คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 30/2536

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างรายวันของจำเลยที่ 2 เหตุละเมิด เกิดขึ้นในขณะจำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์สามล้อมาเก็บ ที่โกดังของจำเลยที่ 2 ซึ่งจำเลยที่ 2 เคยสั่งลูกจ้างทุกคน ว่า เลิกงานแล้วให้นำรถจักรยานยนต์สามล้อไปเก็บไว้ที่โกดัง เหตุละเมิดจึงเกิดขึ้นในขณะที่จำเลยที่ 1 ปฏิบัติงานตามคำสั่งของจำเลยที่ 2 เป็นการกระทำไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 425 และตามมาตรา 425 นี้ นายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิด ซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้าง ไม่ว่าจะเป็นลูกจ้างรายวันหรือลูกจ้างรายเดือนก็ตาม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของนางสาวอนุรา เชี่ยวเกษมผู้ตาย จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของและผู้ครอบครองรถจักรยานยนต์สามล้อแบบพ่วงด้านหน้า จำเลยที่ 1เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 เวลาประมาณ 19 นาฬิกา จำเลยที่ 1ขับขี่รถจักรยานยนต์สามล้อแบบพ่วงด้านหน้าคันดังกล่าวไปในทางการ ที่จ้างและตามคำสั่งของจำเลยที่ 2 ไปตามถนนเหมืองหิตด้วยความประมาทถึงบริเวณหน้าโกดังเก็บของจำเลยที่ 2 แล้ว จำเลยที่ 2 เลี้ยวรถไปทางขวาเพื่อจะเข้าโกดังเก็บของอย่าง กะหันทัน โดยมิได้แสดงสัญญาณใด ๆ อันเป็นจังหวะเดียวกับที่ ผู้ตายขับรถจักรยานยนต์ ยี่ห้อฮอนด้าตามหลังมาในระยะใกล้ต้องหักรถหลบรถที่จำเลยที 1 ขับเลี้ยวโดยกระทันหันเช่นกันเป็น ให้รถที่ผู้ตายขับขี่เสียหลักล้มลงและครูดไปตามถนน ผู้ตายได้ รับบาดเจ็บสาหัสและถึงแก่ความตายในวันต่อมา ขอให้บังคับ จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ และขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 1 มิใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ 2จำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นผู้ครอบครองรถจักรยานยนต์สามล้อแบบพ่วงด้านหน้าคันเกิดเหตุ และมิได้จ้างวานหรือใช้จำเลยที่ 1 ให้ขับรถจักรยานยนต์สามล้อแบบพ่วงด้านหน้าคันดังกล่าว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืนจำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า จำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 หรือไม่ ในข้อนี้จำเลยที่ 2นำสืบรับข้อเท็จจริงแล้วว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างรายวันของจำเลยที่ 2 คดีจึงมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยแต่เพียงว่า จำเลยที่ 1 ได้กระทำละเมิดในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 หรือไม่เท่านั้น ปัญหาข้อนี้ ข้อเท็จจริงฟังได้จากการวินิจฉัยในประเด็นก่อนแล้วว่า เหตุละเมิดเกิดขึ้นในขณะจำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์สามล้อมาเก็บที่โกดังของจำเลยที่ 2 ซึ่งเมื่อพิจารณาประกอบคำเบิกความของจำเลยที่ 2 ที่ว่า จำเลยที่ 2 สั่งลูกจ้างทุกคนว่าเลิกงานแล้วให้นำรถจักรยานยนต์สามล้อคันเกิดเหตุไปเก็บไว้ที่โกดังแล้วจะเห็นได้ว่า เหตุละเมิดเกิดขึ้นในขณะที่จำเลยที่ 1ปฏิบัติงานตามคำสั่งของจำเลยที่ 2 จึงเป็นการกระทำไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1ด้วย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 425 และตามมาตรา 425 นี้ นายจ้างต้องร่วมรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิด ซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้าง ไม่ว่าจะเป็นลูกจ้างรายวันหรือลูกจ้างรายเดือนก็ตาม ดังนั้น ฎีกาของจำเลยที่ 2 ที่ว่าจำเลยที่ 1 มิได้เป็นลูกจ้างรายเดือนของจำเลยที่ 2 จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย เพราะแม้ผลแห่งการวินิจฉัยจะฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 มิได้เป็นลูกจ้างรายเดือนของจำเลยที่ 2ก็ไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้”
พิพากษายืน

Share