คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 52/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

อำนาจในการตรวจสอบการจับกุมเป็นอำนาจเฉพาะของศาลชั้นต้นที่จะเป็นผู้ตรวจสอบว่าเด็กหรือเยาวชนที่พนักงานสอบสวนนำตัวมาอยู่ต่อหน้าศาลเพื่อให้ศาลตรวจสอบการจับกุมนั้น เป็นเด็กหรือเยาวชนซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดหรือไม่ การจับและการปฏิบัติต่อเด็กหรือเยาวชนเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งแล้ว ผู้ต้องหาจะอุทธรณ์หรือฎีกาไม่ได้

ย่อยาว

ผู้ต้องหายื่นคำร้องว่า ผู้ต้องหากับนายภัทรธร ถูกจับเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2558 เวลา 15 นาฬิกา ข้อหาร่วมกันพยายามจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 หลังการจับกุมเจ้าพนักงานตำรวจนำตัวผู้ต้องหากับนายภัทรธรไปที่สถานีบริการน้ำมัน ปตท. เมื่อไปถึงมีชาย 3 คน รุมทำร้ายผู้ต้องหา ใส่กุญแจมือและพาตัวไปที่มนธิรา รีสอร์ท ห้องพักหมายเลข 5 และมีชาย 7 คน เข้ารุมทำร้ายผู้ต้องหากับนายภัทรธรเพื่อให้บอกว่ายังมียาเสพติดซุกซ่อนอยู่อีกหรือไม่ หลังจากนั้นเจ้าพนักงานตำรวจนำตัวผู้ต้องหาไปขยายผลการจับกุมจนจับนายธนากรหรือหน่อยได้ ผู้ต้องหาถูกนำตัวไปขังไว้ที่สถานีตำรวจภูธรเมืองอุบลราชธานี วันที่ 12 มีนาคม 2558 โดยไม่ได้จัดทำบันทึกการจับกุมส่งพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ต่อมาวันที่ 13 มีนาคม2558 ผู้ต้องหายืมโทรศัพท์เคลื่อนที่ของญาติผู้ต้องหาด้วยกันโทรหาผู้ปกครอง จากนั้นจึงมีการทำบันทึกการจับกุมให้ผู้ต้องหาลงลายมือชื่อที่สถานีตำรวจภูธรเดชอุดม และนำตัวผู้ต้องหาไปส่งศาลเพื่อไต่สวนการจับซึ่งเกินกว่า 24 ชั่วโมง นับแต่เวลาที่ผู้ต้องหาถูกจับ
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดการไต่สวน และยกคำร้อง
ผู้ต้องหาอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
ผู้ต้องหาฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 73 ในเรื่องของการจับและการปฏิบัติต่อเด็กหรือเยาวชนบัญญัติว่า เมื่อเด็กหรือเยาวชนมาอยู่ต่อหน้าศาล ให้ศาลตรวจสอบว่าเป็นเด็กหรือเยาวชนซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดหรือไม่ การจับและการปฏิบัติต่อเด็กหรือเยาวชนเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ หากการจับเป็นไปโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ก็ให้ปล่อยตัวเด็กหรือเยาวชนไป ในคดีนี้ศาลชั้นต้นคือศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดอุบลราชธานีตรวจสอบการจับกุมและมีคำสั่งว่า ศาลพิเคราะห์ข้อเท็จจริงจากการสอบผู้ร้องและการตรวจเอกสารของผู้ร้องแล้วเห็นว่า ผู้ต้องหาเป็นผู้ซึ่งต้องหาว่ากระทำผิดจริง การจับเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย โดยผู้ต้องหายื่นคำร้องลงวันที่ 14 มีนาคม 2558 ขอให้พิจารณาว่า การควบคุมมีการทำร้ายร่างกายผู้ต้องหาเพื่อให้ได้ซึ่งข้อมูลเกี่ยวกับยาเสพติดหลังจากที่มีการจับกุมชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ซึ่งศาลชั้นต้นสั่งงดการไต่สวน เห็นว่า กรณีดังกล่าวสืบเนื่องมาจากการขอให้ตรวจสอบการจับกุมซึ่งศาลชั้นต้นได้พิจารณา ณ ปัจจุบันในขณะนั้นแล้วมีคำสั่งว่าการจับเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย อำนาจในการตรวจสอบการจับกุมนั้นจึงเป็นอำนาจเฉพาะของศาลชั้นต้นที่พิจารณาตรวจสอบการจับกุมเด็กหรือเยาวชน เมื่อพนักงานสอบสวนนำตัวเด็กหรือเยาวชนไปศาลเพื่อตรวจสอบการจับกุมและเมื่อเด็กหรือเยาวชนอยู่ต่อหน้าศาล ศาลชั้นต้นจะเป็นผู้ตรวจสอบว่าเป็นเด็กหรือเยาวชนซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดหรือไม่ การจับและการปฏิบัติต่อเด็กหรือเยาวชนเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งแล้ว ผู้ต้องหาจะอุทธรณ์หรือฎีกาอีกไม่ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ต้องหา และศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาผู้ต้องหาจึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 และยกฎีกาผู้ต้องหา

Share