แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คชก.ตำบล ค. วินิจฉัยว่า ผู้ร้องสอดที่ 3 เป็นผู้เช่าทำนาของจำเลยแต่ผู้เดียว ยังไม่ถึงที่สุด เพราะ คชก.จังหวัดยังไม่ได้วินิจฉัยอุทธรณ์บุคคลอื่นที่อ้างว่าตนเป็นผู้เช่านาของจำเลยด้วย การที่ผู้ร้องสอดที่ 3 อาศัยสิทธิของ คชก.ตำบล ค.ที่ยังไม่ถึงที่สุดมาฟ้องขอให้บังคับให้จำเลยโอนขายที่พิพาทให้ จึงเป็นการฟ้องโดยที่ผู้ร้องสอดที่ 3ยังไม่มีอำนาจตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมพ.ศ. 2524 มาตรา 58 แม้จำเลยเจ้าของที่ดินไม่ได้แจ้งให้ผู้เช่านาทราบก่อนว่าจะขายที่พิพาทเป็นการละเว้นการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 มาตรา 53 ก็มีผลเพียงทำให้จำเลยไม่อาจโอนที่ดินพิพาทได้เท่านั้น แต่กรณีนี้เป็นกรณีที่โจทก์ที่ 1 กับโจทก์ที่ 2 และผู้ร้องสอดฟ้องจำเลยโดยอาศัยสิทธิตามสัญญาจะซื้อจะขายซึ่งจะต้องพิจารณาว่าฝ่ายใดเป็นฝ่ายผิดสัญญา ดังนั้น หากข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาและไม่ใช่เป็นความผิดของโจทก์ที่ 1กับที่ 2 หรือผู้ร้องสอดที่ 1 โจทก์ที่ 1 และที่ 2 หรือผู้ร้องสอดที่ 1 ก็ยังมีอำนาจฟ้องจำเลยเพื่อเรียกมัดจำคืนหรือชดใช้ค่าเสียหายได้ แม้โจทก์ทั้งสองจะมีคำขอให้จำเลยคืนมัดจำและชดใช้ค่าเสียหายด้วย แต่เมื่อศาลชั้นต้นก็ไม่ได้กำหนดประเด็นว่าฝ่ายใดเป็นฝ่ายผิดสัญญา อันเป็นประเด็นข้อพิพาทสำคัญที่คู่ความจะต้องนำสืบให้ได้ความ และคดียังมีข้อโต้แย้งอีกมาก ซึ่งหากคู่ความยังติดใจในปัญหาเรื่องผิดสัญญาก็อาจนำคดีไปฟ้องร้องกันใหม่ได้ ดังนั้นเมื่อศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ที่ 1 กับโจทก์ที่ 2 และผู้ร้องสอดมีอำนาจฟ้องจำเลยเพื่อเรียกมัดจำคืนหรือชดใช้ค่าเสียหายได้ กรณีเช่นนี้ศาลฎีกาจึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของโจทก์ที่ 1 กับที่ 2 และผู้ร้องสอดที่ 1 กับที่ 3อีก เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง คดีนี้แม้ผู้ร้องสอดที่ 2 จะไม่ได้ฎีกา แต่ผู้ร้องสอดที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยจึงเป็นการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ แม้ผู้ร้องสอดที่ 1 จะฎีกาฝ่ายเดียว ศาลฎีกาก็พิพากษาให้มีผลถึงผู้ร้องสอดที่ 2ด้วย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245(1)ประกอบด้วยมาตรา 247 และสำหรับคดีนี้ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าผู้ร้องสอดที่ 1 ซึ่งมิได้ยื่นฎีกายังไม่ทราบคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ทำให้ผู้ร้องสอดที่ 1 มีสิทธิยื่นฎีกา แต่ โจทก์ที่ 1 กับที่ 2 และผู้ร้องสอดที่ 3 ได้ยื่นอุทธรณ์ คำสั่งดังกล่าวต่อศาลอุทธรณ์ไว้แล้ว เมื่อศาลฎีกาได้ วินิจฉัยคดีประเด็นในคดีนี้แล้วว่าไม่ตัดสิทธิคู่ความที่จะ ฟ้องเป็นคดีใหม่ จึงไม่มีประโยชน์ที่จะส่งไปให้ศาลอุทธรณ์ พิจารณาอีก
ย่อยาว
คดีสามสำนวนนี้ศาลชั้นต้นรวมพิจารณาและพิพากษาเข้าด้วยกันโดยให้เรียกนายไพฑูรย์ แย้มเผื่อน เป็นโจทก์ที่ 1นายประสิทธิ์ โพธิ์นิ่มแดง เป็นโจทก์ที่ 2 นายสุขเกษม มูฮำหมัด เป็นผู้ร้องสอดที่ 1 นายทวีศักดิ์ เมฆเจริญลาภ เป็นผู้ร้องสอดที่ 2 นายเฟื่อง พุทธรักษา เป็นผู้ร้องสอดที่ 3 และเรียกนายถนัด ธาราพิศ เป็นจำเลย
สำนวนแรกโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่าเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2530 จำเลยทำสัญญาจะขายที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 6707 เฉพาะส่วนของจำเลยเนื้อที่ประมาณ 150 ไร่ราคาประมาณ 1,150,000 บาท แก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 โจทก์ที่ 1และที่ 2 วางมัดจำนวน 600,000 บาท ในวันทำสัญญา จำเลยสัญญาว่าจะไปจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ในวันที่ 27 เมษายน2530 เมื่อครบกำหนดจำเลยไม่ยอมจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสอง จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา ขอให้บังคับจำเลยโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 6707 จังหวัดฉะเชิงเทรา ให้แก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 หากโอนไม่ได้ให้จำเลยคืนมัดจำ 600,000 บาทและชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 จำนวน 600,000 บาทในกรณีที่ยังโอนได้แต่จำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ
