คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8291/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 มาตรา 25 วรรคหนึ่ง (เดิม) บัญญัติให้ ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนตามมาตรา 18 ผู้ใดที่ไม่พอใจในราคาของ อสังหาริมทรัพย์หรือจำนวนเงินค่าทดแทนที่คณะกรรมการตาม มาตรา 9 หรือมาตรา 23 กำหนด มีสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามมาตรา 6 หรือรัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฉบับนั้นภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งเป็นหนังสือจากเจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่ให้มารับเงินค่าทดแทนดังกล่าว ซึ่งมาตรา 26 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่าในกรณีที่ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนยังไม่พอใจในคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีตามมาตรา 25 หรือในกรณีที่รัฐมนตรีมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 25 วรรคสอง ให้มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลได้ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของรัฐมนตรี หรือนับแต่วันที่พ้นกำหนดเวลาดังกล่าวแล้วแต่กรณี ดังนี้ ระยะเวลาหกสิบวันที่กำหนดให้ผู้มีสิทธิรับเงินค่าทดแทนตามมาตรา 18ใช้สิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรี ต้องเป็นกรณีที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ ได้กำหนดจำนวนเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่ผู้ถูกเวนคืนแล้วผู้นั้นไม่พอใจ การที่ในตอนแรกคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ ได้กำหนดจำนวนเงินค่าทดแทนให้แก่ผู้มีสิทธิดังกล่าว และผู้นั้นได้รับแจ้งเป็นหนังสือจากเจ้าหน้าที่ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย จำเลยที่ 1 ให้มา รับเงินค่าทดแทนดังกล่าวแล้วเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2533ต่อมาผู้นั้นได้ยื่นอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2533 แม้การอุทธรณ์ดังกล่าวจะเกินกำหนดหกสิบวันแล้วก็ตาม แต่เมื่อปรากฏว่าต่อมาได้มีประกาศ คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44 เรื่องการแก้ไข เพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ มีผลใช้ บังคับในวันที่ 1 มีนาคม 2534 อันเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530โดยเพิ่มเติมมาตรา 10 ทวิ ด้วย ซึ่งมาตรา 10 ทวิ ได้บัญญัติให้รัฐมนตรีโดยอนุมัติของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งให้คณะกรรมการตามมาตรา 9 หรือคณะกรรมการที่แต่งตั้งขึ้นใหม่ตามหลักเกณฑ์ในมาตรา 9 แก้ไขราคาของอสังหาริมทรัพย์หรือราคาเบื้องต้นสำหรับที่ดินเสียใหม่ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติได้ และให้ถือว่าราคาของอสังหาริมทรัพย์ที่แก้ไขแล้วเป็นราคาซื้อขายที่ตกลงกันใหม่แทนราคาเดิมและราคาเบื้องต้นที่แก้ไขแล้วเป็นราคาเบื้องต้นที่คณะกรรมการกำหนดตามมาตรา 9 แล้วแต่กรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยอาศัยอำนาจดังกล่าวแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นใหม่คือคณะกรรมการแก้ไขราคาเบื้องต้นฯ เพื่อทำหน้าที่กำหนดราคาเบื้องต้นของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนเงินค่าทดแทนที่ดินที่คณะกรรมการแก้ไขราคาเบื้องต้นได้แก้ไขใหม่นี้ จึงเป็นราคาเบื้องต้นที่คณะกรรมการกำหนดตาม มาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 ดังนั้น เมื่อผู้มีสิทธิดังกล่าวข้างต้นไม่พอใจย่อมมีสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้ ตามมาตรา 25 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ที่แก้ไขใหม่ ได้อีก เมื่อ ผู้มีสิทธิฯ ไม่พอใจ และได้ยื่นอุทธรณ์เมื่อยังไม่เกินกำหนด ระยะเวลาหกสิบวัน อันเป็นการใช้สิทธิอุทธรณ์ตามมาตรา 25 ดังกล่าวแล้ว และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยยังไม่วินิจฉัย อุทธรณ์ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำอุทธรณ์ ผู้มีสิทธิย่อมมีสิทธิฟ้องคดีได้ภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 มาตรา 20 วรรคหนึ่ง ในกรณีที่ต้องเวนคืนที่ดินแปลงใดแต่เพียงบางส่วน ถ้าเนื้อที่ดินส่วนที่เหลืออยู่นั้นน้อยกว่ายี่สิบห้าตารางวา หรือด้านหนึ่งด้านใดน้อยกว่าห้าวาและที่ดินส่วนที่เหลืออยู่นั้นมิได้ติดต่อเป็นผืนเดียวกันกับที่ดินแปลงอื่นของเจ้าของเดียวกัน หากเจ้าของ ร้องขอให้เจ้าหน้าที่เวนคืนหรือจัดซื้อที่ดินส่วนที่เหลือด้วยนั้นกฎหมายมาตราดังกล่าวบัญญัติขึ้นเพื่อให้เจ้าหน้าที่เวนคืนทำการเวนคืนหรือจัดซื้อที่ดินส่วนที่เหลือจากเจ้าของที่ดินเพราะที่ดินส่วนที่เหลือนั้นเหลืออยู่น้อยหรือมีสภาพไม่เหมาะสมที่จะใช้ทำประโยชน์ต่อไป โดยกำหนดให้เจ้าของ ที่ดินร้องขอต่อเจ้าหน้าที่เวนคืนเสียก่อน เพื่อเจ้าหน้าที่เวนคืนจะได้พิจารณาว่ากรณีต้องตามกฎหมายมาตรา ดังกล่าวหรือไม่ การที่โจทก์เคยเสนอขายที่ดินส่วนที่เหลือ ดังกล่าวต่อเจ้าหน้าที่ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทยจำเลยที่ 1 แต่เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ให้ราคาต่ำกว่าราคาประเมิน โจทก์จึงไม่ขาย แม้การกระทำดังกล่าวจะถือได้ว่าโจทก์ได้ร้องขอต่อเจ้าหน้าที่เวนคืนตามมาตรา 20 วรรคหนึ่งแล้วก็ตาม แต่ถ้าโจทก์ทั้งหกไม่พอใจก็ต้องยื่นอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรี ตามมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 เมื่อโจทก์มิได้ยื่นอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีขอให้เวนคืนหรือจัดซื้อที่ดินโจทก์ทั้งหกในส่วนที่เหลือจากการเวนคืน จึงเป็นกรณีที่โจทก์ยังไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายดังกล่าว โจทก์จึงยังไม่มีสิทธิฟ้องให้จำเลยทั้งสี่จัดซื้อที่ดินโจทก์ทั้งหกในส่วนที่เหลือได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งหกเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดที่ 41668 เนื้อที่ 554 ตารางวา ที่ดินดังกล่าวเนื้อที่ 536 ตารางวา อยู่ในบริเวณที่ที่จะเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่อำเภอปากเกร็ดพ.ศ. 2530 เพื่อสร้างทางพิเศษ สายพญาไท-ศรีนครินทร์มีจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนและมีจำเลยที่ 4 เป็นผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ ได้กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินโจทก์ทั้งหกเป็นเงิน12,056,000 บาท มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทั้งหกไปรับเงินค่าทดแทนแล้ว แต่โจทก์ทั้งหกไม่ยอมรับ จำเลยที่ 1 นำเงินค่าทดแทนดังกล่าวไปวางไว้ ณ ธนาคารออมสินโจทก์ทั้งหกยื่นอุทธรณ์ต่อจำเลยที่ 4จำเลยที่ 4 มีคำวินิจฉัยให้เพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินแก่โจทก์ทั้งหกอีกจำนวน 544,000 บาท และมีหนังสือแจ้งให้ไปรับเงินค่าทดแทนเพิ่มเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2535 ต่อมาในปีเดียวกัน จำเลยที่ 1 กำหนดเงินค่าทดแทนเพิ่มให้อีกตามประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44 ทำให้โจทก์ทั้งหกได้รับเงินค่าทดแทนเพิ่มเป็นเงินทั้งสิ้น 12,637,226.67 บาท โจทก์ทั้งหกได้รับเงินค่าทดแทนดังกล่าวแล้ว โจทก์ทั้งหกไม่พอใจจึงได้ยื่นอุทธรณ์ต่อจำเลยที่ 4 เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2536 อีกจำเลยที่ 4 ไม่ได้วินิจฉัยอุทธรณ์ให้เสร็จสิ้นภายในกำหนด 60 วันจำเลยที่ 1 กำหนดเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์ทั้งหกไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นธรรม