คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4075/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บันทึกข้อตกลงระหว่างฝ่ายโจทก์กับฝ่ายจำเลยเมื่อเป็นเพียงรายละเอียดที่ศาลแรงงานบันทึกไว้ในรายงานกระบวนพิจารณา ทั้งฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลยมิได้ส่งบันทึกข้อตกลงดังกล่าวเป็นพยาน และตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าวระบุว่าบริษัทจะไม่ดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและทางอาญาแก่พนักงานที่ได้กระทำความผิดเท่านั้นโดยมิได้ระบุไว้ชัดแจ้งว่า บริษัทดังกล่าวหมายถึงบริษัทใดบ้าง ดังนี้แม้โจทก์ทั้งสามจะเป็นนิติบุคคลต่างหากจากกัน แต่กรรมการบริหารผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ทั้งสามเป็นกรรมการบริหารชุดเดียวกัน และฝ่ายจำเลยก็แถลงต่อศาลแรงงานว่าในการทำบันทึกข้อตกลงดังกล่าวเป็นการทำข้อตกลงเพื่อยุติปัญหาข้อพิพาททั้งหมด ไม่ได้ทำขึ้นเฉพาะกับโจทก์ที่ 2และที่ 3 เพราะผู้บริหารของโจทก์ทั้งสามเป็นคนเดียวกันเช่นนี้การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยเชื่อว่าทั้งสองฝ่ายมีเจตนายุติปัญหาข้อพิพาททั้งหมดที่มีอยู่ต่อกัน และฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์ที่ 1 ตกลงทำบันทึกข้อตกลงดังกล่าวด้วย บันทึกข้อตกลงดังกล่าวมีผลผูกพันโจทก์ที่ 1 จึงเป็นการที่ศาลแรงงานวินิจฉัยข้อเท็จจริงโดยพิจารณาจากข้อเท็จจริงและพฤติการณ์แห่งคดีตามที่ปรากฏในสำนวนแล้ว มิใช่เป็นการฟังข้อเท็จจริงผิดไปจากข้อเท็จจริงที่ปรากฏในสำนวน ตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าวระบุว่า บริษัทจะไม่ดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและทางอาญาแก่พนักงานที่ได้กระทำความผิดระหว่าง การนัดหยุดงานระหว่างวันที่ 3 ถึง 8 กรกฎาคม 2540จึงเป็นการตกลงกันเพื่อระงับข้อพิพาททั้งหมดระหว่างฝ่ายโจทก์กับฝ่ายจำเลย ซึ่งรวมตลอดถึงการกระทำความผิดอันได้แก่การปิดกั้นทางเข้าออกโรงงานของโจทก์ที่ 1และที่ 3 ในระหว่างการนัดหยุดงานซึ่งเกิดขึ้นระหว่างวันที่3 กรกฎาคม 2540 จนถึงวันที่ 8 กรกฎาคม 2540ซึ่งเป็นวันที่ฝ่ายโจทก์กับจำเลยตกลงทำบันทึกข้อตกลงดังกล่าวด้วย และแม้ตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าวมิได้ ระบุให้รวมการฟ้องคดีนี้ซึ่งได้ฟ้องก่อนทำบันทึกข้อตกลงดังกล่าวให้เป็นอันระงับไปก็ตาม แต่การที่โจทก์ที่ 1 และที่ 3ฟ้องคดีนี้ก็เนื่องจากการนัดหยุดงานในวันที่ 3 กรกฎาคม 2540นั่นเอง ดังนั้น การตกลงดังกล่าวจึงรวมถึงการฟ้องและการดำเนินคดีนี้ด้วย มิใช่การตกลงมีผลตั้งแต่วันที่8 กรกฎาคม 2440 ซึ่งเป็นวันทำข้อตกลงเป็นต้นไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2541 ความที่ระบุในบันทึกข้อตกลงดังกล่าวที่ระบุว่า ในช่วงตั้งแต่วันที่ทำข้อตกลงฉบับนี้ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2541 