ผู้ร้องสอดที่ 1 และที่ 2 ร้องสอดว่า จำเลยได้ทำสัญญาจะขายที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ร้องสอดที่ 1 และที่ 2 ต่อมาก่อนครบกำหนดสัญญาจำเลยกับโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ได้ร่วมกันกระทำละเมิดต่อผู้ร้องสอดที่ 1 และที่ 2 โดยจำเลยได้ทำสัญญาจะขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ทั้ง ๆ ที่โจทก์ที่ 1 และที่ 2รู้อยู่แล้วว่าจำเลยได้ทำสัญญาจะขายที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ร้องสอดที่ 1 และที่ 2 ไว้ก่อนแล้ว ทั้งได้กำหนดวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์กันก่อนที่สัญญาจะซื้อขายระหว่างจำเลยกับผู้ร้องสอดที่ 1 และที่ 2 จะครบกำหนด อันเป็นการกระทำโดยไม่สุจริตและทำให้ผู้ร้องสอดที่ 1 และที่ 2 เสียเปรียบ ขอให้ยกฟ้องและมีคำสั่งให้เพิกถอนสัญญาจะซื้อขาย ฉบับลงวันที่ 8 เมษายน 2530ระหว่างโจทก์ที่ 1 และที่ 2 กับจำเลย
โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ให้การแก้คำร้องสอดของผู้ร้องสอดที่ 1และที่ 2 ว่า ผู้ร้องสอดที่ 1 และที่ 2 ยังไม่อยู่ในฐานะที่จะจดทะเบียนสิทธิได้ก่อนโจทก์ที่ 1 และที่ 2 เพราะเป็นแต่เพียงผู้จะซื้อที่ได้ชำระราคาบางส่วนเท่านั้นและสิทธิของผู้ร้องสอดยังไม่ถึงกำหนดที่จะบังคับได้ โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ได้ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทกับจำเลยโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนไม่ทราบว่าจำเลยได้ทำสัญญาจะขายที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ร้องสอดที่ 1และที่ 2 ไว้ก่อนแล้ว นอกจากจำเลยได้ทำสัญญาจะขายที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ร้องสอดที่ 1 และที่ 2 แล้ว ต่อมาเมื่อวันที่ 21ตุลาคม 2529 จำเลยได้ทำสัญญาขายฝากที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ร้องสอดที่ 1 และที่ 2 ถือได้ว่าผู้ร้องสอดที่ 1 และที่ 2 กับจำเลยเปลี่ยนเจตนามาบังคับกันตามสัญญาขายฝาก อันเป็นการแปลงหนี้ใหม่และจำเลยได้ไถ่ที่ดินพิพาทคืนภายในกำหนดแล้ว และแม้ว่าจำเลยยังไม่ได้ไถ่ถอนที่ดินพิพาทตามสัญญาขายฝาก ที่ดินพิพาทก็คงเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องสอดที่ 1 และที่ 2 แม้โจทก์จะฟ้องให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อขายก็ไม่กระทบกระเทือนต่อสิทธิที่ผู้ร้องสอดที่ 1 และที่ 2 มีอยู่แล้ว ขอให้ยกคำร้อง
จำเลยยื่นคำให้การแก้คำร้องสอดของผู้ร้องสอดที่ 1 และที่ 2ว่า เนื่องจากจำเลยกับผู้ร้องสอดที่ 1 และที่ 2 ตกลงกันแปลงหนี้ใหม่จากสัญญาจะซื้อขายดังกล่าวเป็นสัญญาขายฝาก ต่อมาจำเลยไถ่ถอนการขายฝากแล้ว จำเลยกับผู้ร้องสอดที่ 1 และที่ 2ไม่มีเจตนาที่จะปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อขายกันต่อไป ผู้ร้องสอดที่ 1 และที่ 2 จึงไม่มีสิทธิที่จะบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อขายนั้น ขอให้เพิกถอนสัญญาจะซื้อขายระหว่างผู้ร้องสอดที่ 1 และที่ 2 กับจำเลยหรือให้มีคำสั่งว่าสัญญาจะซื้อขายดังกล่าวไม่มีผลบังคับ หรือยกคำร้องสอด
สำนวนที่สอง นายเฟื่อง พุทธรักษาโดยผู้ร้องสอดที่ 3ฟ้องว่าผู้ร้องสอดที่ 3 เป็นผู้เช่าที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 6707 เฉพาะส่วนของจำเลยเนื้อที่ประมาณ 150 ไร่จากนายผล แย้มเผื่อน เพื่อทำนา ต่อมาที่ดินพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย ผู้ร้องสอดที่ 3 ยังคงเป็นผู้เช่าที่ดินพิพาททำนามาจนถึงปัจจุบัน เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2530 จำเลยได้ตกลงขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 กับผู้ร้องสอดที่ 1และที่ 2 โดยไม่ได้แจ้งให้ผู้ร้องสอดที่ 3 ทราบก่อนอันเป็นการไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมพ.