แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้การปลดจากการล้มละลายมีผลทำให้จำเลยที่ 2 หลุดพ้นจากการล้มละลายและมีอำนาจจัดการกิจการและทรัพย์สินของตนได้ก็ตาม แต่จำเลยที่ 2 มีอำนาจจัดการกิจการและทรัพย์สินของตนที่ได้มานับตั้งแต่วันที่ได้รับการปลดจากการล้มละลายเท่านั้น ที่ดินตราจองตามคำร้อง จำเลยที่ 2 ได้มาตั้งแต่ปี 2526 ก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 2 เด็ดขาด ซึ่งถือว่าเป็นเวลาเริ่มต้นแห่งการล้มละลายและขณะศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด จำเลยที่ 2 ยังเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวอยู่ ที่ดินดังกล่าวจึงเป็นทรัพย์สินในคดีล้มละลายอันอาจแบ่งแก่เจ้าหนี้ได้ ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 109 (1) ผู้ร้องจึงมีอำนาจจัดการที่ดินดังกล่าวของจำเลยที่ 2 เพื่อแบ่งแก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย ประกอบกับจำเลยที่ 2 ซึ่งถูกปลดจากการล้มละลายยังมีหน้าที่ช่วยในการจำหน่ายและแบ่งทรัพย์สินของตนซึ่งตกอยู่กับเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต้องการ ดังนั้น แม้ผู้ร้องจะยื่นคำร้องหลังจากจำเลยที่ 2 ได้รับการปลดจากการล้มละลายแล้วก็ตาม เมื่อทรัพย์สินดังกล่าวตกอยู่ในอำนาจของผู้ร้องในขณะเวลาเริ่มต้นแห่งการล้มละลาย ผู้ร้องจึงมีอำนาจยื่นคำร้องอันเกี่ยวด้วยทรัพย์สินอันอาจแบ่งได้ในคดีล้มละลายได้
สำหรับการจดทะเบียนจำนองเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2549 นั้น เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2549 จำเลยที่ 2 กู้ยืมเงินจากผู้คัดค้านไปชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองที่ดินตามคำร้องต่อธนาคาร ก. และในวันเดียวกันจำเลยที่ 2 นำที่ดินมาจดทะเบียนจำนองแก่ผู้คัดค้านอันอยู่ในระยะเวลาสามเดือนก่อนมีการขอให้จำเลยที่ 2 ล้มละลายก็ตาม แต่การที่จำเลยที่ 2 ทำสัญญาจำนองกับผู้คัดค้าน ซึ่งเป็นสหกรณ์ออมทรัพย์ก็เพื่อนำเงินที่ได้จากการจำนองต่อผู้คัดค้านมาชำระหนี้ให้แก่ธนาคาร ก. ซึ่งเป็นผู้รับจำนองที่ดินดังกล่าวอยู่ ทั้งเมื่อจำเลยที่ 2 ได้รับเงินจากผู้คัดค้านแล้ว จำเลยที่ 2 ก็นำเงินดังกล่าวไปชำระหนี้และไถ่ถอนจำนองจากธนาคาร ก. แล้วนำที่ดินที่ไถ่ถอนจำนองนั้นมาจดทะเบียนจำนองต่อผู้คัดค้านในทันที กรณีจึงเป็นเพียงการเปลี่ยนสถาบันการเงินผู้รับจำนอง เช่นนี้ การจดทะเบียนจำนองที่ดินระหว่างจำเลยที่ 2 และผู้คัดค้านเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2549 จึงเป็นเพียงสัญญาจำนองที่สืบเนื่องมาจากสัญญาจำนองเดิมเท่านั้น ไม่อาจถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยมุ่งหมายให้เจ้าหนี้คนหนึ่งคนใดได้เปรียบเจ้าหนี้อื่น ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 115 จึงไม่อาจเพิกถอนการจดทะเบียนจำนองได้ ส่วนที่จำเลยที่ 2 จดทะเบียนไถ่ถอนจำนองและจำนองที่ดินตามคำร้องแก่ผู้คัดค้าน เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2550 วันที่ 16 พฤษภาคม 2551 วันที่ 2 มิถุนายน 2552 และวันที่ 16 ธันวาคม 2552 นั้น เป็นการกระทำภายหลังจากวันที่จำเลยที่ 2 ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว ซึ่งเมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 2 เด็ดขาดแล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวมีอำนาจจัดการกิจการและทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 ห้ามมิให้จำเลยที่ 2 กระทำการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินหรือกิจการของตน ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 และมาตรา 24 ดังนั้น การจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองและจำนองที่ดินที่จำเลยที่ 2 กระทำขึ้นในวันดังกล่าวเป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย จึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองล้มละลาย ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสองเด็ดขาดและพิพากษาให้ล้มละลาย
