คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 464/2521

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

เจ้าพนักงานประเมินภาษีเงินได้ จำเลยไม่อุทธรณ์ เมื่อจำเลยถูกฟ้องให้ล้มละลายเพราะไม่ชำระค่าภาษีจำเลยยกข้อต่อสู้ว่าเจ้าพนักงานประเมินภาษีไม่ถูกไม่ได้

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้พิทักษ์ทรัพย์จำเลยตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ทางพิจารณาฟังได้ว่า ภายหลังจากจำเลยยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้ (ภ.ง.ด.9) ประจำปีภาษี พ.ศ. 2515แล้ว เจ้าพนักงานประเมินตรวจพบว่าจำเลยมีรายการเงินได้พึงประเมินมากกว่าที่ยื่นไว้ ทั้งรายการที่ยื่นไว้ก็คิดหักค่าใช้จ่ายไม่ถูกต้องโดยหักเกินกฎหมายและเกินความจำเป็น เจ้าพนักงานประเมินจึงออกหมายเรียกให้จำเลยนำหลักฐานและบัญชีมาแสดง จำเลยได้มอบอำนาจให้นายเสรีโลสิงห์ บุตรชายนำเอกสารบางอย่างมามอบให้เจ้าพนักงานประเมิน ส่วนเอกสารใบสำคัญการจ่ายเงินอื่น ๆ นายเสรีขอผัดนำส่ง 15 วัน ต่อมาอีก 2 เดือน นายเสรีมาแจ้งต่อพนักงานประเมินว่า จำเลยมีรายได้จากการจำหน่ายแร่ในปี พ.ศ. 2515 ด้วยส่วนบัญชีการเงินเกี่ยวกับการขุดแร่นายเสรีจะนำมาแสดงวันหลัง แต่ต่อมาจำเลยและนายเสรีไม่ได้มาติดต่อกับเจ้าพนักงานประเมินอีกเลยจนล่วงเลยไป4 เดือน เจ้าพนักงานประเมินจึงเตือนให้จำเลยทราบ จำเลยก็เพิกเฉย เจ้าพนักงานประเมินจึงได้ประเมินภาษีของจำเลยใหม่แล้วแจ้งให้จำเลยทราบตั้งแต่วันที่ 6มิถุนายน 2517 จำเลยเพิกเฉยไม่ชำระภาษีนั้น ทั้งไม่ยื่นอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภายในกำหนด 30 วัน

ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ประมวลรัษฎากร มาตรา 29, 30 เป็นกฎหมายพิเศษ ได้กำหนดวิธีการให้โอกาสแก่ผู้เสียภาษีที่ได้แจ้งจากเจ้าพนักงานประเมินปฏิบัติได้เป็นขั้นตอน กล่าวคือ เมื่อผู้เสียภาษีไม่เห็นด้วยกับการประเมินนั้นก็ใช้สิทธิอุทธรณ์ต่อผู้ว่าราชการจังหวัดหรือต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์แล้วแต่กรณี เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดหรือคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยอุทธรณ์แล้ว ถ้าผู้เสียภาษียังไม่เห็นด้วยก็ยังมีสิทธิที่จะฟ้องร้องต่อศาลได้ภายในเวลาที่กำหนดไว้ ผู้เสียภาษีจะนำคดีมาฟ้องร้องหรือต่อสู้คดีต่อศาลโดยไม่ได้ยื่นอุทธรณ์ตามวิธีการดังกล่าวเสียก่อนหาได้ไม่คดีนี้ก็เช่นกัน เมื่อจำเลยไม่ได้อุทธรณ์การประเมินของเจ้าพนักงานประเมิน จำเลยจึงหมดสิทธิที่จะฟ้องร้องหรือยกขึ้นต่อสู้ตามที่จำเลยฎีกาขึ้นมา ต้องถือว่าการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินยุติแล้ว จึงเป็นหนี้ที่กำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า30,000 บาท และจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามฟ้อง”

พิพากษายืน

Share