แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 2 เป็นผู้ก่อเหตุขึ้น รุกรานเข้าไปยิงโดยเจตนาฆ่าจำเลยที่ 1 ถึงในบ้าน (โดยใช้อาวุธปืนลูกซองสั้นยิง 1 นัด จากลานบ้านขึ้นไปบนบ้าน) จำเลยที่ 1 จึงกระโดดจากชานลงไปที่โคนต้นมะม่วง ห่างจำเลยที่ 2 ประมาณ 2 เมตร จำเลยที่ 2 บรรจุกระสุนปืนอีก และจ้องปืนมาที่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงชักอาวุธปืนที่ติดตัวอยู่ยิงจำเลยที่ 2 ไป 3 นัดกระสุนปืนถูกโคนแขนจำเลยที่ 2 นัดเดียว ดังนี้จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิที่จะทำการป้องกันตัวได้โดยชอบด้วยกฎหมายและไม่จำเป็นต้องหนีผู้ที่เข้ามากระทำผิดกฎหมายแก่ตน ในเหตุการณ์ฉุกละหุกเฉพาะหน้า ไม่แน่ว่าจำเลยที่ 2 จะยิงจำเลยที่ 1 อีกหรือไม่ จำเลยที่1 ไม่มีโอกาสคิดเป็นอย่างอื่น นอกจากยิงเพื่อป้องกันตนให้พ้นอันตรายเฉพาะหน้า เป็นการป้องกันพอสมควรแก่เหตุ จำเลยที่ 1 ไม่มีความผิด
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 บังอาจมีอาวุธปืนพกรีวอลเวอร์ขนาด .32 จำนวน1 กระบอก กับกระสุนปืนขนาด .32 จำนวน 5 นัด ซึ่งเป็นของบุคคลอื่นที่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่ ไว้ในความครอบครองของจำเลยที่ 1 โดยมิได้รับอนุญาต และจำเลยทั้งสองต่างบังอาจใช้อาวุธปืนยิงโดยเจตนาฆ่าซึ่งกันและกัน จำเลยทั้งสองลงมือกระทำความผิดตลอดแล้ว แต่ไม่บรรลุผล เพราะกระสุนปืนซึ่งจำเลยที่ 1 ยิงจำเลยที่ 2 หลายนัดนั้น ถูกแขนจำเลยที่ 2 นัดเดียวได้รับอันตรายแก่กาย ไม่อาจทำให้จำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตายและกระสุนปืนที่จำเลยที่ 2 ยิงจำเลยที่ 1 จำนวน 1 นัด ไม่ถูกจำเลยที่ 1 เนื่องจากจำเลยที่ 1หลบได้ทัน ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80, 91พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 72 ฯลฯ
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธว่า มิได้กระทำความผิดฐานพยายามฆ่า จำเลยที่1 รับสารภาพมีอาวุธปืนฯ เครื่องกระสุนปืนไว้ในความครอบครองจริงดังฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288, 80, 91ฯ พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 72ฯจำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80 ลงโทษจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80 จำคุก 10 ปี ลงโทษฐานมีอาวุธปืนฯ จำคุก 6 เดือน ปรับ 2,080 บาท จำเลยที่ 1 รับสารภาพฐานมีอาวุธปืนฯ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามมาตรา 78 จำคุก 3 เดือน ปรับ 1,040 บาทรวมโทษจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 10 ปี 3 เดือน ปรับ 1,040 บาท ลงโทษจำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80 จำคุก 1 ปี ฯลฯ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น ให้รอการลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานมีอาวุธปืนไว้ในความครอบครองมีกำหนด 1 ปีฯ คงปรับสถานเดียว ฯลฯ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า วันเกิดเหตุจำเลยที่ 2 มาขออนุญาตจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านจัดให้มีการเล่นการพนันกันที่งานวัดในหมู่บ้าน แต่จำเลยที่ 1 ไม่ยอม จำเลยที่ 2 ไม่พอใจ ต่อมาประมาณ 20 นาฬิกาจำเลยที่ 2 กับพวก 6 – 7 คนมาหาจำเลยที่ 1 อีก ขณะนั้นจำเลยที่ 1 นั่งคุยกับญาติอยู่ที่ชานบ้าน มีตะเกียงจุดไว้ดวงหนึ่ง จำเลยที่ 2 เข้าไปยืนพูดท้าทายจำเลยที่ 1 ใน บ้าน แล้วใช้อาวุธปืนลูกซองสั้นยิงจำเลยที่ 1 ก่อน กระสุนปืนลูกซองถูกฝาบ้านจำเลยที่ 1 จำนวน 9 รู และทะลุฝาไปถูกสังกะสีหลังคา 8 รูเป็นการยิงจากพื้นดินปลายชานบ้าน จำเลยที่ 2 จึงเป็นผู้ก่อเหตุขึ้น รุกรานเข้าไปยิงโดยเจตนาฆ่าจำเลยที่ 1 ถึงในบ้าน จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิที่จะทำการป้องกันตัวได้โดยชอบด้วยกฎหมาย และไม่จำเป็นต้องหนีผู้ที่เข้ามากระทำผิดกฎหมายแก่ตน เมื่อจำเลยที่ 2 ใช้อาวุธปืนยิงจำเลยที่ 1 แล้วยังไม่กลับออกจากบ้านจำเลยที่ 1 ไป จำเลยที่ 1 จึงกระโดดจากชานลงไปที่โคนต้นมะม่วงห่างจำเลยที่ 2 ประมาณ 2 เมตร จำเลยที่ 2 บรรจุกระสุนปืนอีก และจ้องปืนมาที่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 มีอาวุธปืนอยู่ที่ตัว จำเลยที่ 1 จึงชักอาวุธปืนนั้นยิงจำเลยที่ 2 ในขณะเกิดเหตุการณ์ฉุกละหุกอยู่เฉพาะหน้า ไม่แน่ว่าจำเลยที่ 2ซึ่งถืออาวุธปืนจ้องอยู่ในระยะใกล้นั้นจะยิงจำเลยที่ 1 อีกหรือไม่ ฟังได้ว่าจำเลยที่ 1ยิงเพื่อป้องกันตัว การที่จำเลยที่ 1 ยิงปืนไป 3 นัด กระสุนปืนถูกโคนแขนจำเลยที่ 2นัดเดียว แสดงว่าขณะยิงจำเลยที่ 1 ไม่มีโอกาสคิดเป็นอย่างอื่นนอกจากป้องกันตนให้พ้นอันตรายเฉพาะหน้า การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการป้องกันพอสมควรแก่เหตุจำเลยที่ 1 ไม่มีความผิด ฯลฯ
พิพากษายืน