ศ. 2524 มาตรา 53 ผู้ร้องสอดที่ 3 ได้ยื่นคำร้องขอให้คณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตำบลคลองหลวงแพ่งวินิจฉัยให้จำเลยซึ่งเป็นผู้ให้เช่านาขายที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ร้องสอดที่ 3 คชก.ตำบลคลองหลวงแพ่งมีคำวินิจฉัยให้จำเลยขายที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ร้องสอดที่ 3 แต่เพียงผู้เดียว ต่อมาเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2531 ประธาน คชก.ตำบลคลองหลวงแพ่งแจ้งความจำนงของจำเลยว่าจะขายที่ดินพิพาทให้ผู้ร้องสอดที่ 3ทราบ และผู้ร้องสอดที่ 3 ได้แสดงความจำนงที่จะซื้อที่ดินพิพาทโดยตกลงกับจำเลยว่าจำเลยจะขายที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของจำเลยเนื้อที่ 150 ไร่ ให้แก่ผู้ร้องสอดที่ 3 ในราคา 1,150,000 บาทถ้าที่ดินขาดจำนวนไปก็ลดราคาลงตามส่วน วิธีการซื้อขายและการชำระราคาให้เป็นไปตามสัญญาจะซื้อขายที่จำเลยจะทำกับผู้ร้องสอดที่ 3 ในวันที่ 29 มกราคม 2531 หรือทำสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดชำระราคาและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์กันในวันที่1 กุมภาพันธ์ 2531 แต่จำเลยไม่ปฏิบัติตามที่ตกลงกันดังกล่าว โดยจำเลยอ้างว่าไม่สามารถปฏิบัติตามที่ตกลงกับผู้ร้องสอดที่ 3ดังกล่าวนั้นได้ ผู้ร้องสอดที่ 3 จึงยื่นคำร้องขอให้คชก.ตำบลคลองหลวงแพ่ง วินิจฉัยให้จำเลยขายที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ร้องสอดที่ 3 อีก และ คชก.ตำบลคลองหลวงแพ่งได้วินิจฉัยเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2531 ให้จำเลยโอนที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ร้องสอดที่ 3 ภายในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2531 ต่อมาเมื่อถึงวันดังกล่าวจำเลยก็ไม่สามารถโอนที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ร้องสอดที่ 3 ได้ จำเลยกับผู้ร้องสอดที่ 3 จึงตกลงกำหนดวิธีการชำระเงินใหม่โดยผู้ร้องสอดที่ 3 วางมัดจำค่าที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2531 จำนวน 700,000 บาท ราคาที่ดินพิพาทส่วนที่เหลืออีกจำนวน 450,000 บาท ตกลงจะชำระกันในวันที่16 กุมภาพันธ์ 2531 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยจะไปจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ร้องสอดที่ 3 เมื่อถึงกำหนดในวันที่ 16 กุมภาพันธ์2531 จำเลยไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าวนั้น ผู้ร้องสอดที่ 3จึงไปอายัดที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของจำเลยไว้ที่สำนักงานที่ดินจังหวัดฉะเชิงเทรา บัดนี้ พ้นกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์ คำวินิจฉัยของ คชก.ตำบลคลองหลวงแพ่งดังกล่าวข้างต้นแล้ว ขอให้บังคับจำเลยให้ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของ คชก.ตำบลคลองหลวงแพ่ง โดยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 6707 เฉพาะส่วนของจำเลยจำนวน 150 ไร่ ให้แก่ผู้ร้องสอดที่ 3 และให้จำเลยรับชำระราคาที่ดินที่เหลือจำนวน 450,000 บาท ไปจากผู้ร้องสอดที่ 3 หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การว่า ผู้ร้องสอดที่ 3 เป็นผู้เช่าที่ดินพิพาทเพื่อทำนาจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท จำเลยมีสิทธิที่จะขายหรือไม่ขายที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ร้องสอดที่ 3 ก็ได้คชก.ตำบลคลองหลวงแพ่งไม่มีอำนาจที่จะวินิจฉัยให้จำเลยขายที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ร้องสอดที่ 3 นอกจากนี้คำวินิจฉัยของคชก.ตำบลคลองหลวงแพ่ง มีขึ้นภายหลังจากที่จำเลยได้ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทไว้กับบุคคลอื่น ข้อตกลงที่ว่าจำเลยจะขายที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ร้องสอดที่ 3 จึงเป็นข้อตกลงที่เกิดขึ้นโดยจำเลยไม่ได้สมัครใจ ข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นโมฆะขอให้ยกฟ้อง และพิพากษาว่าการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างผู้ร้องสอดที่ 3 และจำเลยตกเป็นโมฆะ
โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ร้องสอด โจทก์ที่ 1 และที่ 2 มีสิทธิตามสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทดีกว่าผู้ร้องสอดที่ 3 ผู้ร้องสอดที่ 3 ทราบดีอยู่แล้วว่าจำเลยจะขายที่ดินพิพาทแก่โจทก์ที่ 1และที่ 2 ข้ออ้างของผู้ร้องสอดที่ 3 ที่ว่าผู้ร้องสอดที่ 3เป็นผู้เช่าที่ดินพิพาทแต่เพียงผู้เดียวจากจำเลยนั้นไม่เป็นความจริงยังมีผู้อื่นจำนวน 6 ราย เป็นผู้เช่าที่ดินพิพาทที่ดินส่วนที่ผู้ร้องสอดที่ 3 เช่านั้นไม่ได้อยู่ในส่วนที่เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย แต่อยู่ในส่วนที่เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ที่ 1 การที่ คชก.ตำบลคลองหลวงแพ่งได้วินิจฉัยว่า ผู้ร้องสอดที่ 3 เป็นผู้เช่าที่ดินพิพาทแต่เพียงผู้เดียวจึงไม่ถูกต้องซึ่งผู้เช่าที่ดินทั้ง 6 ราย ดังกล่าวได้ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำวินิจฉัยของ คชก.ตำบลคลองหลวงแพ่ง ต่อ คชก.จังหวัดฉะเชิงเทราแล้ว และอุทธรณ์ของผู้เช่าดังกล่าวยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของ คชก.จังหวัดฉะเชิงเทรา และที่ คชก.ตำบลคลองหลวงแพ่งมีคำวินิจฉัยให้จำเลยไปโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ร้องสอดที่ 3 ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2531 นั้น ผู้เช่าทั้ง 6 รายก็ได้ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำวินิจฉัยของ คชก.ตำบลคลองหลวงแพ่งต่อ คชก.จังหวัดฉะเชิงเทรา เช่นเดียวกัน และ คชก.จังหวัดฉะเชิงเทรา ยังไม่มีคำวินิจฉัยแต่อย่างใด คำวินิจฉัยของคชก.ตำบลคลองหลวงแพ่ง จึงยังไม่ถึงที่สุด ผู้ร้องสอดที่ 3จึงยังไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้องและสั่งให้เพิกถอนสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทฉบับลงวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2531 ระหว่างผู้ร้องสอดที่ 3 กับจำเลย
ผู้ร้องสอดที่ 3 ให้การแก้คำร้องสอดของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ว่า คำวินิจฉัยของ คชก.ตำบลคลองหลวงแพ่งที่วินิจฉัยว่าผู้ร้องสอดที่ 3 เป็นผู้เช่าที่ดินพิพาทแต่เพียงผู้เดียวเพราะคชก.ตำบลดังกล่าวมีคำวินิจฉัยโดยสุจริตและถึงที่สุดแล้วและการวินิจฉัยของศาลในชั้นนี้เป็นการพิพากษาตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง การที่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 อ้างว่ามีผู้เช่านาอีก 6 ราย ได้อุทธรณ์คำวินิจฉัยของ คชก.ตำบลคลองหลวงแพ่ง ก็ไม่เป็นเหตุทุเลาการบังคับการปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของ คชก.ตำบล ตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524มาตรา 56 วรรคสี่ สัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างผู้ร้องสอดที่ 3 และจำเลยฉบับลงวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2531 เป็นเพียงหลักฐานและวิธีการชำระเงินตามคำวินิจฉัยของ คชก.ตำบลคลองหลวงแพ่งครั้งที่ 4/2531 เท่านั้น โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ร้องสอดเพื่อประวิงการปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของ คชก.ตำบลคลองหลวงแพ่งดังกล่าว ผู้ร้องสอดที่ 3 ฟ้องโดยอาศัยสิทธิตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 มาตรา 53 และมาตรา 58ผู้ร้องสอดที่ 3 ย่อมมีสิทธิซื้อที่ดินพิพาทได้ก่อนโจทก์ที่ 1 และที่ 2 เมื่อ คชก.ตำบลคลองหลวงแพ่ง มีคำวินิจฉัยให้จำเลยขายที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ร้องสอดที่ 3 และจำเลยไม่ได้อุทธรณ์คำวินิจฉัยดังกล่าว คำวินิจฉัยดังกล่าวจึงถึงที่สุด ประเด็นที่ศาลจะพิจารณาจึงมีเพียงว่าคำชี้ขาดของ คชก.ตำบล ขัดต่อกฎหมายประการหนึ่งประการใดหรือไม่ หากไม่ขัดต่อกฎหมายศาลก็พิพากษาตามคำชี้ขาดดังกล่าวได้ทันทีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 221, 222 และมาตรา 218 วรรคสอง โดยไม่จำต้องพิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้องสอดของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 และโจทก์ที่ 1 กับที่ 2 มิใช่คู่กรณีในการวินิจฉัยชี้ขาดของ คชก.ตำบล โจทก์ที่ 1 และที่ 2 จึงไม่มีอำนาจร้องสอดเข้ามาในคดีนี้ ขอให้ยกคำร้อง
