แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างโดยได้รับโอนกรรมสิทธิ์มาจากป.ขอให้ขับไล่จำเลยและบริวารจำเลยให้การต่อสู้คดีว่าจำเลยมีสิทธิอยู่อาศัยในที่ดินพิพาทมิได้อาศัยสิทธิของป.จำเลยส.อ.และป.เป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาทแต่ให้ใส่ชื่อป.เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แทนโจทก์ขอยืมโฉนดที่ดินจากป.และจำเลยเพื่อนำไปเป็นหลักประกันการกู้ยืมเงินจากธนาคารและเพื่อความสะดวกในการดำเนินการจึงเปลี่ยนชื่อในโฉนดจากป.มาใส่ชื่อโจทก์แทนคดีจึงมีประเด็นพิพาทเพียงว่าการที่ป.ยกที่ดินพิพาทให้โจทก์มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายหรือไม่เท่านั้นศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่าป.ไม่มีเจตนาจะยกที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์เพียงแต่ต้องการให้โจทก์ยืมโฉนดไปจำนองเท่านั้นผลจึงมีว่าป.ไม่ได้ให้ที่ดินแก่โจทก์คดีไม่มีประเด็นที่ศาลล่างทั้งสองจะวินิจฉัยว่าป.แสดงเจตนายกให้ตอนที่ป.เบิกความต่อศาลอีกการที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยต่อไปว่าในการสืบพยานป.เบิกความว่าป.เต็มใจที่จะยกที่ดินพิพาทให้โจทก์แสดงว่าหลังจากนั้นป.ได้เปลี่ยนใจยกที่ดินพิพาทให้โจทก์ซึ่งปรากฏว่าป.ได้จดทะเบียนยกให้แก่โจทก์แล้วตั้งแต่ตอนแรกจึงไม่จำต้องไปจดทะเบียนการให้อีกถือว่าไม่สมบูรณ์โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขับไล่ได้นั้นเป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริงนอกประเด็นแห่งคดี
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 15687พร้อมสิ่งปลูกสร้าง โดยได้รับโอนกรรมสิทธิ์มาจากนายปุ่น ชูรัศมีบิดาโจทก์ เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2532 จำเลยทั้งสองและบริวารอาศัยนายปุ่นอยู่ในที่ดินดังกล่าว หลังจากโจทก์รับโอนที่ดินแล้ว จำเลยทั้งสองและบริวารสร้างความเดือดร้อนรำคาญแก่โจทก์หลายครั้ง โจทก์แจ้งให้จำเลยทั้งสองออกไปจากที่ดินของโจทก์ แต่จำเลยทั้งสองไม่ยอมออกไป ขอให้บังคับขับไล่จำเลยทั้งสองให้รื้อถอนบ้านอาคารที่จำเลยทั้งสองปลูกสร้างไว้และพาบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินของโจทก์ส่งมอบที่ดินคืนโจทก์และห้ามจำเลยทั้งสองเข้าเกี่ยวข้อง หากจำเลยทั้งสองไม่ยอมรื้อให้โจทก์มีสิทธิเข้ารื้อ โดยให้จำเลยทั้งสองเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 อยู่ในที่ดินพิพาทโดยมิได้อาศัยสิทธิของนายปุ่น ชูรัศมี จำเลยทั้งสองร่วมกับนางสมัย อิทธิญาณเวช นางอุดมลักษณ์ สว่างอารมณ์ และนายปุ่นซึ่งเป็นบิดาของจำเลยทั้งสองซื้อที่ดินพิพาทขณะที่ยังเป็นที่ดินมือเปล่าจากผู้มีชื่อและครอบครองร่วมกันมาในฐานะเจ้าของรวมเมื่อออกโฉนดจึงได้ใส่ชื่อนายปุ่นเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แทน