คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2462/2521

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ขณะเข้าปล้น จำเลยที่ 1 ถือปืนสั้น จำเลยที่ 2 ถือปืนยาว ต่อมาในขณะถูกจับพบปืนลูกซองสั้นข้างตัวจำเลยที่ 1 ค้นตัวพบกระสุนปืนลูกซอง 2 นัด ส่วนจำเลยที่ 2 มีปืนลูกซองยาวอยู่หว่างขา ค้นตัวพบกระสุนปืนลูกซอง 2 นัด แม้ปืนลูกซองยาวจะเป็นปืนของเจ้าทรัพย์และมีทะเบียน แต่จำเลยที่ 2 นำมาไว้ในความครอบครองโดยมิได้รับอนุญาตเช่นนี้ก็เป็นความผิด จำเลยทั้งสองจึงมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ
จำเลยทั้งสองร่วมทำการปล้นทรัพย์ แล้วบังคับเอาตัวเจ้าทรัพย์และบุตรไปเป็นตัวประกัน แม้ที่เกิดเหตุปล้นทรัพย์จะอยู่ในเขตหมู่ 4 แต่ตำรวจติดมาพบคนร้ายในคืนนั้นเอง ในเขตหมู่ 9 เกิดยิงต่อสู้กัน เป็นเหตุให้บุตรผู้เสียหายถูกกระสุนปืนถึงแก่ความตาย ก็ต้องถือว่าขณะนั้นการปล้นทรัพย์ยังไม่ขาดตอน เพราะยังอยู่ในระหว่างที่ถูกคนร้ายขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหายและบุตร และเพื่อให้ความสะดวกแก่การพาทรัพย์ที่ถูกปล้นไป ทั้งเพื่อให้คนร้ายพ้นจากการจับกุม แม้ไม่ได้ความชัดว่าบุตรผู้เสียหายถึงแก่ความตายเพราะกระสุนปืนของฝ่ายจำเลยหรือฝ่ายตำรวจ ก็ต้องถือว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดฐานร่วมกระทำการปล้นทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย
การที่จำเลยยังไปโดยไม่เห็นตัวตำรวจ เที่ยวแต่รู้ว่าตำรวจยังมาเท่านั้นเป็นการยังสุ่มๆ ไปเพื่อขัดขวางมิให้ตำรวจเข้าจับกุม จึงมีความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติตามหน้าที่ ไม่มีผิดฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงาน

ย่อยาว

คดีสองสำนวนนี้ศาลล่างพิจารณาพิพากษารวมกันมา
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันมีอาวุธปืนลูกซองสั้น ปืนลูกซองยาวมีทะเบียนและกระสุนปืนลูกซองไว้ในความครอบครองโดยมิได้รับอนุญาตแล้วร่วมกันปล้นทรัพย์โดยมีอาวุธปืน กับใช้ปืนยิงฆ่าบุตรผู้เสียหาย และต่อสู้ขัดขวางการจับกุมของเจ้าพนักงานโดยใช้ปืนยิง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๐, ๘๓, ๙๑, ๑๓๘, ๑๔๐, ๒๘๘, ๒๘๙, ๓๔๐, ๓๔๐ ตรี ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๑๑ พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ให้นับโทษคดีทั้งสองติดต่อกัน ให้จำเลยร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์แก่เจ้าทรัพย์ ริบของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓, ๓๔๐, ๓๔๐ ตรี ให้ลงโทษตามมาตรา ๓๔๐ วรรคท้ายอันเป็นบทหนัก วางโทษประหารชีวิต ลดฐานรับสารภาพชั้นสอบสวนหนึ่งในสามคงจำคุก ๓๓ ปี ๔ เดือน และมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ.๒๔๙๐ มาตรา ๗, ๗๒ พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ.๒๕๑๗ มาตรา ๓ วาลโทษจำคุกคนละ ๒ ปี ลดฐานรับสารภาพชั้นสอบสวนหนึ่งในสาม คงจำคุก ๑ ปี ๔ เดือน รวมลงโทษจำคุกคนละ ๘๔ ปี ๘ เดือน ให้จำเลยทั้งสองและนายเคลือบ (จำเลยในอีกสำนวนหนึ่งซึ่งศาลชั้นต้นรวมการพิจารณาพิพากษาไว้ด้วย) คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ ๑๕, ๗๘๐ บาท แก่เจ้าทรัพย์ อาวุธปืน กระสุนปืน และปลอกกระสุนปืนให้ริบ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสองสำนวนนี้
อัยการพิเศษประจำเขต ๘ ซึ่งเข้าดำเนินคดีในฐานะโจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยทั้งสองเป็นคนร้ายรายนี้ด้วย แต่มีปัญหาว่าจำเลยทั้งสองจะมีความผิดฐานใดบ้าง สำหรับข้อหามีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนฯ นั้นได้ความว่าขณะเข้าทำการปล้นทรัพย์ จำเลยที่ ๑ ถือปืนสั้น จำเลยที่ ๒ ถือปืนยาว ต่อมาในขณะถูกจับเจ้าหน้าที่ตำรวจก็พบปืนลูกซองสั้น ๑ กระบอกข้างตัวจำเลยที่ ๑ เมื่อค้นตัวก็พบกระสุนปืนลูกซอง ๒ นัด ส่วนจำเลยที่ ๒ มีปืนลูกซองยาวอยู่ที่หว่างขา ค้นตัวพบกระสุนปืนลูกซอง ๒ นัด แม้ปืนลูกซองยาวซึ่งพบที่ตัวจำเลยที่ ๒ จะเป็นปืนของเจ้าทรัพย์และมีทะเบียน แต่จำเลยที่ ๒ นำมาไว้ในครอบครองโดยมิได้รับอนุญาตเช่นนี้ก็เป็นความผิด จำเลยทั้งสองจึงมีความผิดตามฟ้องในข้อหานี้
เมื่อออกเดินทางจากบ้านที่เกิดเหตุ จำเลยกับพวกได้บังคับเอาตัวผู้เสียหายและนายเอนกบุตรผู้เสียหายไปเป็นตัวประกัน แม้ที่เกิดเหตุอยู่ในเขตหมู่ ๔ แต่ตำรวจกับพวกติดตามพบคนร้ายในเวลาต่อเนื่องกับการปล้นทรัพย์ในคืนนั้นเองในเขตหมู่ ๙ เกิดยิงต่อสู้กันเป็นเหตุให้นายเอนกถูกกระสุนปืนถึงแก่ความตาย ก็ต้องถือว่าขณะที่นายเอนกถึงแก่ความตายในขณะที่การปล้นทรัพย์ยังไม่ขาดตอน เพราะยังอยู่ในระหว่างที่ถูกคนร้ายขู่เข็ญ นายลั่นและนายเอนกว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อให้ความสะดวกแก่การพาทรัพย์ที่ถูกปล้นไป และเพื่อให้คนร้ายพ้นจากการจับกุม แม้ข้อเท็จจริงจะไม่ได้ความชัดว่านายเอนกถึงแก่ความตายเพราะกระสุนปืนของฝ่ายจำเลยหรือฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ ก็ต้องถือว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดฐานร่วมกระทำการปล้นทรัพย์อันเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และเมื่อจำเลยทั้งสองมีอาวุธปืนไปร่วมกระทำผิดฐานปล้นทรัพย์ ความผิดของจำเลยจึงต้องด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๐ ตรี
ส่วนการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองในตอนที่ต่อสู้กับฝ่ายเจ้าพนักงานนั้น ข้อเท็จจริงจะพอฟังหรือไม่ว่าจำเลยพยายยามฆ่าเจ้าพนักงานและผู้ที่ช่วยเจ้าพนักงาน ศาลฎีกาฟังว่า เมื่อได้ยินเสียงปืนทางทิศเหนือหลายนัด จำเลยทั้งสองได้ล้มตัวลงนอนข้างจอมปลวกแล้วจำเลยที่ ๒ ได้ยิงปืนตอบโต้ไป ๑ นัด ซึ่งน่าเชื่อว่าเป็นการยิงสุ่ม ๆ ไปเพื่อขัดขวางมิให้เจ้าพนักงานเข้าจับกุม เพราะจำเลยที่ ๒ ยิงไปโดยไม่เห็นตัวเจ้าพนักงานกับพวก เพียงแต่รู้ว่าเจ้าพนักงานยิงมาเท่านั้น เฉพาะจำเลยที่ ๒ จึงมีความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ และจำเลยที่ ๒ ได้กระทำความผิดฐานนี้โดยใช้อาวุธปืน ส่วนจำเลยที่ ๑ คดียังไม่พอฟังว่าได้ร่วมกระทำความผิดฐานนี้ด้วย
พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ เป็นว่าจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓, ๓๔๐ วรรคสุดท้าย ๓๔๐ ตรี ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๑ ลงวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๑๔ ข้อ ๑๔, ๑๕ แต่จำเลยทั้งสองมีอายุไม่เกิน ๒๐ ปี ลดมาตราส่วนโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๖ หนึ่งในสาม คงวางโทษจำคุกจำเลยทั้งสองตลอดชีวิต จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวน ลดโทษให้หนึ่งในสาม เปลี่ยนโทษจำคุกตลอดชีวิตเป็นโทษจำคุก ๕๐ ปีเสียก่อน คงจำคุกจำเลยทั้งสองในความผิดฐานนี้คนละ ๓๓ ปี ๔ เดือน และจำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ.๒๔๙๐ มาตรา ๗, ๗๒ พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ.๒๕๑๗ มาตรา ๓ ลดมาตราส่วนโทษให้หนึ่งในสามแล้ว จำคุกจำเลยคนละ ๑ ปี ๖ เดือน รับสารภาพในชั้นสอบสวน ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุกคนละ ๑ ปี เฉพาะจำเลยที่ ๒ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๔๐ วรรคสุดท้าย ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๑ ลงวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๑๔ ข้อ ๓ ด้วย ลดมาตราส่วนโทษให้หนึ่งในสามแล้ว คงวางโทษจำคุก ๓ ปีรับสารภาพในชั้นสอบสวน ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยที่ ๒ ในความผิดฐานนี้อีก ๒ ปี รวมแล้วคงจำคุกจำเลยที่ ๑ สามสิบสี่ปีสี่เดือนจำคุกจำเลยที่ ๒ สามสิบหกปีสี่เดือน เรื่องให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ และเรื่องริบทรัพย์คงให้บังคับตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น.

Share