จำเลยให้การแก้คำร้องสอดของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ว่า การที่จำเลยจะขายที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ร้องสอดที่ 3 เป็นการปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของ คชก.ตำบลคลองหลวงแพ่ง ครั้งที่ 4/2531ตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524มาตรา 53 ผู้ร้องสอดที่ 3 มีฐานะเป็นผู้เช่านาจึงมีสิทธิซื้อที่ดินพิพาทได้ก่อนโจทก์ที่ 1 และที่ 2 จำเลยแจ้งความจำนงจะขายที่ดินพิพาทให้ผู้ร้องสอดที่ 3 ทราบภายหลังจากที่ คชก.ตำบลคลองหลวงแพ่ง ลงมติครั้งที่ 2/2531 มิใช่แจ้งก่อนทำสัญญาจะซื้อขายกับโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ตามที่โจทก์ที่ 1 และที่ 2กล่าวอ้าง ส่วนการทำสัญญาจะซื้อขายฉบับลงวันที่ 10 กุมภาพันธ์2531 ระหว่างผู้ร้องสอดที่ 3 กับจำเลยนั้นเป็นเพียงวิธีการชำระราคา ผู้ร้องสอดที่ 3 และจำเลยไม่มีเจตนาที่จะผูกพันกันตามสัญญาดังกล่าวข้อเท็จจริงตามคำวินิจฉัยของ คชก.ตำบลคลองหลวงแพ่งยุติโดย คชก.ตำบลคลองหลวงแพ่งมีคำวินิจฉัยแล้ว ซึ่งถือเป็นคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 มาตรา 58 ประกอบมาตรา 221, 222 และ มาตรา 218 วรรคสองและสาม แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง และบุคคลทั้ง 6 คน ที่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 อ้างว่า เป็นผู้เช่านาหรือที่ดินพิพาทของจำเลยนั้นก็ไม่เป็นความจริง ความจริงบุคคลทั้ง 6 คน ไม่ใช่ผู้เช่านากับจำเลยเกี่ยวกับข้อพิพาทในคดีนี้เป็นเรื่องระหว่างผู้ร้องสอดที่ 3 กับจำเลยโดยเฉพาะบุคคลอื่นที่มิใช่คู่กรณีไม่มีสิทธิที่จะมาเกี่ยวข้องและจำเลยไม่ได้อุทธรณ์ไม่ได้อุทธรณ์โต้แย้งมติของ คชก.ตำบลคลองหลวงแพ่ง มติหรือคำวินิจฉัยของ คชก.ตำบลดังกล่าวจึงถึงที่สุด และคำวินิจฉัยของ คชก.ตำบลดังกล่าวมิได้ขัดต่อกฎหมายอันจะเป็นเหตุให้ศาลต้องรับคำร้องสอดของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ไว้พิจารณา จึงรับคำร้องสอดของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ไว้พิจารณาไม่ได้ ขอให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องสอดที่ 1 และที่ 2 ร้องสอดอ้างสิทธิตามสัญญาจะซื้อขายที่พิพาทระหว่างผู้ร้องสอดที่ 1 และที่ 2 กับจำเลย และว่าผู้ร้องสอดที่ 3 ไม่ใช่ผู้เช่าที่ดินพิพาท ผู้ร้องสอดที่ 3 และจำเลยได้สมคบกันฉ้อโกงผู้ร้องสอดที่ 1 และที่ 2 โดยการเสนอความเท็จต่อ คชก.ตำบลคลองหลวงแพ่ง ปกปิดเรื่องที่จำเลยทำสัญญาจะขายที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ร้องสอดที่ 1 และที่ 2ไว้ก่อนแล้ว เป็นเหตุให้ คชก.ตำบลคลองหลวงแพ่งหลงเชื่อว่าผู้ร้องสอดที่ 3 เป็นผู้เช่าที่ดินพิพาทและมีมติตามที่หลงเชื่อนั้น การที่ คชก.ตำบลคลองหลวงแพ่งมีมติเช่นนั้น ทำให้จำเลยต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมพ.ศ. 2524 โดยทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทกับผู้ร้องสอดที่ 3เพื่อให้หลุดพ้นจากการที่จำเลยจะต้องปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อขายกับผู้ร้องสอดที่ 1 และที่ 2 เนื่องจากราคาที่ดินพิพาทมีราคาสูงขึ้น ขอให้ยกฟ้อง
ผู้ร้องสอดที่ 3 ให้การแก้คำร้องสอดของผู้ร้องสอดที่ 1และที่ 2 ขอให้ยกคำร้อง
จำเลยให้การและแก้คำร้องสอดของผู้ร้องสอดที่ 1 และที่ 2ขอให้ยกคำร้องสอด