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2549 จำเลยที่ 2 กู้ยืมเงินจากผู้คัดค้านนำไปชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองที่ดินตราจองที่ตราว่า “ได้ทำประโยชน์แล้ว” เลขที่ 80 ตำบลท่าแซะ อำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร ต่อธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ภายหลังไถ่ถอนจำนองแล้วในวันเดียวกันจำเลยที่ 2 จดทะเบียนจำนองที่ดินแก่ผู้คัดค้านซึ่งเป็นเจ้าหนี้ก่อนมีการขอให้จำเลยที่ 2 ล้มละลายเพียง 5 วัน อันเป็นการกระทำในระหว่างระยะเวลาสามเดือนก่อนมีการขอให้จำเลยที่ 2 ล้มละลาย โดยมุ่งหมายให้เจ้าหนี้คนหนึ่งคนใดได้เปรียบแก่เจ้าหนี้อื่น จากนั้นวันที่ 19 กรกฎาคม 2550 จำเลยที่ 2 จดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่ดินและจดทะเบียนจำนองแก่ผู้คัดค้านใหม่ในวันเดียวกันและเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2551จำเลยที่ 2 จดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่ดินและจดทะเบียนจำนองแก่ผู้คัดค้านในวันเดียวกันอีก หลังจากนั้นวันที่ 1 มิถุนายน 2552 จำเลยที่ 2 จดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่ดินและจดทะเบียนจำนองแก่ผู้คัดค้านในวันเดียวกันอีก ต่อมาวันที่ 16 ธันวาคม 2552 จำเลยที่ 2 จดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่ดินและจดทะเบียนจำนองแก่ผู้คัดค้านในวันเดียวกันอีก อันเป็นการกระทำภายหลังจากวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 2 เด็ดขาด ซึ่งจำเลยที่ 2 ไม่มีอำนาจกระทำได้ เป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 24 ตกเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 ขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนจำนองเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2549 การจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองและจำนองเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2550 วันที่ 16 พฤษภาคม 2551 วันที่ ๒ มิถุนายน 2552 และวันที่ 16 ธันวาคม 2552 ระหว่างจำเลยที่ 2 กับผู้คัดค้านตลอดสายและให้กลับคืนสู่ฐานะเดิม หากไม่อาจดำเนินการได้ขอให้ถือเอาคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนา ในกรณีไม่สามารถกลับคืนสู่ฐานะเดิมได้ให้ผู้คัดค้านชดใช้ราคาเป็นเงิน 1,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษาจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 2 ยื่นคำคัดค้านว่า เดิมจำเลยที่ 2 นำที่ดินตราจองที่ตราว่า “ได้ทำประโยชน์แล้ว” เลขที่ 80 ไปจดทะเบียนจำนองเป็นประกันหนี้เงินกู้ของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุตรสาวไว้แก่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ขณะโจทก์ฟ้องล้มละลายจำเลยที่ 1 เป็นหนี้ประมาณ 500,000 บาท ขณะเดียวกันที่ดินมีราคาประเมิน 215,000 บาท ซึ่งไม่พอชำระหนี้ นายสมพร สามีของจำเลยที่ 2 จึงใช้เครดิตเงินเดือนไปกู้ยืมเงินจากผู้คัดค้านมาชำระหนี้ให้แก่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) โดยจำเลยที่ 2 ไถ่ถอนจำนองที่ดิน แล้วนำมาจดทะเบียนจำนองไว้แก่ผู้คัดค้าน ตามคำแนะนำของผู้จัดการธนาคารเจ้าหนี้ สาขาท่าแซะ อันเป็นการสมประโยชน์แก่ธนาคารเจ้าหนี้ หาทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบไม่ ส่วนการกู้ยืมเงินภายหลังพิทักษ์ทรัพย์เกิดจากผู้คัดค้านให้นายสมพรกู้ยืมเงินเพิ่มจนกว่าจะเต็มวงเงินเครดิตเงินเดือนตามวิธีปฏิบัติของผู้คัดค้านและการนำที่ดินไปจดทะเบียนจำนองเป็นเพียงเงื่อนไขในการเริ่มต้นกู้เท่านั้นและเป็นแต่เพียงการโอนสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาจำนองที่มีมาก่อนล้มละลายให้แก่ผู้คัดค้าน จึงไม่ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ขอให้ยกคำร้อง
