แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
เมื่อสัญญาขายฝากที่ดินเป็นนิติกรรมอำพรางนิติกรรมการกู้ยืมเงินระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลย สัญญาขายฝากที่ดินจึงเป็นนิติกรรมที่ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง จำเลยจะขอให้บังคับโจทก์ทั้งสองชำระเงินตามราคาขายฝากที่ดินเป็นต้นเงินกู้ไม่ได้ ต้องบังคับตามที่โจทก์ทั้งสองและจำเลยมีเจตนาจะผูกพันในนิติกรรมการกู้ยืมเงินที่ถูกอำพรางไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคสอง โดยถือเพียงว่าสัญญาขายฝากที่ดินเป็นหลักฐานว่าโจทก์ทั้งสองได้กู้ยืมเงินจากจำเลยและโจทก์ทั้งสองได้มอบโฉนดที่ดินของตนให้จำเลยยึดถือไว้เป็นหลักประกันเงินกู้เท่านั้น
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2540 โจทก์ทั้งสองร่วมกันกู้ยืมเงินจำเลยจำนวน 1,200,000 บาท ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 3 ต่อเดือน โดยมิได้ทำสัญญากู้ยืมเงินเป็นหลักฐาน แต่ได้ทำสัญญาขายฝากที่ดินโฉนดเลขที่ 25867 และ 22233 ของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ตามลำดับ มีกำหนด 1 ปี เป็นเงินแปลงละ 900,000 บาท รวมเป็นเงินจำนวน 1,800,000 บาท เพื่ออำพรางสัญญากู้ยืมเงิน ภายหลังทำสัญญาโจทก์ทั้งสองชำระดอกเบี้ยแก่จำเลย 2 ครั้ง เป็นเงินจำนวน 72,000 บาท ต่อมาโจทก์ทั้งสองมอบหมายให้ทนายความมีหนังสือแจ้งให้จำเลยรับชำระต้นเงินกู้ 1,200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยที่ค้างชำระทั้งหมดและจดทะเบียนไถ่ถอนการขายฝาก แต่จำเลยไม่ยอมรับหนังสือดังกล่าว ขอให้พิพากษาว่าสัญญาขายฝากเป็นโมฆะ ให้จำเลยรับชำระหนี้เงินกู้ต้นเงินจำนวน 1,200,000 บาท ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นเวลา 8 เดือน รวมเป็นเงินจำนวน 1,260,000 บาท จากโจทก์ทั้งสอง ให้จำเลยจดทะเบียนไถ่ถอนการขายฝากที่ดินดังกล่าว และมอบโฉนดที่ดินคืนแก่โจทก์ทั้งสอง หากจำเลยไม่ยอมจดทะเบียนไถ่ถอนการขายฝากให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรับชำระหนี้จากโจทก์ทั้งสองเป็นเงินจำนวน 1,065,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 26 กันยายน 2540 จนถึงวันที่ 25 กันยายน 2541 และให้จำเลยจดทะเบียนไถ่ถอนการขายฝากที่ดินโฉนดเลขที่ 25867 และ 22233 หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท ข้อหาอื่นให้ยก (ที่ถูก คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก)
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่โจทก์ทั้งสองและจำเลยมิได้โต้แย้งกันในชั้นฎีกาฟังเป็นยุติว่า โจทก์ทั้งสองทำสัญญาขายฝากที่ดินโฉนดเลขที่ 25867 และ 22233 ของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ตามลำดับไว้แก่จำเลย เพื่ออำพรางนิติกรรมการกู้ยืมเงินซึ่งโจทก์ทั้งสองกู้ยืมจากจำเลย
จำเลยฎีกาว่า เมื่อโจทก์ทั้งสองและจำเลยกู้ยืมเงินกันโดยถือเอาสัญญาขายฝากที่ดินเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืม จึงต้องถือเอาจำนวนเงินตามสัญญาขายฝากที่ดินซึ่งระบุจำนวนเงินที่ตกลงขายฝากกันแปลงละ 900,000 บาท เป็นต้นเงินกู้ที่โจทก์ทั้งสองจะต้องชำระให้แก่จำเลยนั้น เห็นว่า เมื่อสัญญาขายฝากที่ดินเป็นนิติกรรมอำพรางนิติกรรมการกู้ยืมเงินระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลย สัญญาขายฝากที่ดินจึงเป็นนิติกรรมที่ตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 155 วรรคหนึ่ง จำเลยขอให้บังคับโจทก์ทั้งสองชำระเงินตามราคาขายฝากที่ดินแปลงละ 900,000 บาท เป็นต้นเงินกู้ไม่ได้ แต่ต้องบังคับตามที่โจทก์ทั้งสองและจำเลยมีเจตนาจะผูกพันในนิติกรรมการกู้ยืมเงินที่ถูกอำพรางไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 155 วรรคสอง โดยถือเพียงว่าสัญญาขายฝากที่ดินเป็นหลักฐานว่าโจทก์ทั้งสองได้กู้ยืมเงินจากจำเลย และโจทก์ทั้งสองได้มอบโฉนดที่ดินของตนให้จำเลยยึดถือไว้เป็นหลักประกันเงินกู้เท่านั้น สำหรับการกู้ยืมเงินซึ่งเป็นนิติกรรมที่ถูกอำพรางนั้น ศาลล่างทั้งสองรับฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ทั้งสองกู้เงินจำเลยเพียง 1,065,000 บาท เท่าที่จำเลยส่งมอบให้ตามบันทึกของสามีจำเลย จำเลยมิได้ฎีกาโต้แย้งว่า บันทึกของสามีจำเลยไม่ถูกต้องอย่างไร คงฎีกาขอให้โจทก์ทั้งสองชำระเงินเพิ่มอีก 735,000 บาท เพื่อให้ครบยอดเงิน 1,800,000 บาท ซึ่งเป็นราคาขายฝากที่ดินทั้งสองแปลงในสัญญาขายฝากที่ดิน เมื่อข้อเท็จจริงยุติแล้วว่าสัญญาขายฝากที่ดินดังกล่าวเป็นนิติกรรมอำพราง ราคาขายฝากตามสัญญาขายฝากที่ดินดังกล่าวจึงไม่ใช่จำนวนเงินที่ศาลจะบังคับให้โจทก์ทั้งสองชำระแก่จำเลยได้ โจทก์ทั้งสองคงต้องรับผิดชำระเงินเท่าที่กู้ยืมมาจากจำเลย 1,065,000 บาท เท่านั้น ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น สำหรับการขายฝากที่ดินระหว่างโจทก์ทั้งสองและจำเลยเมื่อตกเป็นโมฆะดังวินิจฉัยแล้ว ก็ชอบที่จะพิพากษาให้เพิกถอนเสีย”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยรับชำระหนี้จากโจทก์ทั้งสองเป็นเงิน 1,065,000 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 26 กันยายน 2540 ถึงวันที่ 25 กันยายน 2541 และให้เพิกถอนนิติกรรมการขายฝากที่ดินโฉนดเลขที่ 25867 และ 22233 ระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2541 แต่ยังคงให้จำเลยยึดโฉนดที่ดินดังกล่าวไว้จนกว่าโจทก์ทั้งสองจะชำระเงินและดอกเบี้ยดังกล่าวแก่จำเลยครบถ้วน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ นอกจากที่แก้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2