ที่ดินโจทก์ทั้งหกมีราคาไม่ต่ำกว่าตารางวาละ220,000 บาท จำเลยทั้งสี่ต้องจ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่ม96,642,976 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 8 ต่อปี นับแต่วันที่12 มกราคม 2533 ถึงวันฟ้องเป็นเงินค่าทดแทนเพิ่มและดอกเบี้ยทั้งสิ้น 124,901,102 บาท ที่ดินส่วนที่เหลือจำนวน 18 ตารางวาโจทก์ทั้งหกไม่สามารถทำประโยชน์ได้ จำเลยทั้งสี่ต้องรับซื้อที่ดินดังกล่าวในราคาตารางวาละ 220,000 บาท รวมเป็นเงิน3,960,000 บาท และต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 8 ต่อปีนับแต่วันที่จำเลยที่ 1 แจ้งให้รับเงินค่าทดแทนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 1,376,561 บาท รวมทั้งสิ้น 130,237,663 บาท จำเลยทั้งสี่เวนคืนที่ดินตั้งแต่ปี 2532 แต่ไม่เริ่มดำเนินการตามโครงการทำให้โจทก์เสียหายอันเป็นการละเมิดจึงต้องคืนที่ดินแก่โจทก์ทั้งหก ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันคืนที่ดินตามฟ้องให้แก่โจทก์ทั้งหกในสภาพเดิม หากไม่สามารถคืนได้ก็ให้ชำระราคาค่าทดแทนเพิ่มเป็นเงิน 130,237,663 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 8 ต่อปี จากต้นเงิน 96,642,976 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งหก
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า การกำหนดเงินค่าทดแทนให้โจทก์ทั้งหกเป็นธรรมแล้ว โจทก์ทั้งหกไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 8 ต่อปี และไม่มีสิทธิขอให้คืนที่ดิน การเวนคืนเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว โจทก์ทั้งหกมิได้อุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีภายในกำหนดจึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งหกอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ทั้งหกฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่าโจทก์ทั้งหกเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดที่ 41668 เนื้อที่ 554 ตารางวา ที่ดินดังกล่าวเนื้อที่536 ตารางวา อยู่ในบริเวณที่ที่จะเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่อำเภอปากเกร็ดพ.ศ. 2530 เพื่อสร้างทางพิเศษสายแจ้งวัฒนะ-บางโคล่ และสายพญาไท-ศรีนครินทร์ คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ ได้กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินโจทก์ทั้งหกเป็นเงิน 12,056,000 บาท จำเลยที่ 1 มีหนังสือแจ้งโจทก์ทั้งหกให้ไปรับเงินค่าทดแทนเมื่อวันที่12 มกราคม 2533 โจทก์ทั้งหกรับหนังสือฉบับดังกล่าวเมื่อวันที่16 มกราคม 2533 แต่โจทก์ทั้งหกไม่พอใจเงินค่าทดแทนดังกล่าวจึงได้ยื่นอุทธรณ์เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2533 ต่อจำเลยที่ 4จำเลยที่ 4 มีคำวินิจฉัยให้เพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินอีก544,000 บาท ต่อมาคณะกรรมการแก้ไขราคาเบื้องต้นฯ ได้กำหนดเงินค่าทดแทนเพิ่มตามประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติฉบับที่ 44 เป็นเงิน 12,637,226.67 บาท จำเลยที่ 1 มีหนังสือแจ้งโจทก์ทั้งหกให้ไปรับเงินค่าทดแทนเพิ่มเมื่อวันที่25 มกราคม 2536 โจทก์ทั้งหกได้รับหนังสือฉบับดังกล่าวเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2536 และรับเงินค่าทดแทนดังกล่าวแล้ว แต่ไม่พอใจจึงยื่นอุทธรณ์ต่อจำเลยที่ 4 อีกครั้งเมื่อวันที่23 มีนาคม 2536 คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ฯ มีมติให้เพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งหกเป็นตารางวาละ 95,000 บาทจำนวน 536 ตารางวา เป็นเงิน 50,920,000 บาท จึงให้จำเลยที่ 1จ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มอีก 26,226,773.33 บาท พร้อมดอกเบี้ยซึ่งโจทก์ทั้งหกได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มพร้อมดอกเบี้ยตามมติของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ดังกล่าวไปแล้วเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2538 เป็นเงิน 31,364,295.33 บาท
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งหกประการแรกมีว่าโจทก์ทั้งหกใช้สิทธิอุทธรณ์ต่อจำเลยที่ 4 ภายในกำหนดระยะเวลาอันจะทำให้โจทก์ทั้งหกมีสิทธิฟ้องคดีหรือไม่ พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 25 วรรคหนึ่ง (เดิม) บัญญัติว่า ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนตามมาตรา 18 ผู้ใดไม่พอใจในราคาของอสังหาริมทรัพย์หรือจำนวนเงินค่าทดแทนที่คณะกรรมการตามมาตรา 9 หรือมาตรา 23 กำหนด มีสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามมาตรา 6 หรือรัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฉบับนั้นภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งเป็นหนังสือจากเจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่ให้มารับเงินค่าทดแทนดังกล่าว มาตรา 26 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่าในกรณีที่ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนยังไม่พอใจในคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีตามมาตรา 25 หรือในกรณีที่รัฐมนตรีมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 25 วรรคสอง ให้มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลได้ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีหรือนับแต่วันที่พ้นกำหนดเวลาดังกล่าวแล้วแต่กรณี เห็นว่า ระยะเวลาหกสิบวันที่กำหนดให้โจทก์ทั้งหกใช้สิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรี ต้องเป็นกรณีที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ ได้กำหนดจำนวนเงินค่าทดแทนที่ดินโจทก์ทั้งหก แล้วโจทก์ทั้งหกไม่พอใจ ข้อเท็จจริงได้ความว่า ในตอนแรกคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ ได้กำหนดจำนวนเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์ทั้งหก 12,056,000 บาท โจทก์ทั้งหกได้รับแจ้งเป็นหนังสือจากเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ให้มารับเงินค่าทดแทนดังกล่าวเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2533 โจทก์ทั้งหกได้ยื่นอุทธรณ์ต่อจำเลยที่ 4 เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2533 แม้การอุทธรณ์ดังกล่าวจะเกินกำหนดหกสิบวันแล้วก็ตาม แต่ต่อมาได้มีประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44 เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ มีผลใช้บังคับในวันที่1 มีนาคม 2534 ซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 โดยเพิ่มเติมมาตรา 10 ทวิ ด้วย มาตรา 10 ทวิ ได้บัญญัติให้รัฐมนตรีโดยอนุมัติของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งให้คณะกรรมการตามมาตรา 9 หรือคณะกรรมการที่แต่งตั้งขึ้นใหม่ตามหลักเกณฑ์ในมาตรา 9 แก้ไขราคาของอสังหาริมทรัพย์หรือราคาเบื้องต้นสำหรับที่ดินเสียใหม่ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติได้ และให้ถือว่าราคาของอสังหาริมทรัพย์ที่แก้ไขแล้วเป็นราคาซื้อขายที่ตกลงกันใหม่แทนราคาเดิม และราคาเบื้องต้นที่แก้ไขแล้วเป็นราคาเบื้องต้นที่คณะกรรมการกำหนดตามมาตรา 9 แล้วแต่กรณี จำเลยที่ 4อาศัยอำนาจดังกล่าวแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นใหม่คือคณะกรรมการแก้ไขราคาเบื้องต้นฯ เพื่อทำหน้าที่กำหนดราคาเบื้องต้นของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนดังนั้นเงินค่าทดแทนที่ดินโจทก์ทั้งหกที่คณะกรรมการแก้ไขราคาเบื้องต้นฯ แก้ไขใหม่เป็นจำนวน 25,237,226.67 บาท