แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การกำหนดค่าทดแทนแก่เจ้าของที่ดินที่ถูกเวนคืนตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2497 มาตรา 14กำหนดตามความเป็นธรรมในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาเวนคืนต้องถือตามประกาศราคาปานกลางของที่ดินเพื่อเก็บภาษีบำรุงท้องที่กับสภาพและทำเลของทรัพย์สินมาประกอบกัน การที่อนุญาโตตุลาการนำราคาซื้อขายที่ดินใกล้เคียงแต่อยู่คนละหน่วยและเป็นการซื้อขายเพียงรายเดียว หลังวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาเวนคืน กับนำราคาตามหนังสือของโจทก์เป็นหลักในการพิจารณาเป็นการขัดต่อกฎหมายศาลไม่บังคับตามคำชี้ขาดนั้น จำเลยฎีกาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่บังคับให้จำเลยชำระเงินตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ต้องเสียค่าขึ้นศาลในอัตราร้อยละหนึ่งของทุนทรัพย์.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสี่เป็นเจ้าของที่ดินต้องถูกเวนคืนเพื่อประโยชน์ในการชลประทาน ในการกำหนดค่าทดแทนโจทก์จำเลยได้แต่งตั้งอนุญาโตตุลาการของแต่ละฝ่ายขึ้นพิจารณา แต่อนุญาโตตุลาการมีความเห็นไม่ตรงกัน โจทก์จึงร้องขอต่อศาลชั้นต้นให้มีคำสั่งตั้งประธานอนุญาโตตุลาการขึ้นชี้ขาด ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งนายอุกฤษมงคลนาวิน เป็นประธานอนุญาโตตุลาการ นายอุกฤษ มงคลนาวิน ชี้ขาดกำหนดค่าทดแทนที่ดินไร่ละ 68,000 บาท ที่ดินของโจทก์ทั้งสี่จำนวน 11 ไร่ 2 งาน 29 ตารางวา เป็นเงิน 786,930 บาท แต่จำเลยไม่ชำระขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าว พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2519 จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า การที่อนุญาโตตุลาการทั้งสองฝ่ายเห็นฟ้องกันให้ฝ่ายโจทก์ยื่นคำร้องต่อศาลให้มีคำสั่งตั้งประธาน เป็นการนอกเหนืออำนาจของอนุญาโตตุลาการ คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการและนายอุกฤษมงคลนาวิน ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะไม่ได้ทำการไต่สวนและไม่ได้ฟังพยานหลักฐาน นายอุกฤษ ไม่ได้ทำความเห็นร่วมกับอนุญาโตตุลาการทั้งสองฝ่าย เมื่อนายอุกฤษ ทำคำชี้ขาดยื่นต่อศาลชั้นต้น ในที่สุดศาลฎีกาพิพากษาให้ยกคำร้อง อนุญาโตตุลาการทั้งสองฝ่ายกำหนดราคาค่าทดแทนตามใจชอบขัดต่อกฎหมาย นายอุกฤษ ทำการโดยไม่สุจริต ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืน11 ไร่ 2 งาน 29 ตารางวา ราคาไร่ละ 68,000 บาท เป็นเงิน786,930 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 23 กรกฎาคม 2523 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การกำหนดราคาที่ดินที่ถูกเวนคืนตามความเป็นธรรมตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2497 ต้องถือตามประกาศราคาปานกลางของที่ดินเพื่อประโยชน์แห่งการเสียภาษีบำรุงท้องที่ กับสภาพและทำเลของที่ดินประกอบด้วยสำหรับราคาที่ดินที่ที่ดินของโจทก์ทั้งสี่ตั้งอยู่ ไม่มีราคาปานกลางของที่ดินเพื่อประโยชน์แห่งการเสียภาษีบำรุงท้องที่ มีแต่ประกาศราคาที่ดินตามราคาประเมินเพื่อเป็นทุนทรัพย์สำหรับเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ซึ่งพอเทียบเคียงได้ว่าเป็นราคาปานกลางของที่ดินเพื่อประโยชน์แห่งการเสียภาษีบำรุงท้องที่ได้ และที่ดินของโจทก์ทั้งสี่ที่ถูกเวนคืนอยู่ในหน่วยที่ 2 ซึ่งมีราคาปานกลางไร่ละ 2,000 บาท ในวันที่พระราชกฤษฎีกาใช้บังคับก็ต้องถือเอาราคาดังกล่าวเป็นราคาปานกลางของที่ดินโจทก์ทั้งสี่ จะถือเอาราคาปานกลางของที่ดินในหน่วยอื่นมาประกอบการพิจารณาเป็นราคาปานกลางไม่ได้ การที่อนุญาโตตุลาการฝ่ายโจทก์ทั้งสี่กำหนดราคาปานกลางของที่ดินโจทก์ทั่ง สี่ไร่ละ68,000 บาท โดยอาศัยราคาที่ดินตำบลบ้านเลือก ซึ่งเอกชนขายให้แก่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยอันเป็นราคาที่ดินคนละหน่วย และอนุญาโตตุลาการฝ่ายจำเลยกำหนดราคาปานกลางของที่ดินโจทก์ทั้งสี่ไร่ละ 10,000 บาท โดยถือเอาหนังสือที่ฝ่ายโจทก์ทั้งสี่มีไปถึงจำเลยเป็นหลัก จึงไม่ถูกต้อง
ส่วนสภาพและทำเลที่ดินของโจทก์ทั้งสี่ถูกเวนคืน ปรากฏว่าอยู่ ห่างจากถนนเพชรเกษม สายเก่า 50 เมตร ห่างจากสุขาภิบาลโพธาราม ประมาณ 50 เมตร และมีถนนสายเขาช่องพรานตัดผ่านที่ดินของโจทก์ด้วยก็ตาม แต่สภาพที่ดินของโจทก์ทั้งสี่ใช้ทำนา แม้จะฟังว่าที่ดินที่เอกชนขายให้องค์การโทรศัทพ์ แห่งประเทศไทย ในราคาไร่ละ68,000 บาท จะอยู่ ใกล้ที่ดินของโจทก์ ก็ได้ความจากโจทก์ทั่ง สี่ว่ามีการซื้อขายกันเพียงรายเดียวเท่านั้น และราคาดังกล่าวได้มีการซื้อขายกันเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2513 หลังจากพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินบริเวณที่ที่จะต้องเวนคืนประกาศใช้บังคับ จึงไม่อาจนำมาพิจารณาประกอบ ทั้งอนุญาโตตุลาการทั้งสองฝ่ายไม่ได้กำหนดราคาปานกลางของที่ดินโจทก์ทั้งสี่ตามสภาพและทำเลควรจะเพิ่มขึ้นอีกไร่ละเท่าใด การกำหนดค่าทดแทนราคาที่ดินของอนุญาโตตุลาการทั้งสองฝ่ายจึงไม่เป็นไปตามนัยแห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2497 มาตรา 14 ดังนั้นการที่นายอุกฤษ ชี้ขาดราคาที่ดินตามที่อนุญาโตตุลาการฝ่ายโจทก์ทั้งสี่กำหนดจึงขัดต่อกฎหมาย
อนึ่ง จำเลยฎีกาขอให้พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่บังคับจำเลยให้ชำระเงินแก่โจทก์ตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการจึงต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาในอัตราร้อยละหนึ่งของทุนทรัพย์ที่ฎีกา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ตาราง 1(1) ที่จำเลยเสียค่าขึ้นศาลในอัตราร้อยละสองบาทห้าสิบสตางค์ จึงเสียเกินมา
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสี่ คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาส่วนที่เกินให้จำเลย.