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องไม่มีอำนาจยื่นคำร้อง เนื่องจากผู้ร้องยื่นคำร้องเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลา 3 ปี นับแต่วันที่ศาลพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ล้มละลาย จำเลยที่ 2 จึงพ้นจากการล้มละลายแล้ว ผู้ร้องไม่มีอำนาจจัดการทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 อีก จำเลยที่ 2 เป็นเพียงผู้นำทรัพย์สินมาจดทะเบียนจำนองเป็นประกันหนี้ของนายสมพรต่อผู้คัดค้าน จำเลยที่ 2 ไม่มีหนี้ต่อผู้คัดค้านโดยตรง หนี้ของนายสมพรยังคงเป็นหนี้ปกติ สิทธิเรียกร้องตามสัญญาจำนองยังไม่เกิด ผู้คัดค้านจึงไม่ได้รับทรัพย์ใด ๆ จากจำเลยที่ 2 อันจะทำให้เจ้าหนี้อื่นเสียเปรียบ ผู้คัดค้านรับจำนองที่ดินไว้โดยสุจริต ผู้คัดค้านไม่ต้องรับผิดชดใช้เงิน 1,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามคำร้อง เนื่องจากผู้คัดค้านเป็นเพียงผู้รับจำนองเท่านั้น ไม่เคยเข้าครอบครองหรือใช้ทรัพย์จำนอง ผู้ร้องจึงไม่อาจขอให้ผู้คัดค้านชำระเงินได้และหากนิติกรรมตกเป็นโมฆะ ผู้คัดค้านมีหน้าที่เพียงคืนต้นฉบับตราจองให้เท่านั้น ขอให้ยกคำร้อง
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้เพิกถอนการจดทะเบียนจำนองที่ดินตราจองที่ตราว่า “ได้ทำประโยชน์แล้ว” เลขที่ 80 ตำบลท่าแซะ อำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร ระหว่างจำเลยที่ 2 กับผู้คัดค้าน เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2549 และเพิกถอนการจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองและจำนอง เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2550 วันที่ 16 พฤษภาคม 2551 วันที่ 2 มิถุนายน 2552 และวันที่ 16 ธันวาคม 2552 ให้กลับคืนสู่ฐานะเดิม หากไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำสั่งของศาลแทนการแสดงเจตนา กับให้จำเลยที่ 2 และผู้คัดค้านร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนผู้ร้อง โดยในส่วนของจำเลยที่ 2 ให้หักจากกองทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 สำหรับค่าทนายความผู้ร้องว่าคดีเอง จึงไม่กำหนดให้ คำขออื่นให้ยก
จำเลยที่ 2 และผู้คัดค้านอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของที่ดินตามตราจองที่ตราว่า “ได้ทำประโยชน์แล้ว” เลขที่ 80 ตำบลท่าแซะ อำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร ซึ่งได้มาเมื่อปี 2526 เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2549 จำเลยที่ 2 ไถ่ถอนจำนองที่ดินดังกล่าวจากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) แล้วนำไปจดทะเบียนจำนองไว้แก่ผู้คัดค้านในวันเดียวกัน ก่อนวันที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองล้มละลายเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2549 หลังจากนั้นวันที่ 19 กรกฎาคม 2550 วันที่ 16 พฤษภาคม 2551 วันที่ 2 มิถุนายน 2552 และวันที่ 16 ธันวาคม 2552 จำเลยที่ 2 จดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่ดินและจดทะเบียนจำนองแก่ผู้คัดค้านในวันเดียวกันอีก ซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 2 เด็ดขาด แล้วเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2549
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 และผู้คัดค้านในข้อแรกว่า ผู้ร้องมีอำนาจยื่นคำร้องหรือไม่ ที่จำเลยที่ 2 และผู้คัดค้านอุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 2 ได้รับการปลดจากการล้มละลายเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2553 ผู้ร้องยื่นคำร้องหลังจากจำเลยที่ 2 พ้นจากการล้มละลายแล้ว ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องนั้น เห็นว่า แม้การปลดจากการล้มละลายมีผลทำให้จำเลยที่ 2 หลุดพ้นจากการล้มละลายและมีอำนาจจัดการกิจการและทรัพย์สินของตนได้ก็ตาม แต่จำเลยที่ 2 มีอำนาจจัดการกิจการและทรัพย์สินของตนที่ได้มานับตั้งแต่วันที่ได้รับการปลดจากการล้มละลายเท่านั้น เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติแล้วว่า ที่ดินตราจองตามคำร้องจำเลยที่ 2 ได้มาตั้งแต่ปี 2526 ก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 2 เด็ดขาด ซึ่งถือว่าเป็นเวลาเริ่มต้นแห่งการล้มละลายและขณะศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด จำเลยที่ 2 ยังเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินอยู่ ที่ดินจึงเป็นทรัพย์สินในคดีล้มละลายอันอาจแบ่งแก่เจ้าหนี้ได้ ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 109 (1) ผู้ร้องจึงมีอำนาจจัดการที่ดินของจำเลยที่ 2 เพื่อแบ่งแก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย ประกอบกับจำเลยที่ 2 ซึ่งถูกปลดจากการล้มละลายยังมีหน้าที่ช่วยในการจำหน่ายและแบ่งทรัพย์สินของตนซึ่งตกอยู่กับเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต้องการ ดังนั้น แม้ผู้ร้องจะยื่นคำร้องหลังจากจำเลยที่ 2 ได้รับการปลดจากการล้มละลายแล้วก็ตาม เมื่อทรัพย์สินตกอยู่ในอำนาจของผู้ร้องในขณะเวลาเริ่มต้นแห่งการล้มละลาย ผู้ร้องจึงมีอำนาจยื่นคำร้องอันเกี่ยวด้วยทรัพย์สินอันอาจแบ่งได้ในคดีล้มละลายได้
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 และผู้คัดค้านในข้อต่อไปว่า ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนจำนองและการไถ่ถอนจำนองระหว่างจำเลยที่ 2 กับผู้คัดค้านชอบหรือไม่ สำหรับการจดทะเบียนจำนองเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2549 นั้น ถึงแม้ข้อเท็จจริงได้ความจากทางนำสืบของผู้ร้องว่า เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2549 จำเลยที่ 2 กู้ยืมเงินจากผู้คัดค้านไปชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองที่ดินตามคำร้องต่อธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และในวันเดียวกันจำเลยที่ 2 นำที่ดินมาจดทะเบียนจำนองแก่ผู้คัดค้าน อันอยู่ในระยะเวลาสามเดือนก่อนมีการขอให้จำเลยที่ 2 ล้มละลายก็ตาม แต่การที่จำเลยที่ 2 ทำสัญญาจำนองกับผู้คัดค้าน ซึ่งเป็นสหกรณ์ออมทรัพย์ก็เพื่อนำเงินที่ได้จากการจำนองต่อผู้คัดค้านมาชำระหนี้ให้แก่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้รับจำนองที่ดินอยู่ ทั้งเมื่อจำเลยที่ 2 ได้รับเงินจากผู้คัดค้านแล้ว จำเลยที่ 2 ก็นำเงินไปชำระหนี้และไถ่ถอนจำนองจากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) แล้วนำที่ดินที่ไถ่ถอนจำนองนั้นมาจดทะเบียนจำนองต่อผู้คัดค้านในทันที กรณีจึงเป็นเพียงการเปลี่ยนสถาบันการเงินผู้รับจำนอง เช่นนี้ การจดทะเบียนจำนองที่ดินระหว่างจำเลยที่ 2 และผู้คัดค้านเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2549 จึงเป็นเพียงสัญญาจำนองที่สืบเนื่องมาจากสัญญาจำนองเดิมเท่านั้น ไม่อาจถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยมุ่งหมายให้เจ้าหนี้คนหนึ่งคนใดได้เปรียบเจ้าหนี้อื่น ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 115 จึงไม่อาจเพิกถอนการจดทะเบียนจำนองได้ ส่วนที่จำเลยที่ 2 จดทะเบียนไถ่ถอนจำนองและจำนองที่ดินตามคำร้องแก่ผู้คัดค้าน เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2550 วันที่ 16 พฤษภาคม 2551 วันที่ 2 มิถุนายน 2552 และวันที่ 16 ธันวาคม 2552 นั้น เป็นการกระทำภายหลังจากวันที่จำเลยที่ 2 ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว ซึ่งเมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 2 เด็ดขาดแล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียว มีอำนาจจัดการกิจการและทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 ห้ามมิให้จำเลยที่ 2 กระทำการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินหรือกิจการของตน ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 และมาตรา 24 ดังนั้น การจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองและจำนองที่ดินที่จำเลยที่ 2 กระทำขึ้นในวันดังกล่าวเป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย จึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 และผู้คัดค้านฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่เพิกถอนการจดทะเบียนจำนองระหว่างจำเลยที่ 2 และผู้คัดค้านเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2549 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำสั่งศาลล้มละลายกลาง ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