จึงเป็นราคาเบื้องต้นที่คณะกรรมการกำหนดตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ดังนั้น เมื่อโจทก์ทั้งหกไม่พอใจย่อมมีสิทธิอุทธรณ์ต่อจำเลยที่ 4 ตามมาตรา 25 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530ที่แก้ไขใหม่ได้อีก ข้อเท็จจริงได้ความว่าเมื่อโจทก์ทั้งหกได้รับแจ้งเป็นหนังสือจากเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่27 มกราคม 2536 ให้ไปรับเงินค่าทดแทนที่คณะกรรมการแก้ไขราคาเบื้องต้นฯ แก้ไขใหม่แล้ว โจทก์ทั้งหกไม่พอใจได้ยื่นอุทธรณ์ต่อจำเลยที่ 4 เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2536 ไม่เกินกำหนดระยะเวลาหกสิบวัน เป็นการใช้สิทธิอุทธรณ์ตามมาตรา 25 ดังกล่าวแล้วเมื่อจำเลยที่ 4 ยังไม่วินิจฉัยอุทธรณ์ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำอุทธรณ์ โจทก์ทั้งหกย่อมมีสิทธิฟ้องคดีได้ตามมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 ซึ่งโจทก์ทั้งหกฟ้องคดีนี้ในวันที่ 18 พฤษภาคม 2537ภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 26 แล้ว โจทก์ทั้งหกจึงมีสิทธิฟ้องคดีนี้
สำหรับปัญหาที่โจทก์ทั้งหกฎีกาประการต่อมาว่า การกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินโจทก์ทั้งหกที่ถูกเวนคืนเป็นธรรมหรือไม่เห็นว่า เงินค่าทดแทนที่ดินโจทก์ทั้งหกที่ถูกเวนคืนที่ฝ่ายจำเลยได้กำหนดและจ่ายให้แก่โจทก์ทั้งหกไปแล้วรวมทั้งสิ้น 50,920,000 บาทเฉลี่ยตารางวาละ 95,000 บาท นั้น เป็นเงินค่าทดแทนที่ได้คำนึงถึงมาตรา 21(1) ถึง (5) ซึ่งเป็นธรรมแก่โจทก์ทั้งหกผู้ถูกเวนคืนและสังคมแล้ว
ปัญหาว่าจำเลยทั้งสี่จะต้องเวนคืนหรือจัดซื้อที่ดินโจทก์ทั้งหกในส่วนที่เหลือจากการเวนคืนหรือไม่ พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 20 วรรคหนึ่งบัญญัติว่า ในกรณีที่ต้องเวนคืนที่ดินแปลงใดแต่เพียงบางส่วนถ้าเนื้อที่ดินส่วนที่เหลืออยู่นั้นน้อยกว่ายี่สิบห้าตารางวา หรือด้านหนึ่งด้านใดน้อยกว่าห้าวา และที่ดินส่วนที่เหลืออยู่นั้นมิได้ติดต่อเป็นผืนเดียวกันกับที่ดินแปลงอื่นของเจ้าของเดียวกันหากเจ้าของร้องขอให้เจ้าหน้าที่เวนคืนหรือจัดซื้อที่ดินส่วนที่เหลือด้วย เห็นว่า กฎหมายมาตราดังกล่าวบัญญัติขึ้นเพื่อให้เจ้าหน้าที่เวนคืนทำการเวนคืนหรือจัดซื้อที่ดินส่วนที่เหลือจากเจ้าของที่ดิน เพราะที่ดินส่วนที่เหลือนั้นเหลืออยู่น้อยหรือมีสภาพไม่เหมาะสมที่จะใช้ประโยชน์ต่อไป โดยกำหนดให้เจ้าของที่ดินร้องขอต่อเจ้าหน้าที่เวนคืนเสียก่อนเพื่อเจ้าหน้าที่เวนคืนจะได้พิจารณาว่ากรณีต้องตามกฎหมายมาตราดังกล่าวหรือไม่ ตามทางนำสืบของโจทก์ทั้งหกปรากฏว่าโจทก์ทั้งหกเคยเสนอขายที่ดินส่วนที่เหลือดังกล่าวต่อเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 แต่เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ให้ราคาตารางวาละ22,000 บาท เป็นราคาที่ต่ำกว่าราคาประเมิน โจทก์ทั้งหกจึงไม่ขาย เห็นว่า แม้การกระทำดังกล่าวจะถือได้ว่าโจทก์ได้ร้องขอต่อเจ้าหน้าที่เวนคืนตามมาตรา 20 วรรคหนึ่งแล้วก็ตามแต่เมื่อเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ให้ราคาต่ำ ถ้าโจทก์ทั้งหกไม่พอใจก็ต้องยื่นอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรี ตามมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530ตามทางนำสืบได้ความว่า หนังสืออุทธรณ์ค่าทดแทนการเวนคืนที่ดินเพื่อโครงการสร้างทางพิเศษระบบทางด่วนขั้นที่สองสายพญาไท-ศรีนครินทร์ ตามเอกสารหมาย ล.28 โจทก์ทั้งหกมิได้ยื่นอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีขอให้เวนคืนหรือจัดซื้อที่ดินโจทก์ทั้งหกในส่วนที่เหลือจากการเวนคืน เป็นกรณีที่โจทก์ทั้งหกยังไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายดังกล่าว โจทก์ทั้งหกจึงไม่มีสิทธิฟ้องให้จำเลยทั้งสี่จัดซื้อที่ดินโจทก์ทั้งหกในส่วนที่เหลือ
พิพากษายืน

Share