สำนวนที่สาม นายสุขเกษม มูฮำหมัด และนายทวีศักดิ์เมฆเจริญลาภ ผู้ร้องสอดที่ 1 และที่ 2 เป็นโจทก์ฟ้อง เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2528 จำเลยทำสัญญาจะขายที่ดินพิพาทแก่ผู้ร้องสอดที่ 1 และที่ 2 เฉพาะส่วนของจำเลยจำนวนประมาณ150 ไร่ ในราคา 1,200,000 บาท ชำระราคาไปแล้วจำนวน400,000 บาท ส่วนที่เหลือจำนวน 800,000 บาท ตกลงจะชำระกันภายในวันที่ 24 ตุลาคม 2529 ซึ่งเป็นวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน ต่อมาผู้ร้องสอดที่ 1 และที่ 2 กับจำเลยได้ตกลงกันทำอนุสัญญา ฉบับลงวันที่ 15 ตุลาคม 2529 ขยายระยะเวลาจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทไปเป็นวันที่ 15 ตุลาคม 2530 ในวันดังกล่าวผู้ร้องสอดที่ 1 และที่ 2 ได้เตรียมเงินจำนวน 800,000 บาท อันเป็นราคาที่ดินส่วนที่เหลือไปเพื่อชำระให้แก่จำเลย ณ สำนักงานที่ดินจังหวัดฉะเชิงเทรา แต่ปรากฏว่าจำเลยไม่ยอมไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ร้องสอดที่ 1 และที่ 2 จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา ขอให้บังคับจำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 6707 ให้แก่ผู้ร้องสอดที่ 1 และที่ 2 และรับชำระราคาที่ดินส่วนที่เหลือจำนวน 800,000 บาท จากผู้ร้องสอดที่ 1 และที่ 2 พร้อมทั้งให้จำเลยชำระค่าเสียหายและค่าปรับตามสัญญาเป็นเงินจำนวน 400,000 บาท ให้แก่ผู้ร้องสอดที่ 1 และที่ 2 หากจำเลยไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย ในกรณีที่จำเลยไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวให้แก่ผู้ร้องสอดที่ 1 และที่ 2 ได้ ก็ให้จำเลยคืนมัดจำจำนวน 400,000 บาท และให้ชำระค่าเสียหายหรือค่าปรับอีก 400,000 บาท รวมเป็นเงิน 800,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากเงินต้นจำนวนดังกล่าวนับตั้งแต่วันฟ้องไปจนถึงวันที่ชำระเสร็จให้แก่โจทก์ด้วย
จำเลยให้การว่า จำเลยกับผู้ร้องสอดที่ 1 และที่ 2ได้ตกลงกันยกเลิกสัญญาจะซื้อขายโดยเปลี่ยนเป็นสัญญาขายฝากแทนมีกำหนด 6 เดือน และถือเอาเงินมัดจำที่ได้วางกันในสัญญาจะซื้อขายเป็นส่วนหนึ่งของราคาขายฝาก ต่อมาจำเลยได้ไถ่ถอนการขายฝากนั้นแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ร้องสอดอ้างสิทธิตามสัญญาจะซื้อขายที่พิพาทระหว่างโจทก์ที่ 1 และที่ 2 กับจำเลย ขอให้ยกฟ้อง
ผู้ร้องสอดที่ 1 และที่ 2 ให้การแก้คำร้องสอดของโจทก์ที่ 1และที่ 2 อ้างสิทธิตามสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างผู้ร้องสอดที่ 1 และที่ 2 กับจำเลย ขอให้ยกคำร้อง
จำเลยให้การแก้คำร้องสอดของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ว่าสัญญาจะซื้อขายฉบับลงวันที่ 8 เมษายน 2530 ระหว่างโจทก์ที่ 1และที่ 2 กับจำเลยได้กระทำขึ้นโดยคู่สัญญามีเจตนาลวงไม่ประสงค์ที่จะผูกพันกัน และจะไม่ฟ้องร้องบังคับตามสัญญาจะซื้อขายในขณะที่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ทำสัญญาจะซื้อขายดังกล่าวโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ทราบดีว่าโฉนดที่ดินแปลงพิพาทไม่ได้อยู่กับจำเลยอันจะสามารถโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้สัญญาจะซื้อขายฉบับดังกล่าวระหว่างโจทก์ที่ 1 และที่ 2 กับจำเลยจึงเป็นโมฆะ ขอให้ยกคำร้องสอด
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนสัญญาจะซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 6707 ระหว่างโจทก์ที่ 1 และที่ 2 กับจำเลย ให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวให้แก่ผู้ร้องสอดที่ 1 และที่ 2ตามสัญญาจะซื้อขายที่ดินระหว่างผู้ร้องสอดที่ 1 และที่ 2กับจำเลย ฉบับลงวันที่ 24 ตุลาคม 2528 และให้จำเลยรับชำระราคาที่ดินส่วนที่เหลือจำนวน 800,000 บาท จากผู้ร้องสอดที่ 1และที่ 2 หากจำเลยไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย กับให้จำเลยชำระค่าเสียหายให้แก่ผู้ร้องสอดที่ 1 และที่ 2 จำนวน 50,000 บาท คำขออื่นและคำร้องสอดนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์ที่ 1 และที่ 2 กับผู้ร้องสอดที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องผู้ร้องสอดที่ 1 ที่ 2 ในสำนวนที่สามด้วย กับให้ยกคำร้องสอดทุกสำนวน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ที่ 1 และที่ 2 กับผู้ร้องสอดที่ 1 และที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าที่พิพาทเป็นส่วนหนึ่งของโฉนดที่ดินเลขที่ 