คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8286/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 เข้ามาใหม่ โดยให้จำหน่ายคดีชั่วคราวเฉพาะจำเลยที่ 2 และจำหน่ายคดีเด็ดขาดเมื่อโจทก์ฟ้องหรือไม่ฟ้องภายในเวลาที่ศาลกำหนด จึงไม่มีคดีของจำเลยที่ 2 ในระหว่างพิจารณาที่จำเลยที่ 2 จะอุทธรณ์คำสั่งขอให้รวมการพิจารณาคดี คำสั่งขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ หรือคำพิพากษาของศาลชั้นต้นได้ จำเลยที่ 2 จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งและคำพิพากษาดังกล่าว การที่ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 และศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 จึงเป็นการไม่ชอบ และไม่ก่อสิทธิให้แก่จำเลยที่ 2 ที่จะฎีกา

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300, 390 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43, 157, 160 ตรี และพักใช้ใบอนุญาตขับรถของจำเลยที่ 1 มีกำหนดไม่น้อยกว่าหกเดือนหรือเพิกถอนใบอนุญาตขับรถของจำเลยที่ 1
ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้รวมการพิจารณาคดีนี้เข้ากับคดีอาญาหมายเลขดำที่ 205/2559 ของศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นยกคำร้อง
จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ ส่วนจำเลยที่ 2 แถลงว่า ประสงค์จะต่อสู้คดี ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 เข้ามาใหม่ภายในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2559 โดยให้จำหน่ายคดีชั่วคราวเฉพาะจำเลยที่ 2 และจำหน่ายคดีเด็ดขาดเมื่อโจทก์ฟ้องหรือไม่ฟ้องภายในเวลาที่ศาลกำหนด
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (2), 160 ตรี (ที่ถูก มาตรา 160 ตรี วรรคหนึ่ง) จำคุก 2 เดือน และปรับ 12,000 บาท จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพเพราะจำนนต่อหลักฐาน จึงไม่ลดโทษให้ ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน จึงให้รอการลงโทษจำคุกไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 พักใช้ใบอนุญาตขับรถของจำเลยที่ 1 มีกำหนด 6 เดือน
ระหว่างอุทธรณ์ จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นยกคำร้อง
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์คำสั่งขอให้รวมการพิจารณาคดีและคำสั่งขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์กับคำพิพากษา
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า แม้โจทก์ได้ฟ้องจำเลยที่ 2 เป็นจำเลยด้วย แต่เมื่อจำเลยที่ 2 แถลงว่าประสงค์จะต่อสู้คดี ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 เข้ามาใหม่ โดยให้จำหน่ายคดีชั่วคราวเฉพาะจำเลยที่ 2 และจำหน่ายคดีเด็ดขาดเมื่อโจทก์ฟ้องหรือไม่ฟ้องภายในเวลาที่ศาลกำหนด จึงไม่มีคดีของจำเลยที่ 2 ในระหว่างพิจารณาที่จำเลยที่ 2 จะอุทธรณ์คำสั่งขอให้รวมการพิจารณาคดี คำสั่งขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ หรือคำพิพากษาของศาลชั้นต้นได้ จำเลยที่ 2 จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งและคำพิพากษาดังกล่าว การที่ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 และศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 จึงเป็นการไม่ชอบ และไม่ก่อสิทธิให้แก่จำเลยที่ 2 ที่จะฎีกา ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 กับยกอุทธรณ์และฎีกาของจำเลยที่ 2

Share