แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อโจทก์รู้ถึงการที่จำเลยที่ 1 เอาที่ดินที่จำเลยที่ 1 ตกลงจะขายให้โจทก์โดยโจทก์ได้ชำระราคาบางส่วน และจำเลยได้ยอมให้โจทก์เข้าครอบครองที่นั้นแล้วไปจำนองจำเลยที่ 3 เป็นต้นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอนการฉ้อฉลแล้ว แต่มิได้ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมจำนองนั้นภายใน 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์ได้รู้ คดีโจทก์จึงขาดอายุความฟ้องร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 240
แม้หัวหน้าคณะปฏิวัติจะมีคำสั่งให้รัฐมีอำนาจจัดการทรัพย์สินทั้งหมดของจำเลยที่ 1 และให้ผู้มีสิทธิภารผูกพันกับที่ดินจากจำเลยที่ 1 ยื่นหลักฐานเรียกร้องที่ดินของ จำเลยที่ 1 ต่อกรมที่ดินได้ แต่เมื่อคำสั่งนั้นออกมาภายหลังที่คดีโจทก์ขาดอายุความฟ้องร้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลเสียแล้ว จึงไม่ทำให้อายุความดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไป
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าเมื่อวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๐๗ โจทก์ทำสัญญาจะซื้อที่ดินที่จำเลยที่ ๑ ประกาศจัดสรรขาย ๑ แปลง เนื้อที่ ๑ ไร่ จากจำเลยที่ ๑ ราคา ๑๕๖,๖๐๐ บาท ชำระเงินมัดจำในวันทำสัญญา ๑๒,๐๐๐ บาท ที่เหลือผ่อนชำระเดือนละ ๑,๖๐๐ บาท ทำสัญญาแล้วจำเลยที่ ๑ นำชี้ที่ดินให้โจทก์ และโจทก์เข้าครอบครองปลูกบ้านขึ้น ๑ หลัง โจทก์ผ่อนชำระเงินค่าที่ดินให้จำเลยที่ ๑ จนถึงเดือนตุลาคม ๒๕๑๔ เป็นเวลา ๗๖ เดือน เป็นเงิน ๑๓๓,๖๐๐ บาท คงเหลือ ๒๒,๔๐๐ บาท โจทก์บอกกล่าวให้จำเลยที่ ๑ โอนโฉนดให้ โดยโจทก์จะชำระเงินค่าที่ดินที่เหลือให้ทั้งหมด จำเลยที่ ๑ อ้างว่ายังแบ่งแยกโฉนดไม่เสร็จและขอผัดผ่อนเรื่อยมา ทั้ง ๆ ที่เจ้าพนักงานที่ดินออกโฉนดที่ดิน ๒ โฉนดให้จำเลยแล้วตั้งแต่เดือนเมษายน ๒๕๑๙ คือโฉนดที่ ๒๙๕๓๐ เนื้อที่ ๑ งาน ๒๗ ตารางวา และโฉนดที่ ๒๗๘๕๔ เนื้อที่ ๒ งาน ๙๔ ตารางวา เมื่อวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๑๐ จำเลยที่ ๑ นำที่ดินโฉนดที่ ๒๙๕๓๐ และที่ดินโฉนดอื่น ๆ อีกรวม ๖ โฉนดไปจำนองจำเลยที่ ๒ เป็นเงิน ๔๐๐,๐๐๐ บาท เมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๐๙ จำเลยที่ ๑ นำที่ดินโฉนดที่ ๒๗๘๕๔ และที่ดินโฉนดอื่น ๆ อีกรวม ๑๗ โฉนดไปจำนองของธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด เป็นเงิน ๔๐๐,๐๐๐ บาท ต่อมาได้ไถ่จำนองจากธนาคารแล้วนำไปจำนองจำเลยที่ ๓ เป็นเงิน ๑๗๐,๐๐๐ บาท ทั้งนี้ โดยจำเลยทั้งสามร่วมกันฉ้อฉลโจทก์โดยมิชอบและไม่สุจริตเพื่อหลอกลวงโจทก์ให้เสียหายและเสียเปรียบ จำเลยทั้งสามรู้หรือควรรู้แล้วว่า ที่ดินดังกล่าวจำเลยที่ ๑ จัดสรรขายและโจทก์ซื้อไว้กับเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินแล้ว ขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดที่ ๒๙๕๓๐ และโฉนดที่ ๒๗๘๕๔ ระหว่างจำเลยที่ ๑ กับที่ ๒ และจำเลยที่ ๑ กับที่ ๓ ให้จำเลยที่ ๑ รับเงินค่าที่ดิน ๒๒,๔๐๐ บาท จากโจทก์แล้วโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน ๒ โฉนดดังกล่าวให้โจทก์ หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทนถ้าสภาพไม่เปิดช่องให้โฮนที่ดินให้โจทก์ได้ ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้เงินเป็นค่าที่ดินที่โจทก์ชำระไปแล้ว ๑๓๓,๖๐๐ บาท ค่าถมดินปลูกบ้าน ๕๐,๐๐๐ บาท รวมเป็นเงิน ๑๘๓,๐๐๐ บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗ ครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเงินเสร็จให้โจทก์
