คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1518/2535

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยออกเช็คพิพาทแลกเงินสดจาก ว.ต่อมาว. นำเช็คดังกล่าวไปแลกเงินสดจากโจทก์ร่วม การออกเช็คแลกเงินสดของจำเลยดังกล่าวมิใช่เป็นการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริง จึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534มาตรา 4 ซึ่งเป็นกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังที่จำเลยออกเช็คจำเลยย่อมพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิด ตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคสอง.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นายชัยพร ส่องแสงจันทร์ ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดการใช้เช็ค พ.ศ.2497 มาตรา 3 อนุมาตรา 5ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ลงโทษจำคุกกระทงละ 4 เดือน รวมสองกระทง 8 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า จำเลยได้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็ค 2 ฉบับ ตามเอกสารหมาย จ.1 และ จ.3 ให้นางวิภา แซ่ลิ้ม ซึ่งได้นำไปแลกเงินสดจากโจทก์ร่วม แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินตามเอกสารหมาย จ.2และ จ.4 คดีมีปัญหาจะต้องวินิจฉัยเป็นประการแรกว่าจำเลยได้ออกเช็คหมาย จ.1 และ จ.3 แลกเงินสดจากนางวิภาหรือไม่ เห็นว่าโจทก์และโจทก์ร่วมมีนางวิภาเบิกความเป็นพยานว่า จำเลยออกเช็คหมายจ.1 และ จ.3 แลกเงินสดจากนางวิภาโดยมีร้อยตำรวจตรีจิโรจน์อนันตานนท์ พนักงานสอบสวนเบิกความสนับสนุน พยานจำเลยไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานโจทก์และโจทก์ร่วม ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ตามที่โจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบว่า จำเลยออกเช็คหมาย จ.1 และ จ.3แลกเงินสดจากนางวิภา แล้วนางวิภานำไปแลกเงินสดจากโจทก์ร่วม
ปัญหาประการต่อมามีว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามฟ้องโจทก์หรือไม่ เห็นว่า เนื่องจากขณะคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ปรากฏว่าพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 3 ได้ยกเลิกพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 บัญญัติว่า “ผู้ใดออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายโดยมีลักษณะหรือมีการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ (1) เจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น ฯลฯ” ดังนั้นการออกเช็คที่จะมีมูลความผิดตามพระราชบัญญัติดังกล่าวจะต้องปรากฏในเบื้องแรกว่ามีหนี้ที่จะต้องชำระก่อนแล้วจำเลยออกเช็คเพื่อชำระหนี้นั้นซึ่งเป็นหนี้ที่บังคับได้ตามกฎหมาย แต่ข้อเท็จจริงในคดีนี้ปรากฏตามที่โจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบว่า จำเลยออกเช็คหมาย จ.1 และ จ.3 เพื่อแลกเงินสดจากนางวิภาก่อนออกเช็คจำเลยและนางวิภาหาได้มีหนี้ต่อกันไม่ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า การออกเช็คแลกเงินสดของจำเลยดังกล่าวมิใช่เป็นการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงจึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534มาตรา 4 ซึ่งเป็นกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง ในกรณีเช่นนี้ ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยย่อมพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 2 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาโจทก์ร่วมฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share