คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1039/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ที่2ที่3และที่4ฟ้องขอให้จำเลยผู้ทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสามใช้ค่าเสียหายรวมเป็นเงิน91,380บาทโดยโจทก์ที่2เรียกร้องเป็นเงิน8,275บาทโจทก์ที่3เรียกร้องเป็นเงิน12,921บาทและโจทก์ที่4เรียกร้องค่าเสียหายเกี่ยวกับรถของตนเองเป็นเงิน70,184บาทดังนี้ไม่ใช่โจทก์ที่2ที่3และที่4เป็นเจ้าหนี้ร่วมแต่เป็นเรื่องที่โจทก์แต่ละคนฟ้องให้จำเลยรับผิดใช้ค่าเสียหายแยกจากกันจึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์ตามจำนวนเงินที่โจทก์แต่ละคนเรียกร้องให้จำเลยรับผิดมาดังกล่าวเท่านั้นเมื่อคดีในส่วนของโจทก์ที่2ที่3มีทุนทรัพย์ไม่เกิน20,000บาทจึงต้องห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงการที่ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยให้จึงไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณาจำเลยไม่มีสิทธิที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงในส่วนของโจทก์ที่2และที่3ต่อมาได้แม้จำเลยจะให้ผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลอุทธรณ์รับรองให้ฎีกาในข้อเท็จจริงมาแล้วก็ตาม โจทก์ที่2ผู้มอบอำนาจจะลงชื่อในหนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีแต่ฝ่ายเดียวโจทก์ที่1มิได้ลงชื่อในฐานะผู้รับมอบอำนาจด้วยก็ใช้ได้เพราะไม่มีกฎหมายบังคับให้ผู้รับมอบอำนาจต้องลงชื่อด้วยและแม้ขณะที่โจทก์ที่1ยื่นฟ้องคดีแทนโจทก์ที่2และที่3ตามหนังสือมอบอำนาจของโจทก์ที่2และที่3นั้นจะมิได้ปิดแสตมป์ให้บริบูรณ์ตามกฎหมายแต่เมื่อโจทก์ที่1ที่2แบะที่3ได้อ้างส่งเอกสารดังกล่าวเป็นพยานก็ได้ปิดแสตมป์ครบถ้วนบริบูรณ์แล้วหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวจึงรับฟังเป็นพยานหลักฐานว่าโจทก์ที่2และที่3ได้มอบอำนาจให้โจทก์ที่1ฟ้องคดีนี้มิใช่กรณีที่หนังสือมอบอำนาจไม่สมบูรณ์มาแต่ต้นอันจะทำให้ฟ้องสำหรับคดีโจทก์ที่2และที่3ไม่สมบูรณ์ตามกฎหมายแต่อย่างใดโจทก์ที่1จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยแทนโจทก์ที่2และที่3ตามหนังสือมอบอำนาจของโจทก์ที่2และที่3ได้ แม้ใบเสร็จรับเงินจะเป็นภาษาต่างประเทศบางส่วนไม่มีคำแปลภาษาต่างประเทศดังกล่าวให้เป็นภาษาไทยก็เป็นเรื่องที่ศาลเห็นสมควรจะสั่งให้ทำคำแปลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา46วรรคสามหรือไม่เมื่อศาลมิได้สั่งให้โจทก์ที่2ทำคำแปลโจทก์ที่2ก็ไม่จำเป็นต้องทำคำแปลศาลรับฟังเอกสารดังกล่าวได้หาขัดต่อกฎหมายดังกล่าวข้างต้นไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 2 และที่ 3 มอบอำนาจให้โจทก์ที่ 1 ฟ้องคดีแทน โจทก์ที่ 1 เป็นผู้ขับรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน ม-2272 สงขลา ของโจทก์ที่ 4 โจทก์ที่ 2 และที่ 3เป็นผู้โดยสารรถคันดังกล่าว ส่วนจำเลยเป็นผู้ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน ก-5182 สงขลา เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2531เวลาประมาณ 20 นาฬิกา จำเลยขับรถคันดังกล่าวไปตามถนนเพชรเกษม จากตำบลควนลังมุ่งหน้าเข้าอำเภอหาดใหญ่ด้วยความประมาทโดยจำเลยขับรถด้วยความเร็วสูงเข้ามาในช่องเดินรถทางด้านขวาเป็นเหตุให้ชนกับรถซึ่งโจทก์ที่ 1 ขับสวนทางมาทำให้รถของโจทก์ที่ 4 เสียหาย โจทก์ที่ 2 