทับและกระสุนปืน 6 นัด บรรจุในลูกโม่ในลักษณะพร้อมจะใช้งาน และยังพาติดตัวไปในร้านคาราโอเกะซึ่งตั้งอยู่ในเมือง นับว่าเป็นภัยต่อสาธารณชนทั่วไปอย่างมาก ที่ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพนิจไม่รอการลงโทษให้แก่จำเลย จึงเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว แต่โทษที่ศาลล่างทั้งสองลงแก่จำเลยในแต่ละกระทงนั้น หนักเกินไป ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขกำหนดโทษจำเลยเสียใหม่ให้เหมาะสม ฎีกาของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำเลยฐานมีอาวุธปืน จำคุก 1 ปี ฐานพาอาวุธปืน จำคุก 6 เดือน รวมจำคุก 1 ปี 6 เดือน เมื่อลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 9 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์