คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 830/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ข้อพิพาทตามสิทธิเรียกร้องที่ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันเป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับห้างจำเลยที่ 1 ซึ่งมีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการกระทำการแทนห้างจำเลยที่ 1 และไม่มีข้อจำกัดอำนาจของหุ้นส่วนผู้จัดการไว้ จำเลยที่ 2 จึงลงลายมือชื่อเป็นคู่สัญญาแทนจำเลยที่ 1 ในสัญญาประนีประนอมยอมความได้โดยไม่ต้องประทับตราห้างจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 เป็นแต่เพียงผู้ออกเช็คชำระหนี้ของห้างจำเลยที่ 1ให้แก่โจทก์ความรับผิดของจำเลยที่ 3 เป็นความรับผิดตามเช็คในฐานะผู้สั่งจ่ายตามสัญญาประนีประนอมยอมความ จำเลยที่ 3 หาได้แสดงตนว่าเป็นหุ้นส่วนในห้างจำเลยที่ 1 ไม่ แม้จำเลยที่ 3 จะเป็นภริยาของจำเลยที่ 2 และได้ลงลายมือชื่อทางด้านห้างจำเลยที่ 1 ไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความ ซึ่งมีข้อความระบุว่า “การชำระหนี้จำเลยที่ 1 ได้ชำระด้วยเช็คซึ่งสั่งจ่ายโดยจำเลยที่ 3” ก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3 แสดงตนเป็นหุ้นส่วนของห้างจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3จึงไม่ต้องร่วมรับผิดตามสัญญาประนีประนอมยอมความด้วย จำเลยที่ 1 ที่ 2 เป็นหนี้โจทก์อยู่ 839,000 บาท ห้างจำเลยที่ 1 ได้ปิดกิจการตั้งแต่ก่อนถูกฟ้องคดีนี้ ตัวอาคารห้างรวมทั้งที่ดินถูกธนาคารยึด นำขายทอดตลาดไปแล้ว จำเลยที่ 1 ที่ 2 ไม่มีทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้ จำเลยที่ 2ต้องอาศัยบุตรสาวอยู่ พฤติการณ์ต้องด้วยข้อสันนิษฐานของกฎหมายแล้วว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 มีหนี้สินล้นพ้นตัว.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสามเด็ดขาดและพิพากษาให้จำเลยทั้งสามล้มละลาย
จำเลยทั้งสามให้การว่า จำเลยที่ 2 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ตามลำพัง โจทก์คิดดอกเบี้ยเกินอัตรา จำเลยที่ 1 ที่ 2 มิได้เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว จำเลยที่ 3 ไม่ใช่คู่สัญญากับโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสามเด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ยี่ห้อวอลโว่ของโจทก์ ต่อมาโจทก์กับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน โดยฝ่ายจำเลยยินยอมผ่อนชำระหนี้ด้วยเช็คธนาคารศรีนคร จำกัด สาขาหาดใหญ่ ให้โจทก์จำนวน 13 ฉบับ มีจำเลยที่ 3 ภริยาของจำเลยที่ 2 เป็นผู้สั่งจ่ายเช็คและลงลายมือชื่อในสัญญาประนีประนอมยอมความด้วย จำเลยที่ 2 เป็นผู้สลักหลังเช็ค ตามสัญญาประนีประนอมยอมความเอกสารหมาย ป.จ.4 (ล.2) โจทก์เรียกเก็บเงินตามเช็คฉบับที่ 3 ได้ ส่วนเช็คฉบับที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 13ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน…
พิเคราะห์แล้ว ปัญหาว่า จำเลยที่ 1 เป็นคู่สัญญากับโจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความหรือไม่ เห็นว่า ตามสัญญาประนีประนอมยอมความเอกสารหมาย ป.จ.4 (ล.2) มีข้อความเบื้องต้นว่า “เพื่อระงับข้อพิพาทตามสิทธิเรียกร้องซึ่งบริษัทสวีเดนมอเตอร์ส จำกัด (ซึ่งต่อไปในสัญญานี้จะเรียกว่า “บริษัท”) มีอยู่ต่อห้างหุ้นส่วนจำกัดประพันธ์ออโต้ โดยนายประพันธ์ สาลิฟา หุ้นส่วนผู้จัดการ (ซึ่งต่อไปในสัญญานี้จะเรียกว่า “ห้างหุ้นส่วน…” แสดงให้เห็นว่า ข้อพิพาทตามสิทธิเรียกร้องที่ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันเป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับห้างจำเลยที่ 1 ซึ่งมีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการกระทำการแทนห้างจำเลยที่ 1 ประกอบกับตามหนังสือรับรองของสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทเอกสารหมาย ป.จ.3 จำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการห้างจำเลยที่ 1 และไม่มีข้อจำกัดอำนาจของหุ้นส่วนผู้จัดการไว้ จำเลยที่ 2 จึงลงลายมือชื่อเป็นคู่สัญญาแทนจำเลยที่ 1 ในสัญญาประนีประนอมยอมความได้โดยไม่ต้องประทับตราห้างจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงเป็นคู่สัญญากับโจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ
ปัญหาว่า จำเลยที่ 3 จะต้องร่วมรับผิดตามสัญญาประนีประนอมยอมความด้วยหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 3 ขอให้ล้มละลายโดยอาศัยมูลหนี้ที่จำเลยที่ 3 ต้องร่วมรับผิดตามสัญญาประนีประนอมยอมความ แต่ตามสัญญาประนีประนอมยอมความเอกสารหมาย ป.จ.4 (ล.2) จำเลยที่ 3 เป็นแต่เพียงผู้ออกเช็ครวม 13 ฉบับชำระหนี้ของห้างจำเลยที่ 1ให้แก่โจทก์ และลงลายมือชื่อไว้ในสัญญา ตามสัญญาดังกล่าวมีข้อความระบุไว้ชัดแจ้งว่า “…และการชำระเงินดังกล่าว “ห้างหุ้นส่วน” ได้ชำระด้วยเช็คซึ่งสั่งจ่ายโดยนางจริยา สาลิฟา (จำเลยที่ 3)… จำนวน13 ฉบับ…” ตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวมาเห็นได้ว่า จำเลยที่ 3 เป็นแต่เพียงผู้ออกเช็คชำระหนี้ของห้างจำเลยที่ 1 ให้แก่โจทก์ ความรับผิดของจำเลยที่ 3 เป็นความรับผิดตามเช็คในฐานะผู้สั่งจ่าย ซึ่งเช็คฉบับที่ 4 ถึงที่ 13 ที่ยังเรียกเก็บไม่ได้นั้นได้ขาดอายุความไปแล้ว ตามสัญญาดังกล่าวจำเลยที่ 3 หาได้แสดงตนว่าเป็นหุ้นส่วนในห้างจำเลยที่ 1 ไม่ แม้จำเลยที่ 3 จะเป็นภริยาของจำเลยที่ 2 และได้ลงลายมือชื่อทางด้านห้างจำเลยที่ 1 ไว้ในสัญญาก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3 แสดงตนว่าเป็นหุ้นส่วนของห้างจำเลยที่ 1ประกอบกับตามที่โจทก์นำสืบมาก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 3 แสดงตนว่าเป็นหุ้นส่วนของห้างจำเลยที่ 1 ด้วยกิริยาหรือวาจาแต่อย่างใด จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดตามสัญญาประนีประนอมยอมความด้วย
ปัญหาว่า โจทก์ได้นำดอกเบี้ยเกินอัตราจำนวน 600,000 บาทเศษมารวมเป็นยอดหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความด้วยหรือไม่ ในข้อนี้จำเลยที่ 2 เบิกความตอบคำถามค้านของทนายโจทก์ว่า ในวันทำสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น ก่อนที่จะมีการทำสัญญากัน ฝ่ายโจทก์แจ้งว่าฝ่ายจำเลยเป็นหนี้อยู่ 1,300,000 บาทเศษ และมีดอกเบี้ยอีก 600,000 บาทเศษ รวมเป็นเงิน 1,900,000 บาทเศษ ตามรายการหนี้เอกสารหมาย ล.1หลังจากทำสัญญาประนีประนอมยอมความเอกสารหมาย ล.2 แล้ว ทางฝ่ายจำเลยไม่เคยมีหนังสือทักท้วงหรือบอกล้าง และจำเลยที่ 1 ไม่เคยฟ้องโจทก์ขอเพิกถอนสัญญาดังกล่าวแต่อย่างใด จำเลยที่ 3 ก็เบิกความตอบคำถามค้านของทนายโจทก์ในทำนองเดียวกัน เห็นว่า ตามคำเบิกความของจำเลยที่ 2 ที่ 3 ดังกล่าวประกอบกับพฤติการณ์แห่งคดีบ่งชี้ว่า หนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นหนี้ที่ชอบด้วยกฎหมาย ข้ออ้างของจำเลยทั้งสามไม่มีเหตุผลสนับสนุนและรับฟังไม่ได้ว่าโจทก์ได้นำดอกเบี้ยเกินอัตราจำนวน 600,000 บาทเศษ มารวมเป็นยอดหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความด้วย
ปัญหาว่า จำเลยทั้งสามมีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่ ได้วินิจฉัยมาแล้วว่า โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 3 ขอให้ล้มละลายโดยอาศัยมูลหนี้ที่จำเลยที่ 3 ต้องร่วมรับผิดตามสัญญาประนีประนอมยอมความ เมื่อจำเลยที่ 3 ไม่ต้องร่วมรับผิดตามสัญญาประนีประนอมยอมความด้วยแล้ว จึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 3 มีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่ สำหรับจำเลยที่ 1 ที่ 2 นั้น ได้ความว่า โจทก์ไม่ได้นำดอกเบี้ยเกินอัตราจำนวน 600,000 บาทเศษ มารวมเป็นยอดหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความและจำเลยที่ 1 ที่ 2 เป็นหนี้โจทก์อยู่ 839,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย จำเลยที่ 2 เบิกความตอบคำถามค้านทนายโจทก์รับว่า ห้างจำเลยที่ 1 ได้ปิดกิจการตั้งแต่ก่อนถูกฟ้องคดีนี้ ตัวอาคารที่ทำการห้างจำเลยที่ 1 รวมทั้งที่ดินถูกธนาคารกรุงเทพ จำกัด นำยึดขายทอดตลาดไปแล้ว จำเลยที่ 1 ที่ 2 ไม่มีทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้ จำเลยที่ 2 ต้องอาศัยบุตรสาวอยู่ เห็นว่าพฤติการณ์ดังกล่าวมาต้องด้วยข้อสันนิษฐานของกฎหมายแล้วว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 มีหนี้สินล้นพ้นตัว เมื่อจำเลยที่ 1 ที่ 2 ไม่ได้นำสืบว่าอาจชำระหนี้ได้ทั้งหมด ทั้งไม่มีเหตุที่ไม่สมควรให้จำเลยที่ 1ที่ 2 ล้มละลายแต่อย่างใด ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ที่ 2 เด็ดขาดนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย แต่ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 3 เด็ดขาดด้วยนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสามฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share