และที่ 3 ได้รับอันตรายแก่กายบาดเจ็บต้องเสียค่ารักษาพยาบาล ส่วนโจทก์ที่ 1ได้รับความเสียหายเนื่องมาจากการทำละเมิดของจำเลย เป็นเหตุให้โจทก์ที่ 1 ตกเป็นผู้ต้องหาและถูกฟ้องต่อศาลแขวงสงขลาโจทก์ที่ 1 ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพื่อการแก้คดีดังกล่าวขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 18,271 บาท แก่โจทก์ที่ 1 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 17,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จให้จำเลยชำระเงิน 8,275 บาท แก่โจทก์ที่ 2พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 7,700 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยชำระเงิน 12,921 บาทแก่โจทก์ที่ 3 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน12,022 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จและให้จำเลยชำระเงิน70,184 บาท แก่โจทก์ที่ 4 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีจากต้นเงิน 65,300 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า โจทก์ที่ 1 ไม่มีอำนาจฟ้องแทนโจทก์ที่ 2เพราะโจทก์ที่ 1 ไม่ได้รับมอบอำนาจจากโจทก์ที่ 2 หนังสือมอบอำนาจท้ายฟ้องไม่มีลายมือชื่อผู้รับมอบอำนาจ คดีเฉพาะโจทก์ที่ 2ขาดอายุความฟ้องร้องเพราะฟ้องเกิน 1 ปีนับแต่รู้ตัวผู้กระทำผิดส่วนโจทก์ที่ 4 นั้นกล่าวอ้างลอย ๆ ว่าเป็นเจ้าของรถที่โจทก์ที่ 1 ขับ ค่าเสียหายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับรถคันดังกล่าวเกิดจากความประมาทของโจทก์ที่ 1 จำเลยไม่ใช่ผู้ทำละเมิดโจทก์ที่ 4 ไม่มีสิทธิฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย ที่โจทก์ที่ 1ถูกดำเนินคดีอาญาเกี่ยวกับรถชนกันดังกล่าวซึ่งโจทก์ที่ 1 ต้องเสียค่าใช้จ่ายไปนั้นมิใช่เกิดจากการกระทำของจำเลย จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 1 ส่วนค่ารักษาพยาบาลของโจทก์ที่ 2และที่ 3 นั้นสูงกว่าความเป็นจริง ทั้งความประมาทมิได้เกิดจากจำเลย จำเลยไม่ต้องรับผิด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ที่ 2 จำนวน7,700 บาท โจทก์ที่ 3 จำนวน 12,0225 บาท โจทก์ที่ 4 จำนวน56,100 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินของโจทก์แต่ละคนดังกล่าว นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จ ยกฟ้องโจทก์ที่ 1
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลอุทธรณ์ภาค 3 รับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 224 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2518มาตรา 3 บัญญัติว่า “ในคดีที่ราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทไม่เกินสองหมื่นบาท ห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง” คดีนี้โจทก์ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ฟ้องขอให้จำเลยผู้ทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสามใช้ค่าเสียหายรวมเป็นเงิน 91,380 บาทโดยโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นผู้โดยสารรถคันที่โจทก์ที่ 1ขับมาเรียกร้องค่าเสียหายของตนเองเนื่องจากจำเลยทำละเมิดโดยโจทก์ที่ 2 เรียกร้องเป็นเงิน 8,275 บาท โจทก์ที่ 3 เรียกร้องเป็นเงิน 12,921 บาท และโจทก์ที่ 4 เรียกร้องค่าเสียหายเกี่ยวกับรถของตนเองเนื่องจากจำเลยทำละเมิดเป็นเงิน 70,184 บาท