แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อจำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์แล้วได้เบิกเงินเกินบัญชีจนครบกำหนดสัญญาโดยไม่ปรากฎว่าจำเลยที่ 1 ได้นำเงินเข้าหักทอนบัญชีกับโจทก์ ซึ่งโจทก์ได้คำนวณดอกเบี้ยเรื่อยมา แสดงว่ามิได้มีการเดินสะพัดและหักทอนบัญชีกันอีกเลย การที่จำเลยที่ 1 นำเงินเข้าบัญชีหลายครั้งภายหลังจากครบกำหนดเวลาตามสัญญา ก็เป็นการนำเงินเข้าบัญชีเพื่อชำระหนี้เท่านั้นหาได้มีเจตนาจะเดินสะพัดทางบัญชีกับโจทก์ต่อไปไม่ ถือได้ว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ไม่ประสงค์จะต่ออายุสัญญากันอีกต่อไป สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีอันเป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงสิ้นสุดลงนับแต่วันที่ตกลงกำหนดไว้ในสัญญาตามที่โจทก์กับจำเลยที่ 1ได้แสดงเจตนากันไว้เช่นนั้นในสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีหาใช่เลิกกันนับแต่วันที่โจทก์บอกเลิกสัญญาในวันที่ 6มีนาคม 2534 อายุความในคดีนี้จึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 11ธันวาคม 2520 อันเป็นวันหลังจากครบกำหนดตามสัญญากู้เงินเกินบัญชี แม้ว่าการที่จำเลยที่ 1 นำเงินเข้าบัญชีครั้งสุดท้ายในวันที่ 15 ธันวาคม 2523 จะเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 172 เดิม(มาตรา 193/14(1) ที่แก้ไขใหม่) อันมีผลให้ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้น ย่อมไม่นับเข้าในอายุความ ตามมาตรา 181วรรคแรก เดิม (มาตรา 193/15 วรรคแรก ที่แก้ไขใหม่) และต้องเริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2523 ตามมาตรา 181 วรรคสอง เดิม (มาตรา 193/15 วรรคสอง ที่แก้ไขใหม่) เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2535ซึ่งเกินกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่เริ่มนับอายุความขึ้นใหม่ดังกล่าว คดีโจทก์จึงขาดอายุความ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2520 จำเลยที่ 1ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์สาขาตราด เป็นเงิน 20,000บาท ตกลงเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี กำหนดชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 10 ธันวาคม 2520 และตกลงว่าหากจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ส่งดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ยินยอมให้โจทก์นำดอกเบี้ยที่ค้างชำระทบเข้าเป็นเงินต้นได้ จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 ไว้กับโจทก์โดยตกลงว่าหากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ จำเลยที่ 2 จะชำระหนี้ให้จนครบถ้วน ต่อมาโจทก์ได้หักทอนบัญชีของจำเลยที่ 1 ปรากฎว่าวันที่ 28 มกราคม 2534 จำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้โจทก์ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย 82,388.43 บาท โจทก์บอกกล่าวเลิกสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและทวงถามจำเลยทั้งสองให้ชำระหนี้แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ยอดหนี้คิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน99,776.92 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 99,776.92 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 1 ต้องชำระหนี้ตามสัญญาให้แก่โจทก์หมดสิ้นภายในวันที่ 10 ธันวาคม 2520 สิทธิเรียกร้องของโจทก์เริ่มนับตั้งแต่วันดังกล่าว แต่โจทก์นำคดีมาฟ้องในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2535 ซึ่งเกินกว่า 10 ปีแล้วคดีของโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระเงินแก่โจทก์83,494.46 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่7 มีนาคม 2534 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่าคดีโจทก์ขาดอายุความแล้วหรือไม่ จำเลยทั้งสองฎีกาอ้างเหตุคดีโจทก์ขาดอายุความว่า สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เลิกกันเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2520ซึ่งเป็นวันครบกำหนดให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินให้โจทก์เสร็จสิ้นเมื่อสัญญาครบกำหนดแล้วจำเลยที่ 1 ได้นำเงินเข้าบัญชีหลายครั้งเป็นการชำระหนี้ตามปกติเท่านั้น ไม่มีเจตนาจะทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีหรือเดินสะพัดทางบัญชีอีกต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าสัญญากู้เงินเกินบัญชีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1เลิกกันเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2534 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์บอกเลิกสัญญาจึงไม่ถูกต้อง เห็นว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์แล้วได้เบิกเงินเกินบัญชีจนครบกำหนดสัญญาโดยไม่ปรากฎว่าจำเลยที่ 1 ได้นำเงินเข้าหักทอนบัญชีกับโจทก์ ซึ่งโจทก์ได้คำนวณดอกเบี้ยเรื่อยมาแสดงว่ามิได้มีการเดินสะพัดและหักทอนบัญชีกันอีกเลย ส่วนการที่จำเลยที่ 1 นำเงินเข้าบัญชีรวมจำนวน 15,500 บาทเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2522 วันที่ 18 สิงหาคม วันที่ 2ตุลาคม และวันที่ 15 ธันวาคม 2523 ภายหลังจากครบกำหนดเวลาตามสัญญาแล้ว ก็เห็นเจตนาของจำเลยที่ 1 ได้ว่าเป็นการนำเงินเข้าบัญชีเพื่อชำระหนี้เท่านั้น หาได้มีเจตนาจะเดินสะพัดทางบัญชีกับโจทก์ต่อไปไม่ ดังนั้นจึงถือได้ว่าโจทก์และจำเลยที่ 1ไม่ประสงค์จะต่ออายุสัญญากันอีกต่อไป สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีอันเป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงสิ้นสุดลงนับแต่วันที่ตกลงกำหนดไว้ในสัญญาตามที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้แสดงเจตนาไว้เช่นนั้นในสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี หาใช่สัญญาเลิกกันนับแต่วันที่โจทก์บอกเลิกสัญญาในวันที่ 6 มีนาคม 2534 ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมา อายุความในคดีนี้จึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 11ธันวาคม 2520 อันเป็นวันหลังจากครบกำหนดตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี และแม้ว่าการที่จำเลยที่ 1 นำเงินเข้าบัญชีครั้งสุดท้ายในวันที่ 15 ธันวาคม 2523 จะเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 172 เดิม(มาตรา 193/14 (1) ที่แก้ไขใหม่) อันมีผลให้ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้น ย่อมไม่นับเข้าในอายุความตามมาตรา 181วรรคแรก เดิม (มาตรา 193/15 วรรคแรกที่แก้ไขใหม่) ก็ตามแต่ตามมาตรา 181 วรรคสอง (มาตรา 193/15 วรรคสองที่แก้ไขใหม่)ก็บัญญัติว่า เมื่อเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงนั้นสิ้นสุดเวลาใด ก็ให้เริ่มนับอายุความขึ้นใหม่แต่เวลานั้นสืบไป กล่าวคือต้องเริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่วันที่ 15ธันวาคม 2523 เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์2535 ซึ่งเกินกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่เริ่มนับอายุความขึ้นใหม่ดังกล่าว คดีโจทก์จึงขาดอายุความ
พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์