คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1201/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

คู่ความซึ่งมีหน้าที่นำพยานมาสืบภายหลังต้องถามค้านพยานของคู่ความฝ่ายที่นำสืบก่อนในเวลาที่พยานเบิกความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 89 นั้น ต้องเป็นกรณีที่คู่ความฝ่ายที่มีหน้าที่นำสืบภายหลังประสงค์จะสืบพยานของตนเพื่อหักล้างหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขถ้อยคำพยานฝ่ายที่นำสืบก่อนในข้อความทั้งหลายซึ่งพยานเช่นว่านั้นเป็นผู้รู้เห็นหรือเพื่อพิสูจน์ข้อความอย่างใดอย่างหนึ่งอันเกี่ยวด้วยการกระทำหรือถ้อยคำหรือหนังสือซึ่งพยานเช่นว่านั้นได้กระทำขึ้นโดยเฉพาะ คดีนี้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4นำสืบหักล้างพยานโจทก์โดยตรง ไม่ใช่เป็นการจู่โจมทางพยานหลักฐานหรือเอาเปรียบโจทก์ จึงไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 89 ศาลรับฟังได้ ก่อนจะตกลงทำสัญญาประกันภัย โจทก์กับจำเลยที่ 2ถึงที่ 4 ได้ตกลงกันตามเอกสารหมาย ล.1 ซึ่งมีข้อความว่าโจทก์ยอมรับเบี้ยประกันอัตราร้อยละ 30 ของเบี้ยประกันภัยทั้งหมดและให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเองนับแต่วันที่ 8 มิถุนายน 2536 ถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2536แต่ตามกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย จ.10 และ จ.13 ระบุให้จำเลยทั้งสี่ชำระเบี้ยประกันทั้งหมดและให้โจทก์เป็นผู้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตลอดอายุสัญญาการแสดงเจตนาในการทำสัญญาประกันภัยดังกล่าวจึงเป็นการแสดงเจตนาลวงโดยโจทก์กับจำเลยทั้งสี่สมรู้กันทำขึ้นเพื่อลวงบุคคลอื่นว่าจำเลยทั้งสี่เป็นผู้เอาประกันภัยและโจทก์เป็นผู้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้บุคคลภายนอก สัญญาประกันภัยจึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 155 วรรคหนึ่งจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ซึ่งเป็นคู่กรณียกขึ้นต่อสู้โจทก์ได้ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องโจทก์ฟังได้ว่าจำเลยทั้งสี่ได้ชำระเบี้ยประกันให้โจทก์ไปแล้วตามข้อตกลงเอกสารหมาย ล.1โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าเบี้ยประกันจากจำเลยทั้งสี่อีก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินค่าเบี้ยประกันภัยจำนวน 2,528,238.05 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ให้การว่า โจทก์ทำสัญญาประกันภัยให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ไว้ โดยตกลงคิดเบี้ยประกันภัยเพียงอัตราร้อยละ 30 ของเบี้ยประกันภัยทั้งหมดและให้โจทก์รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2535 ถึงวันที่7 มิถุนายน 2536 หลังจากนั้นให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ชดใช้และโจทก์จะไม่นำเอาเอกสารต่าง ๆ มาเป็นกรณีพิพาทกับจำเลยจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จึงชำระเบี้ยประกันไปอัตราร้อยละ 30ของเบี้ยประกันภัยทั้งหมดเป็นเงิน 1,722,717 บาท และโจทก์ได้มอบกรมธรรม์ประกันภัยให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 แล้ว จึงถือว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ชำระเบี้ยประกันภัยครบถ้วนตามพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 มาตรา 74 แล้ว จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4จึงไม่ได้เป็นหนี้โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “โจทก์ฎีกาต่อไปว่า เมื่อโจทก์นำนายอนุวัติ เตียวตระกูล และนายพุฒิพงษ์ ด่านบุญสุตเข้าเบิกความนั้น จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ไม่ได้ซักค้านพยานโจทก์ทั้งสองปากถึงข้อเท็จจริงที่ว่า โจทก์ตกลงรับเบี้ยประกันภัยอัตราร้อยละ 30 ของเบี้ยประกันภัยทั้งหมด เป็นการจู่โจมทางพยานหลักฐานและเป็นการเอาเปรียบโจทก์ ศาลจะรับฟังมาวินิจฉัยเป็นผลร้ายแก่โจทก์ไม่ได้ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 89 เห็นว่า คู่ความซึ่งมีหน้าที่นำพยานมาสืบภายหลังต้องถามค้านพยานของคู่ความฝ่ายที่นำสืบก่อนในเวลาที่พยานเบิกความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 89นั้น จะต้องเป็นกรณีที่คู่ความฝ่ายที่มีหน้าที่นำสืบภายหลังประสงค์จะสืบพยานของตนเพื่อหักล้างหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขถ้อยคำพยานฝ่ายที่นำสืบก่อนในข้อความทั้งหลายซึ่งพยานเช่นว่านั้นเป็นผู้รู้เห็นหรือเพื่อพิสูจน์ข้อความอย่างใดอย่างหนึ่งอันเกี่ยวด้วยการกระทำหรือถ้อยคำหรือหนังสือซึ่งพยานเช่นว่านั้นได้กระทำขึ้นโดยเฉพาะ แต่คดีนี้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 นำสืบหักล้างพยานโจทก์โดยตรง ไม่ใช่เป็นการจู่โจมทางพยานหลักฐานหรือเอาเปรียบโจทก์ ศาลรับฟังได้ กรณีจึงไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 89 ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