6707 ซึ่งมีเนื้อที่ทั้งแปลง 200 ไร่ โดยจำเลยถือกรรมสิทธิ์รวมอยู่ 150 ไร่คือส่วนที่พิพาทกันในคดีนี้ มีผู้ร้องสอดที่ 3 หรือผู้เช่านาอื่นเช่าจำเลยทำนา ที่ดินส่วนที่เหลือจำนวน 50 ไร่ เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ที่ 1 และนายศักดิ์ชัย แย้มเผื่อน น้องชายของโจทก์ที่ 1 เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2528 จำเลยทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินเฉพาะส่วนของตนให้แก่ผู้ร้องสอดที่ 1 และที่ 2 เป็นเงิน1,200,000 บาท โดยไม่ได้แจ้งให้ผู้ร้องสอดที่ 3 หรือผู้เช่านาอื่นทราบก่อน มีการวางเงินมัดจำบางส่วนตามเอกสารหมาย ร.5/1 กำหนดวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ภายใน 1 ปี นับแต่วันทำสัญญา วันที่ 15 ตุลาคม 2529 ผู้ร้องสอดที่ 1 และที่ 2ทำอนุสัญญาขยายอายุสัญญาต่อไปอีก 1 ปี ต่อมาวันที่21 ตุลาคม 2529 จำเลยจดทะเบียนขายฝากที่พิพาทให้แก่ผู้ร้องสอดที่ 1 และที่ 2 และนายวิชิต นิธินิตยสิริ เป็นเงิน600,000 บาท กำหนดไถ่คืนใน 6 เดือน ซึ่งจำเลยได้ไถ่คืนภายในกำหนดในวันที่ 8 เมษายน 2530 เงินซึ่งจำเลยนำไปไถ่ถอนการขายฝากนั้นจำเลยได้มาจากโจทก์ที่ 1 และที่ 2 โดยจำเลยทำสัญญาจะซื้อขายที่พิพาทให้แก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2530 ในราคา 1,150,000 บาท โจทก์ที่ 1 และที่ 2 วางมัดจำให้จำเลยในวันทำสัญญาจำนวน 600,000 บาท จำเลยจึงนำเงินจำนวนนี้ไปไถ่ถอนการขายฝากจากผู้ร้องสอดที่ 1 และที่ 2 สัญญาจะซื้อขายที่พิพาทระหว่างโจทก์ที่ 1 และที่ 2 กับจำเลย โดยจำเลยไม่ได้แจ้งให้ผู้ร้องสอดที่ 3 ทราบก่อน ผู้ร้องสอดที่ 3 กับนายทองสุข ทรัพย์เจริญ นางฉวี แก้วเจริญนายอนันต์ มาลัยรักษ์ นายสำเภา เล็กใจกล้า นางเรียม ชาญณรงค์และนางศรีนวล นุชเจริญได้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการการเช่าที่ดินประจำตำบลคลองหลวงแพ่ง อำเภอเมืองฉะเชิงเทราจังหวัดฉะเชิงเทรา หรือที่เรียกว่า คชก.ตำบลคลองหลวงแพ่งอ้างว่าเป็นผู้เช่าที่พิพาทจากจำเลยทำนาโดยจำเลยทำสัญญาจะซื้อขายที่พิพาทโดยไม่แจ้งให้ทราบตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 ขอแสดงความจำนงจะซื้อที่พิพาทคชก.ตำบลคลองหลวงแพ่งได้มีคำวินิจฉัยว่า ผู้ร้องสอดที่ 3เป็นผู้เช่าที่พิพาทจากจำเลยแต่เพียงผู้เดียว ส่วนบุคคลอื่นเป็นผู้เช่าช่วงให้จำเลยทำสัญญาจะขายที่พิพาทให้แก่ผู้ร้องสอดที่ 3 จำเลยได้แสดงความจำนงจะขายที่พิพาทให้แก่ผู้ร้องสอดที่ 3 และผู้ร้องสอดที่ 3 แสดงความจำนงจะซื้อผู้ร้องสอดที่ 3 กับจำเลยได้ตกลงซื้อขายที่พิพาทกันแล้ว แต่จำเลยผิดนัดไม่ไปโอนที่พิพาทให้แก่ผู้ร้องสอดที่ 3 โดยจำเลยมีหนังสือแจ้งผู้ร้องสอดที่ 3 ว่า จำเลยถูกผู้ร้องสอดที่ 1 และที่ 2 ฟ้องต่อศาลให้โอนขายที่ดิน จำต้องขายที่พิพาทให้แก่ผู้ร้องสอดที่ 1 และที่ 2 ตามสัญญาจะซื้อขายที่ทำกันไว้ก่อนผู้ร้องสอดที่ 3 จึงร้องต่อ คชก.ตำบลคลองหลวงแพ่ง ซึ่งคชก.ตำบลคลองหลวงแพ่ง ได้มีคำวินิจฉัยให้จำเลยไปจดทะเบียนโอนที่พิพาทให้ผู้ร้องสอดที่ 3 ภายในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2531นายทองสุข นางฉวี นายอนันต์ นายสำเภา นางเรียม และนางศรีนวลได้อุทธรณ์คำวินิจฉัย คชก.ตำบลคลองหลวงแพ่ง ต่อคชก.จังหวัดฉะเชิงเทรา คชก.ตำบลคลองหลวงแพ่งต่อ คชก.จังหวัดฉะเชิงเทรา
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ที่ 1 และที่ 2และผู้ร้องสอดที่ 1 กับที่ 3 ประการแรกว่า โจทก์ที่ 1 และที่ 2และผู้ร้องสอดที่ 1 กับที่ 3 มีอำนาจฟ้องขอให้บังคับให้จำเลยโอนที่พิพาทให้แก่ฝ่ายตนหรือไม่ ก่อนอื่นเห็นควรวินิจฉัยก่อนว่าคำวินิจฉัยของ คชก.ตำบลคลองหลวงแพ่งถึงที่สุดแล้วหรือไม่นายประทีป สุวรรณเกิดผล ประธาน คชก.ตำบลคลองหลวงแพ่งพยานของผู้ร้องสอดที่ 3 เบิกความว่า บุคคลอื่นที่ทำนาในที่พิพาทที่ได้ร้องต่อ คชก.ตำบลคลองหลวงแพ่งอุทธรณ์คำวินิจฉัยของคชก.ตำบลคลองหลวงแพ่ง ต่อ คชก.จังหวัดฉะเชิงเทราว่าตนเป็นผู้มีสิทธิเช่านาที่พิพาท พยานได้นำอุทธรณ์ของบุคคลดังกล่าวไปยื่นต่อ คชก.