จำเลยที่ ๑ ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
สำหรับจำเลยที่ ๒ โจทก์ขอถอนฟ้องระหว่างสืบพยานโจทก์และศาลอนุญาตแล้ว
จำเลยที่ ๓ ให้การว่าโจทก์มิได้ทำสัญญาซื้อขายที่พิพาทจากจำเลยที่ ๑ และไม่เคยชำระราคาที่พิพาทแก่จำเลยที่ ๑ ทั้งโจทก์มิได้ครอบครองที่พิพาท จำเลยที่ ๓ มิได้สมคบกับจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ กระทำการฉ้อฉลโจทก์ จำเลยที่ ๓ รับจำนองที่ดินโฉนดที่ ๒๗๘๕๔ ไว้โดยสุจริตและได้เสียค่าตอบแทนให้แก่จำเลยที่ ๑ ทั้งได้จดทะเบียนจำนองต่อเจ้าพนักงานโดยสุจริต โจทก์มิใช่ผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้ก่อนจำเลยที่ ๓ โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องเพิกถอนนิติกรรมจำนองระหว่างจำเลยที่ ๑ กับที่ ๓ โจทก์ทราบว่าจำเลยที่ ๓ รับจำนองที่พิพาทไว้ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๔ เพิ่งฟ้องเมื่อเวลาเกินกว่า ๑ ปี คดีโจทก์จึงขาดอายุความ ขอให้ศาลพิพากษายกฟ้องโจทก์
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดที่ ๒๗๘๕๔ ระหว่างจำเลยที่ ๑ กับจำเลยที่ ๓ ให้จำเลยที่ ๑ รับเงินค่าที่ดินที่เหลืออีก ๒๒,๔๐๐ บาทจากโจทก์ แล้วให้จำเลยที่ ๑ จัดการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ ๒๙๕๓๐ และ ๒๗๘๕๔ ให้โจทก์ หากไม่ปฏิบัติตามให้คือคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ ๑
จำเลยที่ ๓ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกฟ้องโจทก์ที่ขอให้เพิกถอนนิติกรรมจำนองที่พิพาทระหว่างจำเลยที่ ๑ กับจำเลยที่ ๓ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าการฟ้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๔๐ ห้ามมิให้ฟ้องร้องเมื่อพ้น ๑ ปี นับแต่เวลาที่เจ้าหนี้ได้รู้ต้นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอนหรือพ้น ๑๐ ปี นับแต่ได้ทำนิติกรรมนั้น โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามสัญญาขายกรรมสิทธิ์ที่ดินของจำเลยที่ ๑ รู้ถึงการที่จำเลยที่ ๑ เอาที่ดินโฉนดที่ ๒๗๘๕๔ ที่จำเลยที่ ๑ ตกลงจะขายให้โจทก์ไปจำนองจำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นต้นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอนการฉ้อฉล ตั้งแต่เดือนมีนาคม ๒๕๑๔ แต่โจทก์มิได้ฟ้องร้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมจำนองที่ดินโฉนดที่ ๒๗๘๕๙ ภายใน ๑ ปี นับแต่วันที่โจทก์ได้รู้ต้นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอน คดีโจทก์จึงขาดอายุความฟ้องร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๔๐ แม้หัวหน้าคณะปฏิวัติจะมีคำสั่งที่ ๔๒/๒๕๑๕ ลงวันที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๑๕ ให้รัฐมีอำนาจจัดการทรัพย์สินทั้งหมดของจำเลยที่ ๑ และให้ผู้มีสิทธิภารผูกพันกับที่ดินจากจำเลยที่ ๑ ยื่นหลักฐานเรียกร้องที่ดินของจำเลยที่ ๑ ต่อกรมที่ดินได้ แต่เป็นคำสั่งที่ออกมาภายหลังที่คดีโจทก์ขาดอายุความแล้ว จึงไม่ทำให้อายุความฟ้องร้องเปลี่ยนแปลงไป
พิพากษายืน