คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 827/2537

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การที่ น. พยานฟังคำเบิกความของ ว. ซึ่งได้เบิกความต่อหน้าตนมาแล้ว แม้จะเป็นการเบิกความในชั้นไต่สวนมูลฟ้องกรณีก็ต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 114ประกอบด้วย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 แม้มาตรา 114 จะมิได้เป็นการบังคับมิให้ศาลรับฟังคำเบิกความของ น.ซึ่งได้ฟังคำเบิกความของ ว. มาแล้วก็ตาม แต่หากปรากฏว่าคำเบิกความของ น. อาจเปลี่ยนแปลงไปโดยฟังคำเบิกความของ ว.หรือสามารถทำให้คำวินิจฉัยชี้ขาดของศาลเปลี่ยนแปลงไปได้ คำเบิกความของ ว. ก็เป็นการผิดระเบียบ ไม่มีน้ำหนักให้เชื่อฟังได้เมื่อปรากฏว่า น. เบิกความโดยรู้เห็นเหตุการณ์ร่วมกับ ว.ดังนั้น คำเบิกความของ น. จึงอาจเปลี่ยนแปลงไปโดยฟังคำเบิกความของ ว. และสามารถทำให้คำวินิจฉัยชี้ขาดของศาลเปลี่ยนแปลงไปได้เป็นคำเบิกความที่ผิดระเบียบ ไม่มีน้ำหนักให้เชื่อฟังได้กรณีดังกล่าวจำเลยไม่ต้องคัดค้านก่อนที่โจทก์จะนำน.เข้าสืบเพราะเมื่อยังไม่ปรากฏว่าพยานจะเบิกความเป็นที่เชื่อถือฟังได้หรือไม่และสามารถทำให้คำวินิจฉัยชี้ขาดของศาลเปลี่ยนแปลงไปได้หรือไม่ก็ต้องให้พยานเบิกความไปก่อน เพื่อศาลจะได้ใช้ดุลพินิจในการรับฟังว่าเป็นการผิดระเบียบหรือไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นสมาชิกสภาคหบาล เคหสถาน 4จำเลยทั้งสองเป็นกรรมการคหบาล เคหสถาน 4 จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันใส่ความโจทก์ต่อนายวิสิฎฐ์ ทุมมานนท์ และภรรยาโดยจำเลยที่ 1 พูดว่า “ที่นายอมร(โจทก์) ยื่นญัตติด่วนไม่ไว้วางใจพวกผม อ้างว่าพวกผมกลั่นแกล้งและไม่ให้ความเป็นธรรมแก่พนักงานคหบาลนั้นความจริงพนักงานคนนั้นคือเมียน้อยมัน มันยุยงเมียน้อยมันให้ฟ้องหย่าผัวขอแบ่งสมบัติกับผัว” นอกจากนั้นยังพูดว่า”เรื่องมีคนร้ายงัดแงะสำนักงานคหบาลนั้น ก็พวกมันพวกกรรมการเก่าทั้งนั้น”และจำเลยที่ 2 พูดว่า”ใช่พวกกรรมการเก่าเองนั่นแหละสร้างสถานการณ์” ซึ่งคำว่า “กรรมการเก่า” หมายถึง “โจทก์”จำเลยทั้งสองพูดข้อความดังกล่าวต่อเนื่องกัน เนื่องจากโกรธแค้นไม่พอใจโจทก์เพราะโจทก์ยื่นญัตติด่วนไม่ไว้วางใจคณะกรรมการคหบาลชุดปัจจุบันต่อสภาคหบาล การกระทำของจำเลยทั้งสองทำให้โจทก์เสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่นและถูกเกลียดชัง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 83
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีโจทก์มีมูลเฉพาะจำเลยที่ 1 และเฉพาะข้อความว่า “ที่นายอมร (โจทก์) ยื่นญัตติด่วนไม่ไว้วางใจพวกผม อ้างว่าพวกผมกลั่นแกล้งและไม่ให้ความเป็นธรรมแก่พนักงานคหบาลนั้น ความจริงพนักงานคนนั้นคือเมียน้อยมันมันยุยงเมียน้อยมันให้ฟ้องหย่าผัวขอแบ่งสมบัติกับผัว” ส่วนจำเลยที่ 2 ไม่มีมูล ให้ประทับฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 1 