แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530มาตรา 21 วรรคสอง ได้กำหนดเป็นหลักการไว้ว่า ถ้าการเวนคืนรายใดทำให้อสังหาริมทรัพย์ที่เหลือจากการเวนคืนนั้นมีราคาสูงขึ้นก็ให้เอาราคาที่สูงขึ้นหักออกจากเงินค่าทดแทนที่จะต้องจ่ายให้แก่เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนส่วนวรรคสี่กำหนดถึงวิธีการคำนวณราคาที่สูงขึ้นของอสังหาริมทรัพย์ตามวรรคสองว่า ให้ใช้หลักเกณฑ์ตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาแต่หากขณะที่ดินถูกเวนคืนไม่มีพระราชกฤษฎีกาตามมาตรา 21 วรรคสี่ ออกใช้บังคับ ก็ต้องอาศัยหลักเกณฑ์ที่เห็นว่าเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคมมาใช้ หาใช่ไม่ต้องนำราคาที่สูงขึ้นมาหักออกจากค่าทดแทนไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินค่าทดแทนจำนวน 10,286,775 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีจากต้นเงิน 5,895,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสี่ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ในประเด็นต่อมาที่ว่า โจทก์มีสิทธิจะได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนเพียงใดหรือไม่นั้น เห็นว่า ประเด็นนี้จะต้องพิจารณาก่อนว่าการตัดถนนทางหลวงเทศบาลจากถนนสาธรจดถนนพระรามที่ 3 ผ่านที่ดินโฉนดเลขที่ 247ตำบลบางโคล่ (บางขวาง) อำเภอยานนาวา (บางรัก) กรุงเทพมหานคร ของโจทก์บางส่วน ทำให้ที่ดินของโจทก์ส่วนที่เหลืออยู่อีก 725 ตารางวา มีราคาสูงขึ้นหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ย่อมเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่าที่ดินที่อยู่ติดถนนสาธารณะจะมีราคาสูงกว่าที่ดินที่มิได้อยู่ติดถนนสาธารณะเฉพาะอย่างยิ่งถนนทางหลวงเทศบาลมีแนวเขตถนนกว้างถึง 40 เมตรยาวประมาณ 4 กิโลเมตร แสดงว่าเป็นถนนสาธารณะที่กว้างและอยู่ในย่านชุมนุมชน เมื่อที่ดินของโจทก์ส่วนที่เหลือจำนวน 725 ตารางวาซึ่งเดิมเป็นที่ดินที่ไม่มีทางเข้าออกสู่ถนนสาธารณะกลายเป็นที่ดินติดถนนสาธารณะที่กว้างและจะเป็นถนนสายสำคัญสายหนึ่งในอนาคตความเจริญที่จะมีขึ้นหลังจากถนนสายนี้ตัดผ่านเสร็จสมบูรณ์ย่อมส่งผลโดยตรงให้ที่ดินของโจทก์ส่วนที่เหลือมีราคาสูงขึ้นกว่าราคาเดิมที่ไม่มีถนนสาธารณะผ่านอย่างแน่นอนซึ่งในข้อนี้นายกมล ศรีภูริปรีชานนท์ พยานจำเลยเบิกความว่า ที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนของโจทก์มีหน้ากว้าง 60 ถึง 70 เมตรทำให้มีราคาสูงมากเป็นพิเศษคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นและจำนวนเงินค่าทดแทนฯ ได้ตรวจสอบราคาประเมินที่ดินริมถนนจันทน์ระยะ 20 เมตร จากริมถนนปรากฏว่ามีราคาตารางวาละ 35,000 บาทที่ดินของโจทก์อยู่ห่างจากถนนจันทน์ประมาณ 700 เมตร ถนนจันทน์มีความกว้างเพียง 15 เมตร แต่ถนนที่จะตัดใหม่ตามแนวเขตเวนคืนมีความกว้างถึง 40 เมตร คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นและจำนวนเงินค่าทดแทนฯ ได้เอาราคาที่ดินริมถนนจันทน์ดังกล่าวมาเปรียบเทียบเพื่อให้เป็นคุณและเป็นธรรมแก่โจทก์ซึ่งหากนำเอาที่ดินริมถนนที่กว้างกว่า เช่น ถนนสาธร ซึ่งมีความกว้างใกล้เคียงกันมาเปรียบเทียบ ที่ดินโฉนดดังกล่าวจะมีราคาประมาณตารางวาละ 80,000 ถึง 90,000 บาท การคำนวณดังกล่าวจะได้ค่าความเจริญเพิ่มขึ้นเป็นเงินตารางวาละ 30,000 บาท เมื่อคำนวณว่าที่ดินโจทก์ในระยะ 20 เมตร จากริมถนนมีจำนวน 335 ตารางวาจึงได้ค่าความเจริญขึ้นเป็นเงิน 10,050,000 บาท สูงกว่าจำนวนเงินค่าทดแทนที่โจทก์มีสิทธิได้รับคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นและจำนวนเงินค่าทดแทนฯ จึงไม่กำหนดค่าทดแทนให้โจทก์ทั้งนายปรีชา เปรมปราชญ์ พยานโจทก์เบิกความว่าหลังจากที่ดินโจทก์ถูกเวนคืนมีผู้มาติดต่อขอซื้อที่ดินจากโจทก์ในราคาตารางวาละ 25,000 บาท แต่โจทก์ไม่ขาย นอกจากนี้ นายบัณฑิตทับเจริญ พยานโจทก์เบิกความว่า ที่ดินที่เหลือจากการถูกเวนคืนบริเวณถนนประดู่ 1 มีราคาเพิ่มขึ้นตารางวาละ 100,000 บาทได้ความว่า ที่ดินของโจทก์อยู่บริเวณใกล้เคียงกับถนนประดู่ 1ดังกล่าว ดังนี้ พยานโจทก์จึงมีลักษณะเจือสมกับพยานจำเลยข้อเท็จจริงฟังได้ว่าที่ดินของโจทก์ส่วนที่เหลือจากการเวนคืนจะมีราคาเพิ่มขึ้นเป็นไม่ต่ำกว่าตารางวาละ 35,000 บาท เมื่อนำราคาที่ดินของโจทก์ก่อนถูกเวนคืนตารางวาละ 15,000 บาทมาหักออกเป็นราคาที่สูงขึ้นตารางวาละ 20,000 บาท ที่ดินของโจทก์ส่วนที่เหลือมีจำนวน 725 ตารางวา จึงมีราคาสูงขึ้นเป็นเงิน14,500,000 บาท หรือแม้จะถือว่าโจทก์สามารถใช้ประโยชน์ในที่ดินส่วนที่เหลือเพียง 425 ตารางวา ตามที่โจทก์อ้างในคำฟ้องก็จะมีราคาสูงขึ้นเป็นเงิน 8,500,000 บาท อันเป็นจำนวนมากกว่าเงินค่าทดแทนที่โจทก์มีสิทธิได้รับเช่นเดียวกัน ฎีกาของโจทก์ที่ว่า ที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนมีราคาไม่สูงขึ้นเป็นพิเศษนั้นฟังไม่ขึ้น
ที่โจทก์ฎีกาว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 มาตรา 21 วรรคสี่ บัญญัติว่า การคำนวณว่าอสังหาริมทรัพย์ใดมีราคาสูงขึ้นตามวรรคสองหรือราคาลดลงตามวรรคสาม ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกากรณีของโจทก์ในขณะที่ที่ดินของโจทก์ถูกเวนคืนและคณะกรรมการกำหนดค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนยังไม่มีการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาตามมาตรา 21 วรรคสี่ เพิ่งจะมีพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณราคาที่สูงขึ้นหรือลดลงของอสังหาริมทรัพย์ที่เหลือจากการเวนคืนตามมาตรา 21 วรรคสี่ประกาศใช้เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2537 และตามมาตรา 5 แห่งพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าว บัญญัติว่า “หลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณราคาที่สูงขึ้นหรือลดลงของอสังหาริมทรัพย์ที่เหลือจากการเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกานี้ไม่ใช้บังคับแก่การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนอยู่ก่อนวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ” ที่ดินที่ถูกเวนคืนก่อนวันที่พระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าวใช้บังคับย่อมไม่อาจนำหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณราคาที่สูงขึ้นของอสังหาริมทรัพย์ที่เหลือจากการเวนคืนตามที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวมาใช้ได้ จึงไม่อาจนำราคาที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนที่สูงขึ้นมาหักออกจากเงินค่าทดแทนที่ต้องจ่ายแก่โจทก์นั้นเห็นว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530มาตรา 21 วรรคสอง บัญญัติว่า ถ้าการเวนคืนทำให้อสังหาริมทรัพย์ที่เหลืออยู่มีราคาสูงขึ้น ก็ให้เอาราคาที่สูงขึ้นนั้นหักออกจากเงินค่าทดแทนบทกฎหมายดังกล่าวได้กำหนดเป็นหลักการไว้ว่าถ้าการเวนคืนรายใดทำให้อสังหาริมทรัพย์ที่เหลือจากการเวนคืนนั้นมีราคาสูงขึ้นก็ให้เอาราคาที่สูงขึ้นหักออกจากเงินค่าทดแทนที่จะต้องจ่ายให้แก่เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนส่วนในวรรคสี่ได้กำหนดถึงวิธีการคำนวณราคาที่สูงขึ้นของอสังหาริมทรัพย์ตามวรรคสองว่า ให้ใช้หลักเกณฑ์ตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา ดังนั้น หากการเวนคืนทำให้ที่ดินที่เหลือของโจทก์มีราคาสูงขึ้นจึงต้องเป็นไปตามหลักการที่มาตรา 21 วรรคสองบัญญัติไว้ ส่วนวิธีการคำนวณหาราคาที่สูงขึ้นดังกล่าว เมื่อขณะที่ที่ดินของโจทก์ถูกเวนคืนยังไม่มีพระราชกฤษฎีกาตามที่มาตรา 21 วรรคสี่บัญญัติไว้ออกใช้บังคับ ก็จะต้องอาศัยหลักเกณฑ์ที่เห็นว่าเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคมมาใช้หาใช่จะต้องแปลความว่า เมื่อไม่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณออกใช้บังคับแล้ว จะมิต้องคำนวณราคาที่สูงขึ้นของอสังหาริมทรัพย์ที่เหลือจากการเวนคืนและไม่ต้องนำมาหักออกจากค่าทดแทนที่จะต้องจ่ายให้แก่เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนไม่ส่วนที่มาตรา 5 แห่งพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณราคาที่สูงขึ้นบัญญัติไว้ดังกล่าวนั้นก็เป็นเพียงทำให้หลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณราคาดังกล่าวไม่มีผลย้อนหลังไปใช้บังคับแก่ที่ดินที่ถูกเวนคืนก่อนวันที่พระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าวมีผลใช้บังคับเท่านั้น หาใช่มีผลทำให้ศาลไม่มีอำนาจคำนวณราคาที่ดินส่วนที่เหลือของโจทก์ว่ามีราคาสูงขึ้นและนำมาหักกับเงินค่าทดแทนที่จะต้องจ่ายแก่โจทก์ไม่ เมื่อปรากฏว่าที่ดินของโจทก์ส่วนที่เหลือจากการเวนคืนมีราคาสูงขึ้นเป็นจำนวนมากกว่าเงินค่าทดแทนที่โจทก์มีสิทธิได้รับ จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายเงินค่าทดแทนแก่โจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน