แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 เป็นเพียงผู้ติดต่อหารถแทรกเตอร์ไปไถที่ดินที่เกิดเหตุเพื่อได้รับค่าตอบแทนจากเจ้าของรถแทรกเตอร์เท่านั้น จะถือว่าจำเลยที่ 1 ร่วมยึดถือครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินที่เกิดเหตุร่วมกับจำเลยที่ 2 หาได้ไม่ข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 2 แต่ข้อเท็จจริงได้ความว่า เขตป่าสงวนแห่งชาติมีลำน้ำเป็นแนวเขตและมีหลักเขต พร้อมแผ่นป้ายแสดงแนวเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและเขตป่าสงวนแห่งชาติไว้ชัดเจน โดยอยู่ห่างจากที่เกิดเหตุประมาณ 1 กิโลเมตรเท่านั้น จึงเชื่อว่า จำเลยที่ 1 ทราบว่าที่เกิดเหตุอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและเขตป่าสงวนแห่งชาติ การที่จำเลยที่ 1 ติดต่อหารถแทรกเตอร์ไปไถที่ดินที่เกิดเหตุ แม้จะทำเพื่อหวังประโยชน์ตอบแทนจากเจ้าของรถแทรกเตอร์ดังที่จำเลยที่ 1 นำสืบ ก็ถือได้ว่าเป็นการให้ความช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่จำเลยที่ 2 กระทำความผิดจำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86
ย่อยาว
โจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 มาตรา 4, 33, 38, 54 พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 4, 6, 9, 14, 31 พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 54, 55, 72 ตรี, 74 จัตวา ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 จ่ายเงินสินบนนำจับแก่ผู้นำจับตามกฎหมาย ให้จำเลยทั้งสองคนงาน ผู้รับจ้างผู้แทนและบริวารของจำเลยทั้งสองออกจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและเขตป่าสงวนแห่งชาติ
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 มาตรา 33, 38 วรรคหนึ่ง,54 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507มาตรา 14 วรรคหนึ่ง, 31 วรรคหนึ่ง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติฯ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 6 เดือน จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คนละหนึ่งในสาม คงจำคุกคนละ 4 เดือน ให้จำเลยทั้งสองคนงาน ผู้รับจ้างผู้แทนและบริวารของจำเลยทั้งสองออกจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและเขตป่าสงวนแห่งชาติ ข้อหาอื่นและคำขอนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และการกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นกรรมเดียว เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 และให้ปรับจำเลยที่ 2 เป็นเงิน 24,000 บาทอีกสถานหนึ่ง เมื่อลดโทษให้จำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสามแล้วคงปรับ 16,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ให้จำเลยที่ 2 ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก3 เดือน ต่อครั้ง มีกำหนด 1 ปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่าในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง นายประสิทธิ์ พุทธบูชา เจ้าพนักงานป่าไม้เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเมี่ยงและภูทองกับพวกร่วมกันจับกุมนายรักเกียรติ สมใจ นายอมร สุรธรรม และนายมนัส สุวรรณคำ ในขณะกำลังใช้รถแทรกเตอร์จำนวน 3 คันไถที่ดินในที่เกิดเหตุ และจับกุมจำเลยทั้งสองซึ่งอยู่ในที่เกิดเหตุด้วย ที่เกิดเหตุมีเนื้อที่ 15 ไร่อยู่ภายในป่าภูเมี่ยงและภูทอง ตำบลบ่อภาค อำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งได้ประกาศให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และป่าน้ำภาคฝั่งขวา ตำบลชาติตระการ อำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งได้ประกาศเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติตามพระราชกฤษฎีกาและกฎกระทรวงเอกสารหมาย จ.6 และ จ.2 ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้ยึดถือครอบครองและทำประโยชน์ในที่เกิดเหตุ จึงมีความผิดตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าฯ มาตรา 38 วรรคหนึ่ง, 54 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติฯมาตรา 14 วรรคหนึ่ง, 31 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 2 มิได้ฎีกา คดีสำหรับจำเลยที่ 2 จึงถึงที่สุด มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 2 หรือไม่ โจทก์มีนายประสิทธิ์เจ้าพนักงานป่าไม้ 5 รับราชการอยู่ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเมี่ยงและภูทอง และนายอดุลยศักดิ์ อินทรชัยศรี ลูกจ้างประจำของกรมป่าไม้ ประจำอยู่ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเมี่ยงและภูทองเป็นพยานเบิกความว่า ขณะที่พยานทั้งสองไปถึงที่เกิดเหตุพบนายรักเกียรติ นายอมรและนายมนัสกำลังขับรถแทรกเตอร์ไถที่ดินที่เกิดเหตุ โดยมีจำเลยทั้งสองยืนอยู่ในที่ดินที่เกิดเหตุด้วย พยานทั้งสองจึงจับกุมนายรักเกียรติ นายอมร นายมนัสและจำเลยทั้งสองโดยแจ้งข้อหาว่าร่วมกันยึดถือครอบครองทำประโยชน์หรือกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติและยึดถือครอบครองที่ดินในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า นายรักเกียรตินายอมร นายมนัส และจำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ พยานทั้งสองสอบถามจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 รับว่าได้ยึดถือครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินที่เกิดเหตุ ส่วนจำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ติดต่อหารถแทรกเตอร์ไปไถที่ดินที่เกิดเหตุโดยได้รับค่าตอบแทนจากเจ้าของรถแทรกเตอร์และพันตำรวจโทสมนึก สุวรรณฤทธิ์ พนักงานสอบสวนพยานโจทก์เบิกความว่าชั้นสอบสวนพยานแจ้งข้อหานายรักเกียรติ นายอมร นายมนัส และจำเลยทั้งสองเช่นเดียวกับชั้นจับกุม ทุกคนให้การปฏิเสธ โดยจำเลยที่ 2ให้การว่า จำเลยที่ 2 ได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินที่เกิดเหตุเนื้อที่ 15ไร่ ส่วนจำเลยที่ 1 ให้การว่า เป็นผู้ติดต่อหารถแทรกเตอร์ไปไถที่ดินที่เกิดเหตุ พยานได้ออกไปตรวจที่เกิดเหตุและทำบันทึกการตรวจสถานที่เกิดเหตุไว้ตามเอกสารหมาย จ.8 เห็นว่า ตามคำเบิกความของนายประสิทธิ์และนายอดุลยศักดิ์ได้ความแต่เพียงว่า ขณะที่พยานทั้งสองพบนายรักเกียรตินายอมร และนายมนัสกำลังขับรถแทรกเตอร์ไถที่ดินที่เกิดเหตุนั้น จำเลยที่ 1กำลังยืนอยู่กับจำเลยที่ 2 เท่านั้น เมื่อพยานทั้งสองสอบถามจำเลยที่ 2จำเลยที่ 2 ก็ยืนยันว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินที่เกิดเหตุแต่ผู้เดียว ตามคำเบิกความของพยานทั้งสองปากดังกล่าวไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 ได้ร่วมยึดถือครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินที่เกิดเหตุร่วมกับจำเลยที่ 2 นอกจากนี้เมื่อพันตำรวจโทสมนึกออกไปตรวจที่เกิดเหตุก็พบว่าที่เกิดเหตุมีการทำประโยชน์ ไม่มีสภาพเป็นป่า จำเลยที่ 2 อ้างว่าได้ครอบครองทำกินโดยตลอดและเสียภาษีบำรุงท้องที่ อันเป็นการเจือสมกับข้อนำสืบของจำเลยที่ 1 จึงมีเหตุผลให้เชื่อได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นเพียงผู้ติดต่อหารถแทรกเตอร์ไปไถที่ดินที่เกิดเหตุเพื่อได้รับค่าตอบแทนจากเจ้าของรถแทรกเตอร์เท่านั้น จะถือว่าจำเลยที่ 1 ร่วมยึดถือครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินที่เกิดเหตุร่วมกับจำเลยที่ 2 หาได้ไม่ ข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 2 แต่ข้อเท็จจริงได้ความตามคำเบิกความของนายประสิทธิ์ นายอดุลยศักดิ์ และพันตำรวจโทสมนึกว่า เขตป่าสงวนแห่งชาติมีลำน้ำเป็นแนวเขตและมีหลักเขตพร้อมแผ่นป้ายแสดงแนวเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและเขตป่าสงวนแห่งชาติไว้ชัดเจน โดยอยู่ห่างจากที่เกิดเหตุประมาณ 1 กิโลเมตรเท่านั้น จึงเชื่อว่าจำเลยที่ 1 ทราบว่าที่เกิดเหตุอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและเขตป่าสงวนแห่งชาติ การที่จำเลยที่ 1 ติดต่อหารถแทรกเตอร์ไปไถที่ดินที่เกิดเหตุ แม้จะทำเพื่อหวังประโยชน์ตอบแทนจากเจ้าของรถแทรกเตอร์ดังที่จำเลยที่ 1 นำสืบก็ถือได้ว่าเป็นการให้ความช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่จำเลยที่ 2กระทำความผิด จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 ซึ่งศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 1ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
อนึ่ง จำเลยที่ 1 เป็นเพียงผู้สนับสนุนในการที่จำเลยที่ 2 ยึดถือครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินที่เกิดเหตุเนื้อที่เพียง 15 ไร่ พฤติการณ์แห่งคดีไม่ร้ายแรงประกอบกับจำเลยที่ 1 ไม่เคยรับโทษจำคุกมาก่อน จึงมีเหตุสมควรรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 1 เพื่อให้โอกาสจำเลยที่ 1กลับตนเป็นพลเมืองดี แต่เพื่อให้หลาบจำและป้องปรามมิให้จำเลยที่ 1กระทำความผิดในลักษณะเดียวกันอีก จึงให้ลงโทษปรับอีกสถานหนึ่งและคุมความประพฤติจำเลยที่ 1 ไว้ด้วย”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 มาตรา 33, 38 วรรคหนึ่ง,54 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14 วรรคหนึ่ง, 31 วรรคหนึ่ง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 3 เดือน และปรับ 15,000บาท เมื่อลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสามแล้ว คงจำคุก 2 เดือนและปรับ 10,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ให้จำเลยที่ 1 ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือน ต่อครั้ง มีกำหนด 1 ปีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6