ยกฟ้องจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326 จำคุก 3 เดือน ปรับ 2,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 1 ปี จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 ด้วย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นโจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์ฎีกาว่า คำเบิกความของนางนิภา ทุมมานนท์ พยานโจทก์ไม่เป็นการผิดระเบียบ เพราะเป็นการฟังคำเบิกความของนายวิสิฎฐ์ ทุมมานนท์ ในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง และตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 114มิได้ห้ามมิให้รับฟังโดยเด็ดขาด จำเลยที่ 1 มิได้คัดค้านก่อนที่โจทก์จะนำนางนิภาเข้าสืบเป็นการขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 95 วรรคสอง คำเบิกความของนางนิภารับฟังได้และพยานหลักฐานของโจทก์ฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 หมิ่นประมาทโจทก์ตามฟ้องเห็นว่า การที่นางนิภาฟังคำเบิกความของนายวิสิษฐ์ซึ่งได้เบิกความต่อหน้าตนแล้วแม้จะเป็นคำเบิกความในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง กรณีก็ต้องประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 114 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 เพราะโดยเจตนารมณ์ของกฎหมาย หากพยานที่เบิกความภายหลังได้ฟังคำเบิกความของพยานคนก่อนมาแล้วไม่ว่าจะเป็นคำเบิกความในชั้นไต่สวนมูลฟ้องหรือชั้นพิจารณา ผลก็คืออาจทำให้คำพยานที่เบิกความภายหลังไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือเช่นเดียวกัน กรณีจึงใช้บังคับได้ทั้งในชั้นไต่สวนมูลฟ้องและชั้นพิจารณา และแม้ตามบทบัญญัติดังกล่าวจะมิได้เป็นการบังคับมิให้ศาลรังฟังคำเบิกความของนางนิภาซึ่งได้ฟังคำเบิกความของนายวิสิฏฐ์แล้วก็ตาม แต่หากปรากฏว่าคำเบิกความของนางนิภาอาจเปลี่ยนแปลงไปโดยฟังคำเบิกความของนายวิสิฏฐ์พยานคนก่อน หรือสามารถทำให้คำวินิจฉัยชี้ขาดของศาลเปลี่ยนแปลงไปได้คำเบิกความของนางนิภาก็เป็นการผิดระเบียบ ไม่มีน้ำหนักให้เชื่อฟังได้ เมื่อพิเคราะห์คำเบิกความของนางนิภาแล้วปรากฏว่านางนิภาเบิกความโดยรู้เห็นเหตุการณ์ร่วมกับนายวิสิฏฐ์ จึงเป็นพยานสำคัญดังนั้น คำเบิกความของนางนิภาจึงอาจเปลี่ยนแปลงไปโดยฟังคำเบิกความของนายวิสิฏฐ์ พยานคนก่อน และสามารถทำให้คำวินิจฉัยชี้ขาดของศาลเปลี่ยนแปลงไปได้เป็นคำเบิกความที่ผิดระเบียบไม่มีน้ำหนักให้เชื่อฟังได้กรณีดังกล่าวจำเลยที่ 1 ไม่ต้องคัดค้านก่อนที่โจทก์จะนำนางนิภาเข้าสืบเพราะเมื่อยังไม่ปรากฏว่าพยานเบิกความเป็นที่เชื่อถือฟังได้หรือไม่ ก็ต้องให้พยานเบิกความไปก่อนเพื่อศาลจะได้ใช้ดุลพินิจในการรับฟังว่าเป็นการผิดระเบียบหรือไม่ และกรณีดังกล่าวเป็นคนละเรื่องกับที่บัญญัติในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 95 วรรคสอง ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ตามที่โจทก์ฎีกา”
พิพากษายืน

Share