โจทก์เพียงแต่ขอยืมโฉนดที่ดินจากนายปุ่นและจำเลยทั้งสองเพื่อนำไปเป็นหลักประกันการกู้ยืมเงินจากธนาคารทหารไทย จำกัด สาขาลพบุรี และเพื่อความสะดวกในการดำเนินการดังกล่าวจึงเปลี่ยนชื่อในโฉนดที่ดินจากนายปุ่นมาใส่ชื่อโจทก์แทน โดยไม่มีเจตนาโอนกรรมสิทธิ์ให้โจทก์ โจทก์ตกลงว่าจะไถ่ถอนและนำโฉนดที่ดินส่งคืนแก่นายปุ่นและจำเลยทั้งสองต่อมาโจทก์บิดพลิ้วไม่ยอมจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อกลับมาเป็นของนายปุ่น โจทก์กลับมาฟ้องขับไล่จำเลยเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองและบริวารขนย้ายทรัพย์สินของจำเลยทั้งสองออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่ 15687ตำบลนิคมสร้างตนเอง อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี และให้จำเลยทั้งสองส่งมอบโฉนดดังกล่าวแก่โจทก์ ส่วนคำขออื่นให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาเฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่าศาลล่างวินิจฉัยชี้ขาดคดีนอกประเด็นหรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์กับจำเลยทั้งสองต่างก็เป็นบุตรของนายปุ่น ชูรัศมีที่ดินพิพาทมีชื่อนายปุ่นเป็นเจ้าของในโฉนดที่ดิน ศาลชั้นต้นรับฟังว่านายปุ่นเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทแต่ผู้เดียว จำเลยทั้งสองไม่ได้เป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาทแต่อย่างใด เกี่ยวกับปัญหาที่ว่านายปุ่นยกที่ดินพิพาทให้โจทก์หรือไม่นั้น ปรากฏตามสำเนาหนังสือสัญญาให้ที่ดินเอกสารหมาย จ.1 ว่า นายปุ่นจดทะเบียนยกที่ดินพิพาทให้โจทก์เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2532แล้วในวันที่ 15 เดือนเดียวกันนั้น โจทก์นำที่ดินพิพาทไปจำนองธนาคารตามสำเนาหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเอกสารหมาย ล.2 ต่อมาวันที่ 22 พฤษภาคม 2532 ซึ่งเป็นเวลาหลังจากโจทก์ได้รับยกให้ที่ดินแล้ว โจทก์ทำสัญญาขอยืมโฉนดที่ดินพิพาทตามสัญญาเอกสารหมาย ล.1 มีข้อความว่า มีข้อความว่า โจทก์ขอยืมโฉนดดังกล่าวของนายปุ่นไปจำนองแก่ธนาคาร และสัญญาจะนำโฉนดที่ดินมาคืนภายในวันที่ 1 สิงหาคม 2532 ในสัญญาดังกล่าวมีโจทก์กับสามีโจทก์และจำเลยทั้งสองกับพยานอื่น ๆ ลงลายมือชื่อไว้จำเลยที่ 2นำสืบว่า ความจริงโจทก์ขอยืมโฉนดที่ดินพิพาทจากนายปุ่นไปจำนองเพียงแค่ 2-3 เดือน แล้วจะนำมาคืน แต่ถึงกำหนดก็ไม่นำโฉนดมาคืน ซึ่งนายปุ่นเจ้าของโฉนดก็ได้เร่งรัดอันเป็นเหตุให้โจทก์ต้องทำสัญญาขอยืมโฉนดดังกล่าวและขอเลื่อนเวลาคืนโฉนดออกไป ครั้นถึงกำหนดในวันที่ 1 สิงหาคม 2532 โจทก์จึงไถ่ถอนจำนองและนำโฉนดที่ดินมาคืนให้นายปุ่น ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงในส่วนนี้ว่านายปุ่นไม่มีเจตนาจะยกที่ดินพิพาทให้โจทก์ เพียงแต่ต้องการให้โจทก์ยืมโฉนดไปจำนองเท่านั้นศาลชั้นต้นวินิจฉัยต่อไปว่า แต่นายปุ่นเบิกความว่า นายปุ่นเต็มใจที่จะยกที่ดินพิพาทให้โจทก์ แสดงว่าหลังจากนั้นนายปุ่นได้เปลี่ยนใจยกที่ดินพิพาทให้โจทก์ ซึ่งปรากฏว่านายปุ่นได้จดทะเบียนยกให้แก่โจทก์แล้วตั้งแต่ตอนแรกจึงไม่จำต้องไปจดทะเบียนการให้อีก ถือว่าการให้สมบูรณ์ และโจทก์มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองได้ ข้อวินิจฉัยของศาลชั้นต้นนี้จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่านอกประเด็นโดยมีประเด็นตามคำฟ้องของโจทก์เพียงว่าที่นายปุ่นยกที่ดินพิพาทให้โจทก์ เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์2532 นั้น มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายหรือไม่เท่านั้น เมื่อศาลชั้นต้นรับฟังว่านายปุ่นไม่มีเจตนาให้ที่ดินแก่โจทก์ เพียงแต่ให้โจทก์ยืมโฉนดที่ดินไปจำนอง เช่นนี้แล้ว ก็เป็นเจตนาลวงตกเป็นโมฆะและไม่อาจให้สัตยาบันหรือยินยอมในภายหลังได้ ผลจึงเป็นว่านายปุ่นไม่ได้ให้ที่ดินพิพาทแก่โจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลย ในปัญหานี้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยสรุปแล้วเห็นพ้องด้วยกับศาลชั้นต้น แม้จำเลยจะเห็นว่าไม่ละเอียดชัดเจนก็ถือว่าได้วินิจฉัยแล้วโดยเห็นพ้องด้วยกับศาลชั้นต้น หรืออีกนัยหนึ่งให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นนั่นเอง มิใช่ยังไม่ได้วินิจฉัยดังที่จำเลยฎีกา จำเลยทั้งสองฎีกาอีกข้อหนึ่งว่าศาลล่างวินิจฉัยนอกประเด็นโดยมีนัยเช่นเดียวกับที่ได้อุทธรณ์ไว้ซึ่งเป็นฎีกาในปัญหาข้อกฎหมาย ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อศาลล่างวินิจฉัยเห็นพ้องกันว่านายปุ่่นไม่มีเจตนาให้ที่ดินพิพาทแก่โจทก์ เพียงแต่ให้โจทก์ยืมโฉนดที่ดินดังกล่าวไปจำนองเท่านั้นแล้ว โจทก์ก็มิใช่เจ้าของที่ดินพิพาทและไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสอง ที่นายปุ่นเบิกความตอบคำถามค้านว่าตนยังเต็มใจให้ที่ดินพิพาทแก่โจทก์ และศาลล่างถือเอาหนังสือสัญญาให้ที่ดินตามสำเนาเอกสารหมาย จ.1 เป็นหลักฐานการให้โดยไม่ต้องไปจดทะเบียนการให้อีกนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยเพราะสัญญาดังกล่าวศาลล่างไม่รับฟังว่าเป็นการให้เสียแล้ว โดยรับฟังว่าเป็นแต่เพียงให้ยืมโฉนดไปทำจำนอง ดังนั้น หากมีการให้ในภายหลังตามกฎหมายก็จะต้องไปจดทะเบียนการให้ให้ถูกต้องตามกฎหมายโจทก์ฟ้องอ้างว่าโจทก์ได้รับยกให้ที่ดินพิพาทตามสำเนาหนังสือสัญญาให้ที่ดินเอกสารหมาย จ.1 ลงวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2532ซึ่งเมื่อศาลล่างวินิจฉัยว่าไม่เป็นสัญญาให้แล้ว คดีก็ไม่มีประเด็นที่ศาลล่างจะวินิจฉัยว่านายปุ่นแสดงเจตนายกให้ตอนที่นายปุ่นเบิกความต่อศาล ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่อยู่นอกประเด็นแห่งคดี
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์