คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1792/2559

แหล่งที่มา :

ย่อสั้น

โจทก์และจำเลยร่วมกันเล่นแชร์ จำเลยประมูลแชร์ไปแล้วออกเช็คผู้ถือไม่ได้ลงวันที่ระบุจำนวนเงินค่าแชร์มอบให้ ว. ไว้ โจทก์ยังไม่ได้ประมูลแชร์และได้รับเช็คดังกล่าวจาก ว. โดยสุจริตเพื่อชำระค่าแชร์ ต่อมาแชร์ล้มและ ว. หลบหนี โจทก์หมดโอกาสที่จะประมูลแชร์ได้ต่อไป โจทก์ชอบที่จะเรียกให้จำเลยชำระหนี้ค่าแชร์ที่ต้องส่งคืนให้โจทก์ได้ทันทีเมื่อวงแชร์ล้มตั้งแต่งวดวันที่ 20 สิงหาคม 2553 โจทก์ชอบที่จะลงวันที่สั่งจ่ายเช็คเป็นวันที่ 25 สิงหาคม 2553 ตามข้อตกลงเล่นแชร์แล้วนำไปเรียกเก็บเงินจากธนาคาร แต่โจทก์ลงวันที่สั่งจ่ายเช็คเป็นวันที่ 25 มกราคม 2557 ซึ่งเป็นวันหลังจากวงแชร์ล้มเป็นเวลากว่า 3 ปี จึงไม่อาจถือได้ว่าโจทก์กระทำการโดยสุจริตและจดวันตามที่ถูกต้องแท้จริงลงในเช็ค ตามความหมายแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 910 วรรคท้าย เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องเป็นระยะเวลาเกินกว่า 1 ปี นับแต่วันที่ 25 สิงหาคม 2553 ซึ่งเป็นเวลาที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ คดีโจทก์จึงขาดอายุความตามมาตรา 1002
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์โดยมิได้มีคำสั่งเกี่ยวกับค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้น เป็นการไม่ถูกต้องและเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาจึงเห็นควรหยิบยกขึ้นแก้ไขให้ถูกต้อง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247 (เดิม)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 62,199 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 60,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 62,199 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 60,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้
ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า โจทก์และจำเลยต่างเป็นสมาชิกวงแชร์ที่มีเจ้าของร้าน ธ. รุ่งเรืองยนต์ เป็นนายวงแชร์ แชร์วงนี้มีผู้เล่นรวม 18 มือ โดยโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของร้านสุวรรณมุ้งลวด เล่น 2 มือ ส่วนจำเลยซึ่งเป็นเจ้าของอู่เฉลิมซ่อมรถยนต์เล่น 1 มือ
การเล่นแชร์มีข้อตกลงว่า งวดแรก นายวงแชร์เรียกเก็บเงินมือละ 50,000 บาท ส่วนงวดถัดไปเรียกเก็บเงินมือละ 30,000 บาท โดยการชำระค่าแชร์สามารถชำระเป็นเงินสดหรือเช็คก็ได้และเมื่อผู้ประมูลแชร์ได้มอบเช็คให้แก่นายวงแชร์ นายวงแชร์จะมอบเช็คของผู้ที่ประมูลได้ให้แก่ลูกวงที่ยังไม่ได้ประมูลซึ่งแชร์วงนี้จำเลยประมูลได้ไปแล้ว แต่โจทก์ยังไม่ได้ประมูล นายวงแชร์จึงนำเช็คพิพาททั้งสองฉบับที่จำเลยลงลายมือชื่อสั่งจ่ายไว้ตามเช็ค ส่งมอบให้แก่โจทก์ ต่อมาวงแชร์ล้ม โจทก์จึงลงวันเดือนปีในเช็ค เป็นวันที่ 25 มกราคม 2557 แล้วนำไปเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินทั้งสองฉบับตามใบแจ้งผลเช็คคืน
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์เป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายทำการโดยสุจริตจดวันตามที่ถูกต้องแท้จริงลงในเช็คพิพาท เป็นเหตุให้คดีไม่ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังได้ดังที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์และจำเลยร่วมกันเล่นแชร์ตามรายการเล่นแชร์ โดยจำเลยประมูลแชร์ไปแล้ว ส่วนโจทก์ยังไม่ได้ประมูลแชร์แต่ได้รับเช็ค ซึ่งเป็นเช็คผู้ถือไว้ในครอบครองโดยได้รับมาจาก
นายวงแชร์โดยสุจริตเพื่อชำระค่าแชร์ก็ตาม แต่ต่อมาเมื่อนายวงแชร์หลบหนีและแชร์วงนี้ล้มเมื่อเดือนสิงหาคม 2553 ตามข้ออ้างของโจทก์ โจทก์ย่อมหมดโอกาสที่จะประมูลแชร์ได้ต่อไป และโจทก์ชอบที่จะเรียกให้จำเลยชำระหนี้ค่าแชร์ที่ต้องส่งคืนให้แก่โจทก์ได้ทันทีเมื่อวงแชร์ล้ม ดังนั้นตั้งแต่วงแชร์ล้มในงวดวันที่ 20 สิงหาคม 2553 โจทก์จึงชอบที่จะลงวันสั่งจ่ายในเช็คพิพาทเป็นวันที่ 25 สิงหาคม 2553 ตามข้อตกลงเล่นแชร์แล้วนำไปเรียกเก็บเงินจากธนาคารได้ เพราะโจทก์เป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายและวันสั่งจ่ายที่ลงในเช็คพิพาทก็ถือเป็นวันที่ถูกต้องแท้จริงแต่โจทก์มิได้กระทำ การที่โจทก์ลงวันสั่งจ่ายในเช็คพิพาทเป็นวันที่ 25 มกราคม 2557 ซึ่งเป็นวันหลังจากวงแชร์ล้มเป็นเวลากว่า 3 ปี แล้วนำไปเรียกเก็บเงินจึงไม่อาจถือได้ว่า โจทก์กระทำการโดยสุจริตและจดวันตามที่ถูกต้องแท้จริงลงในเช็คตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 910 วรรคท้าย ดังที่โจทก์ฎีกา เมื่อโจทก์ลงวันสั่งจ่ายในเช็ค โดยคลาดเคลื่อนต่อความเป็นจริงไปมาก ทั้งโจทก์นำคดีมาฟ้องเป็นระยะเวลาเกินกว่า 1 ปี นับแต่วันที่ 25 สิงหาคม 2553 ซึ่งเป็นเวลาที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ คดีโจทก์จึงขาดอายุความตามมาตรา 1002 และเป็นผลให้จำเลยไม่ต้องรับผิดชำระเงินตามเช็คให้แก่โจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์โดยมิได้มีคำสั่งเกี่ยวกับค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้น เป็นการไม่ถูกต้อง เนื่องจากปัญหานี้กับปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาจึงเห็นควรหยิบยกขึ้นแก้ไขให้ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247 (เดิม)
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share