ดังนี้ไม่ใช่โจทก์ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 เป็นเจ้าหนี้ร่วม แต่เป็นเรื่องที่โจทก์แต่ละคนฟ้องให้จำเลยรับผิดใช้ค่าเสียหายแยกจากกันจึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์ตามจำนวนเงินที่โจทก์แต่ละคนเรียกร้องให้จำเลยรับผิดมาดังกล่าวเท่านั้น เมื่อคดีในส่วนของโจทก์ที่ 2 ที่ 3 มีทุนทรัพย์ไม่เกิน 20,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามบทกฎหมายดังกล่าว แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 จะรับวินิจฉัยให้ก็ไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณาจำเลยไม่มีสิทธิที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงในส่วนของโจทก์ที่ 2และที่ 3 ต่อมาได้ แม้จำเลยจะให้ผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลอุทธรณ์ภาค 3 รับรองให้ฎีกาในข้อเท็จจริงมาแล้วก็ตามที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาจำเลยในข้อเท็จจริงสำหรับคดีในส่วนของโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ดังกล่าวมานั้น จึงเป็นการไม่ชอบศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องนั้น จำเลยฎีกาว่าโจทก์ที่ 1 ไม่มีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์ที่ 2 เพราะหนังสือมอบอำนาจของโจทก์ที่ 2ไม่มีลายมือชื่อผู้รับมอบอำนาจและมิได้ปิดแสตมป์ในหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวมาขณะยื่นฟ้อง และโจทก์ที่ 1 ไม่มีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์ที่ 3 เพราะหนังสือมอบอำนาจของโจทก์ที่ 3 มิได้ปิดแสตมป์มาขณะยื่นฟ้อง เห็นว่า แม้โจทก์ที่ 2 ผู้มอบอำนาจจะลงชื่อในหนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีแต่ฝ่ายเดียว โจทก์ที่ 1มิได้ลงชื่อในฐานะผู้รับมอบอำนาจด้วยก็ใช้ได้ เพราะไม่มีกฎหมายบังคับให้ผู้รับมอบอำนาจต้องลงชื่อด้วย และแม้ขณะที่โจทก์ที่ 1ยื่นฟ้องคดีแทนโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ตามหนังสือมอบอำนาจของโจทก์ที่ 2 และที่ 3 นั้นจะมิได้ปิดแสตมป์ให้บริบูรณ์ตามกฎหมายแต่เมื่อโจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ได้อ้างส่งเอกสารดังกล่าวเป็นพยาน ก็ได้ปิดแสตมป์ครบถ้วนบริบูรณ์แล้ว หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวจึงรับฟังเป็นพยานหลักฐานว่าโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ได้มอบอำนาจให้โจทก์ที่ 1 ฟ้องคดีนี้ มิใช่กรณีที่หนังสือมอบอำนาจไม่สมบูรณ์มาแต่ต้นอันจะทำให้ฟ้องสำหรับคดีโจทก์ที่ 2 และที่ 3ไม่สมบูรณ์ตามกฎหมายแต่อย่างใด โจทก์ที่ 1 จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยแทนโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ตามหนังสือมอบอำนาจของโจทก์ที่ 2และที่ 3 ได้
ปัญหาเรื่องใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย ป.จ.12 นั้นเห็นว่า แม้เอกสารดังกล่าวจะเป็นภาษาต่างประเทศบางส่วน ไม่มีคำแปลภาษาต่างประเทศดังกล่าวให้เป็นภาษาไทย ก็เป็นเรื่องที่ศาลเห็นสมควรจะสั่งให้ทำคำแปลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 46 วรรคสาม หรือไม่ เมื่อศาลมิได้สั่งให้โจทก์ที่ 2 ทำคำแปลโจทก์ที่ 2 ก็ไม่จำเป็นต้องทำคำแปล ศาลรับฟังเอกสารดังกล่าวได้ หาขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 46 ไม่
พิพากษายืน

Share