จังหวัดฉะเชิงเทรา ทั้งนี้ พยานได้ทำคำชี้แจงไปด้วยว่า คชก.จังหวัดฉะเชิงเทรา ไม่ควรรับอุทธรณ์ตามเอกสารหมาย ร.23 และ ร.24 แสดงว่าได้มีการอุทธรณ์คำวินิจฉัยของ คชก.ตำบลคลองหลวงแพ่งจริง เมื่อทั้งผู้ร้องสอดที่ 3 และนายทองสุข นางฉวี นายอนันต์ นายสำเภา นางเรียมกับนางศรีนวลต่างร้องขอต่อ คชก.ตำบลคลองหลวงแพ่ง ว่าเป็นผู้เช่านาของจำเลยซึ่งเป็นที่พิพาทแปลงเดียวกัน หากคชก.จังหวัดฉะเชิงเทราวินิจฉัยเปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัยของคชก.ตำบลคลองหลวงแพ่ง เป็นอย่างอื่น ผู้ร้องสอดที่ 3 ก็สามารถฟ้องต่อศาลเพื่อขอให้เพิกถอนมติของ คชก.จังหวัดฉะเชิงเทราได้ ดังนั้น ที่ คชก.ตำบลคลองหลวงแพ่งวินิจฉัยว่าผู้ร้องสอดที่ 3 เป็นผู้เช่านาแต่ผู้เดียว จึงยังไม่ถึงที่สุดเพราะ คชก.จังหวัดฉะเชิงเทรายังไม่ได้วินิจฉัยอุทธรณ์บุคคลอื่นที่อ้างว่าตนเป็นผู้เช่านาของจำเลยด้วย การที่ผู้ร้องสอดที่ 3 อาศัยสิทธิของ คชก.ตำบลคลองหลวงแพ่งที่ยังไม่ถึงที่สุดมาฟ้องขอให้บังคับให้จำเลยโอนขายที่พิพาทให้จึงเป็นการฟ้องโดยที่ผู้ร้องสอดที่ 3 ยังไม่มีอำนาจตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 มาตรา 58
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่า โจทก์ที่ 1 กับที่ 2 และผู้ร้องสอดที่ 1 มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ที่ 1 กับที่ 2และผู้ร้องสอดที่ 1 ฟ้องจำเลยโดยอาศัยสิทธิตามสัญญาจะซื้อขายซึ่งจะต้องพิจารณาว่า ฝ่ายใดเป็นฝ่ายผิดสัญญา หากข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์ที่ 1 กับที่ 2 หรือผู้ร้องสอดที่ 1 ก็มีอำนาจฟ้องขอให้จำเลยโอนที่ดินพิพาทและใช้ค่าเสียหายได้ หรือหากไม่สามารถโอนที่ดินพิพาทได้ไม่ว่ากรณีใดก็อาจฟ้องขอคืนมัดจำและชดใช้ค่าเสียหายดังนั้น แม้กรณีนี้จำเลยไม่ได้แจ้งให้ผู้เช่านาทราบก่อนว่าจะขายที่พิพาทอันเป็นการละเว้นการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 มาตรา 53 ก็มีผลเพียงทำให้จำเลยไม่อาจโอนที่ดินพิพาทได้เท่านั้น แต่โจทก์ที่ 1 กับที่ 2 หรือผู้ร้องสอดที่ 1 ก็ยังมีอำนาจฟ้องจำเลยเพื่อเรียกมัดจำคืนหรือชดใช้ค่าเสียหายได้ หากข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาและไม่ใช่เป็นความผิดของโจทก์ที่ 1 กับที่ 2หรือผู้ร้องสอดที่ 1
คดีนี้ตามสำนวนแรกซึ่งมีโจทก์ที่ 1 กับที่ 2 เป็นโจทก์และสำนวนที่สามซึ่งมีผู้ร้องสอดที่ 1 กับที่ 2 เป็นโจทก์ แม้โจทก์ทั้งสองสำนวนจะมีคำขอให้จำเลยคืนมัดจำและชดใช้ค่าเสียหายด้วย แต่ศาลชั้นต้นก็ไม่ได้กำหนดประเด็นว่าฝ่ายใดเป็นฝ่ายผิดสัญญา ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงสำคัญที่คู่ความจะต้องนำสืบให้ได้ความว่าฝ่ายใดเป็นฝ่ายผิดสัญญา ซึ่งยังมีข้อโต้แย้งอีกมากและยังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงในคดีนี้ หากคู่ความยังติดใจในปัญหาเรื่องผิดสัญญาก็อาจนำคดีไปฟ้องร้องกันใหม่ได้ เมื่อได้วินิจฉัยดังกล่าวแล้ว จึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของโจทก์ที่ 1 กับที่ 2 และผู้ร้องสอดที่ 1 กับที่ 3 อีกเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง
อนึ่ง คดีนี้แม้ผู้ร้องสอดที่ 2 จะไม่ได้ฎีกา แต่ผู้ร้องสอดที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยจึงเป็นการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ แม้ผู้ร้องสอดที่ 1จะฎีกาฝ่ายเดียว ก็ให้มีผลถึงผู้ร้องสอดที่ 2 ด้วย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245(1) ประกอบด้วยมาตรา 247 และที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ผู้ร้องสอดที่ 1ยังไม่ทราบคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ซึ่งศาลชั้นต้นได้อ่านเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2537 ทำให้ผู้ร้องสอดที่ 1 มีสิทธิยื่นฎีกาและโจทก์ที่ 1 กับที่ 2 และผู้ร้องสอดที่ 3 ยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อศาลอุทธรณ์นั้น เมื่อศาลฎีกาได้วินิจฉัยคดีดังกล่าวแล้วจึงไม่มีประโยชน์ที่จะส่งไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาอีก
พิพากษายืน