เพราะขัดกับข้อตกลงที่ว่าบริษัทจะไม่ดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและทางอาญาแก่พนักงานที่ได้กระทำความผิดระหว่างวันที่ 3 ถึง 8 กรกฎาคม 2540ดังนั้น สิทธิการฟ้องและการดำเนินคดีนี้ของโจทก์ที่ 1และที่ 3 ย่อมระงับไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสามเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัท จำกัดจำเลยที่ 1 เป็นประธานสหภาพแรงงานกะรัต สุขภัณฑ์และเป็นลูกจ้างของโจทก์ที่ 1 จำเลยที่ 2 เป็นสภาพแรงงานชื่อว่าสหภาพแรงงานรอยับ ปอร์ซเลน มีจำเลยที่ 3เป็นประธานสหภาพแรงงาน จำเลยที่ 4 ถึงที่ 18 เป็นกรรมการสหภาพแรงงาน จำเลยที่ 19 เป็นสหภาพแรงงานชื่อว่าสหภาพแรงงานสยามไฟน์ไชน่า มีจำเลยที่ 20 เป็นประธานสหภาพแรงงาน และจำเลยที่ 21 ถึงที่ 29 เป็นกรรมการสหภาพแรงงาน เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2540เวลาประมาณ 6 นาฬิกา จำเลยที่ 1 ถึงที่ 29 กับพวกร่วมกันปิดกั้นขวางทางเข้าออกโรงงานของโจทก์ทั้งสามโดยนำเอาผ้าถุงจำนวนหลายผืนมาผูกติดกันเป็นทางยาว นำผ้าอนามัยมาผูกห้อยแล้วนำมาปิดกั้นประตูทางเข้าออก และยืนโบกธงซึ่งทำด้วยผ้าถุงไปมาแล้วตะโกนห้ามลูกจ้างของโจทก์ทั้งสามและบุคคลใด ๆ เข้าออกบริเวณโรงงานของโจทก์ทั้งสามหากไม่เชื่อจำเลยที่ 1 ถึงที่ 29 กับพวกจะทำร้ายและร่วมกันยุยงชักชวนลูกจ้างคนอื่นของโจทก์ทั้งสามให้ร่วมหยุดงานปิดกั้นทางเข้าออกก็ตาม โดยมีเจตนามิให้โจทก์ทั้งสามประกอบกิจการได้ตามปกติ ทำให้โจทก์ทั้งสามได้รับความเสียหายวันละ5,000,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งยี่สิบเก้าร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ที่ 1 วันละ 5,000,000 บาท โจทก์ที่ 2 วันละ5,000,000 บาท และโจทก์ที่ 3 วันละ 5,000,000 บาทนับแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2540 ไปจนกว่าจำเลยทั้งยี่สิบเก้าจะหยุดปิดกั้นทางเข้าออกบริเวณโรงงานของโจทก์ทั้งสาม และรื้อถอนสิ่งขวางกั้นบริเวณทางเข้าออกโรงงานของโจทก์ทั้งสามทั้งหมด ห้ามมิให้จำเลยทั้งยี่สิบเก้ากระทำการใด ๆ อันเป็นการปิดกั้นขวางทางบริเวณทางเข้าออกของโรงงานโจทก์ทั้งสามและห้ามจำเลยทั้งยี่สิบเก้ายุยงสนับสนุนให้ลูกจ้างโจทก์ทั้งสามปิดกั้นขวางทางเข้าออกโรงงานของโจทก์ทั้งสาม
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 29 ให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์ที่ 1 ถอนฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 29 โจทก์ที่ 2 ถอนฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 29 และโจทก์ที่ 3ถอนฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 18 และที่ 28