โจทก์ฎีกาข้อสุดท้ายว่า สัญญาประกันภัยไม่เป็นโมฆะดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัย ข้อนี้นายพุฒิพงษ์ผู้ช่วยผู้จัดการบริษัทโจทก์พยานโจทก์เบิกความว่า โจทก์ได้ออกหนังสือคุ้มครองชั่วคราว ตามเอกสารหมาย จ.12 และออกกรมธรรม์ตามเอกสารหมาย จ.10 และ จ.13 และเบิกความตอบทนายจำเลยที่ 2ถึงที่ 4 ถามค้านว่า เอกสารหมาย ล.1 ได้ทำบันทึกก่อนที่จะมีการชำระเบี้ยประกันภัย ผู้ที่ลงชื่อในช่องตัวแทนบริษัทผู้ขายประกันภัยคือนายอนุวัติ เตียวตระกูล และเบิกความตอบทนายโจทก์ถามติงว่า ตามเอกสารหมาย ล.1 ข้อ 2 การตกลงดังกล่าวจะทำไม่ได้เพราะผิดต่อหลักการของการประกันภัยและขัดต่อความสงบเรียบร้อย นายอนุวัติเบิกความตอบทนายจำเลยที่ 2ถึงที่ 4 ถามค้านว่า ตามเอกสารหมาย ล.1 จะมีพยานรู้เห็นหรือไม่ไม่ทราบ นางสุจินดาได้แจ้งให้พยานทราบว่าพยานต้องลงลายมือชื่อในเอกสารหมาย ล.1 ก่อน มิฉะนั้นจะไม่จ่ายเช็คให้ พยานได้อ่านข้อความในเอกสารหมาย ล.1 แล้ว จึงลงลายมือชื่อใบรับเบี้ยประกันภัยเอกสารหมาย ล.2 ตรงกับเอกสารหมาย ล.6 แสดงว่า โจทก์ได้รับเช็คฉบับดังกล่าวแล้ว นางสุจินดา เชิดชัย กรรมการผู้จัดการจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เบิกความเป็นพยานจำเลยว่า ตอนแรกนายพุฒิพงษ์และนายอนุวัติเป็นผู้เจรจาแทนโจทก์ ต่อมานายพงศ์ศักดิ์ วิสุทธิผล กรรมการได้เจรจาตกลงกับพยาน ตามบันทึกเอกสารหมาย ล.1และพยานได้สั่งจ่ายเช็คให้โจทก์ ตามเอกสารหมาย ล.6 และโจทก์ได้รับเบี้ยประกันไปแล้ว ตามเอกสารหมาย ล.2 เห็นว่า จำนวนรถยนต์ที่เอาประกันมีมากถึง 371 คัน และเบี้ยประกันสูงถึง 7,136,406บาท จึงสอดคล้องกับคำเบิกความของนางสุจินดาพยานจำเลยที่ 2ถึงที่ 4 ที่ว่า ก่อนจะทำสัญญาประกันภัย กรรมการผู้จัดการโจทก์และนางสุจินดากรรมการผู้จัดการจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4ได้เจรจากันก่อน นายพุฒิพงษ์พยานโจทก์เองก็เบิกความรับว่าได้ออกหนังสือคุ้มครองชั่วคราวและกรมธรรม์ประกันภัยให้ตามเอกสารหมาย จ.12 และ จ.10 ซึ่งเอกสารดังกล่าว ลงวันที่15 ตุลาคม 2535 และ 30 ธันวาคม 2535 ซึ่งขณะนั้นจำเลยที่ 2ถึงที่ 4 ยังไม่ชำระเบี้ยประกันตามเอกสารหมาย ล.2 และ ล.6แต่ตามพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 มาตรา 34ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้เอาประกันภัยได้ชำระเบี้ยประกันภัยและการที่โจทก์ยอมออกกรมธรรม์ประกันภัยให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4ก่อนได้รับชำระเบี้ยประกันแสดงว่า โจทก์ไว้วางใจจำเลยที่ 2ถึงที่ 4 คำเบิกความของนางสุจินดาว่ามีน้ำหนักน่าเชื่อข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่นางสุจินดาพยานจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4เบิกความว่า ก่อนจะตกลงทำสัญญาประกันภัย โจทก์กับจำเลยที่ 2ถึงที่ 4 ได้ตกลงกันตามเอกสารหมาย ล.1 เอกสารหมาย ล.1มีข้อความว่า โจทก์ยอมรับเบี้ยประกันอัตราร้อยละ 30ของเบี้ยประกันภัยทั้งหมดและให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเองนับแต่วันที่ 8 มิถุนายน 2536 ถึงวันที่30 ธันวาคม 2536 แต่ตามกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย จ.10และ จ.13 ระบุให้จำเลยทั้งสี่ชำระเบี้ยประกันทั้งหมดและให้โจทก์เป็นผู้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตลอดอายุสัญญา การแสดงเจตนาในการทำสัญญาประกันภัยดังกล่าวจึงเป็นการแสดงเจตนาลวงโดยโจทก์กับจำเลยทั้งสี่สมรู้กันทำขึ้นเพื่อลวงบุคคลอื่นว่าจำเลยทั้งสี่เป็นผู้เอาประกันภัยและโจทก์เป็นผู้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้บุคคลภายนอก สัญญาประกันภัยจึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 155 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4ซึ่งเป็นคู่กรณียกขึ้นต่อสู้โจทก์ได้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ตามคำฟ้องโจทก์ว่า จำเลยทั้งสี่ได้ชำระเบี้ยประกันให้โจทก์ไปแล้ว1,722,717 บาท ตามข้อตกลงเอกสารหมาย ล.1 โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าเบี้ยประกันจากจำเลยทั้งสี่อีก ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน”
พิพากษายืน

Share