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งสามมีผู้บริหารเป็นบุคคลคนเดียวกัน การที่ฝ่ายจำเลยทำบันทึกข้อตกลงดังกล่าวกับผู้บริหารของโจทก์ทั้งสามเชื่อได้ว่าทั้งสองฝ่ายมีเจตนายุติปัญหาข้อพิพาททั้งหมดที่มีอยู่ต่อกันหากโจทก์ที่ 1ไม่ตกลงด้วย ฝ่ายจำเลยคงไม่ยอมยุติการนัดหยุดงานแน่นอนข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ที่ 1 ร่วมกับโจทก์ที่ 2 และที่ 3ทำบันทึกข้อตกลงดังกล่าวกับฝ่ายจำเลย บันทึกข้อตกลงดังกล่าวมีผลผูกพันโจทก์ที่ 1 ด้วย เมื่อบันทึกข้อตกลงดังกล่าวมุ่งระงับข้อพิพาทระหว่างฝ่ายโจทก์กับฝ่ายจำเลย โดยฝ่ายโจทก์รับรองว่าจะไม่ดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและอาญาแก่ฝ่ายจำเลยที่ก่อเหตุนัดหยุดงานในระหว่างเกิดเหตุ ดังนั้นสิทธิการฟ้องคดีนี้ของโจทก์ที่ 1 และที่ 3 ซึ่งยื่นฟ้องไว้ก่อนทำบันทึกข้อตกลงดังกล่าวจึงย่อมระงับไปและเกิดสิทธิที่ฝ่ายโจทก์จะดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและอาญาแก่ฝ่ายจำเลยได้ภายใต้เงื่อนไขตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าว พิพากษายกฟ้องโจทก์ที่ 1 และที่ 3
โจทก์ที่ 1 และที่ 3 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ที่ 1 อุทธรณ์ว่าโจทก์ทั้งสามเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายมีกรรมการบริหารผู้มีอำนาจกระทำการแทนเป็นชุดเดียวกัน โจทก์ทั้งสามจึงเป็นนิติบุคคลต่างหากจากกัน บันทึกข้อตกลงฉบับลงวันที่ 8 กรกฎาคม 2540 ทำเป็นหนังสือระหว่างโจทก์ที่ 2 และที่ 3 กับฝ่ายจำเลยเท่านั้น โจทก์ที่ 1 มิได้ตกลงด้วย ที่ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าบันทึกข้อตกลงดังกล่าวมีผลผูกพันโจทก์ที่ 1 จึงเป็นการฟังข้อเท็จจริงผิดไปจากข้อเท็จจริงที่ปรากฏในสำนวนย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า บันทึกข้อตกลงฉบับลงวันที่ 8 กรกฎาคม 2540 ระหว่างฝ่ายโจทก์กับฝ่ายจำเลยเป็นเพียงรายละเอียดที่ศาลแรงงานกลางบันทึกไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 4 ธันวาคม 2540 เท่านั้นทั้งฝ่ายโจทก์และฝ่าจำเลยมิได้ส่งบันทึกข้อตกลงดังกล่าวเป็นพยานเอกสารแต่อย่างใด ตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าว ข้อ 1 ระบุว่าบริษัทจะไม่ดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและทางอาญาแก่พนักงานที่ได้กระทำความผิดเท่านั้นมิได้ระบุไว้ชัดว่า บริษัทดังกล่าวหมายถึงบริษัทใดบ้าง แม้โจทก์ทั้งสามเป็นนิติบุคคลต่างหากจากกันแต่กรรมการบริหารผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ทั้งสามเป็นกรรมการบริหารชุดเดียวกัน ฝ่ายจำเลยก็แถลงต่อศาลแรงงานกลางว่าในการทำบันทึกข้อตกลงดังกล่าวเป็นการทำข้อตกลงเพื่อยุติปัญหาข้อพิพาททั้งหมด ไม่ได้ทำขึ้นเฉพาะกับโจทก์ที่ 2 และที่ 3เพราะผู้บริหารของโจทก์ทั้งสามเป็นคนเดียวกันการที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ฝ่ายจำเลยทำบันทึกข้อตกลงดังกล่าวกับผู้บริหารของโจทก์ทั้งสาม เชื่อได้ว่าทั้งสองฝ่ายมีเจตนายุติปัญหาข้อพิพาททั้งหมดที่มีอยู่ต่อกันหากโจทก์ที่ 1ไม่ตกลงด้วย ฝ่ายจำเลยก็คงไม่ยอมยุติการชุมนุมประท้วงในขณะที่ข้อพิพาทยังมีอยู่อย่างแน่นอน และฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์ที่ 1ตกลงทำบันทึกข้อตกลงดังกล่าวด้วย บันทึกข้อตกลงดังกล่าวมีผลผูกพันโจทก์ที่ 1 เช่นนี้ เห็นได้ว่าศาลแรงงานกลางวินิจฉัยโดยพิจารณาจากข้อเท็จจริงและพฤติการณ์แห่งคดีตามที่ปรากฏในสำนวน มิใช่เป็นการฟังข้อเท็จจริงผิดไปจากข้อเท็จจริงที่ปรากฏในสำนวนดังที่โจทก์ที่ 1 อ้าง คำพิพากษาศาลแรงงานกลางชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ส่วนที่โจทก์ที่ 1 และที่ 3 อุทธรณ์ว่า การทำบันทึกตกลงดังกล่าวไม่เป็นเหตุให้สิทธิการฟ้องและการดำเนินคดีนี้ของโจทก์ที่ 1 และที่ 3 ระงับไปนั้น เห็นว่า ตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าวข้อ 1 ระบุว่า บริษัทจะไม่ดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและทางอาญาแก่พนักงานที่ได้กระทำความผิดระหว่างการนัดหยุดงานระหว่างวันที่ 3 ถึง 8 กรกฎาคม 2540 เช่นนี้ย่อมเห็นได้ว่าการตกลงกันดังกล่าวเพื่อระงับข้อพิพาททั้งหมดระหว่างฝ่ายโจทก์กับฝ่ายจำเลย รวมตลอดถึงการกระทำความผิดอันได้แก่การปิดกั้นทางเข้าออกโรงงานของโจทก์ที่ 1 และที่ 3 ในระหว่างการนัดหยุดงาน ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 3 กรกฎาคม 2540จนถึงวันที่ 8 กรกฎาคม 2540 ซึ่งเป็นวันที่ฝ่ายโจทก์กับฝ่ายจำเลยตกลงทำบันทึกข้อตกลงดังกล่าว แม้ตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าวมิได้ระบุให้การฟ้องคดีนี้ ซึ่งโจทก์ที่ 1 และที่ 3ฟ้องเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2540 ก่อนทำบันทึกข้อตกลงดังกล่าวให้เป็นอันระงับไปก็ตาม แต่คดีนี้โจทก์ที่ 1 และที่ 3 ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ที่ 19 ถึงที่ 27 และที่ 29 กับพวกร่วมกันปิดกั้นขวางทางเข้าออกโรงงานของโจทก์ที่ 1 และที่ 3 และร่วมกันกระทำการต่าง ๆ เป็นเหตุให้โจทก์ที่ 1 และที่ 3 ได้รับความเสียหายการที่โจทก์ที่ 1 และที่ 3 ฟ้องก็เนื่องจากการนัดหยุดงานในวันที่ 3 กรกฎาคม 2540 นั่นเอง การตกลงดังกล่าวในภายหลังจึงรวมถึงการฟ้องและการดำเนินคดีนี้ด้วย ที่โจทก์ที่ 1 และที่ 3อ้างว่า ตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าว ข้อ 1 มีผลตั้งแต่วันที่ 8 กรกฎาคม 2540 ซึ่งเป็นวันทำข้อตกลงเป็นต้นไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2541 นั้น เห็นว่า แม้บันทึกข้อตกลงดังกล่าว ข้อ 1 จะระบุว่า ในช่วงตั้งแต่วันที่ทำข้อตกลงฉบับนี้ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2541 ก็มิได้มีความหมายดังที่โจทก์ที่ 1 และที่ 3 อ้างเพราะขัดกับข้อตกลงที่ว่า บริษัทจะไม่ดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและทางอาญาแก่พนักงานที่ได้กระทำความผิดระหว่างวันที่ 3 ถึง 8 กรกฎาคม 2540 ดังที่วินิจฉัยข้างต้น สิทธิการฟ้องและการดำเนินคดีนี้ของโจทก์ที่ 1 และที่ 3 ย่อมระงับไป ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
พิพากษายืน

Share