แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
สินค้าเครื่องอบอาหารพร้อมโหลแก้วครบชุดที่จำเลยนำเข้ามาและสำแดงราคามีจำนวน 120 ชุด ซึ่งเป็นจำนวนมากพอที่จะแสดงให้เห็นว่าจำเลยสั่งซื้อและนำเข้ามาเพื่อจำหน่าย ถือได้ว่าราคาที่สำแดงเป็นราคาขายส่งเงินสด แต่สินค้าที่ ว.นำเข้ามาและสำแดงราคามีเพียง 2 ชิ้นเท่านั้น เป็นการสั่งซื้อและนำเข้ามาเพื่อใช้เองมากกว่าจะนำเข้ามาเพื่อจำหน่าย ถือไม่ได้ว่าราคาที่สำแดงเป็นราคาขายส่งเงินสด ทั้งเป็นการนำเข้ามาก่อนที่จำเลยจะนำเข้ามาถึงเกือบ 1 ปี มิใช่การนำเข้า ณ เวลาเดียวกันหรือใกล้เคียงกันอันจะนำมาเปรียบเทียบหาราคาอันแท้จริงในท้องตลาดได้ เจ้าพนักงานประเมินอากรของกรมศุลกากรโจทก์ที่ 1 จึงไม่อาจนำราคาสินค้าที่ ว.นำเข้ามาเปรียบเทียบถือเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 2 วรรคสิบสอง เพื่อประเมินให้จำเลยเสียอากรขาเข้าเพิ่มขึ้นได้ ในส่วนของภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลซึ่งเป็นภาษีอากรฝ่ายสรรพากร จำเลยมิได้อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันรับแจ้งการประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 30 ภาษีส่วนนี้จึงยุติตามที่เจ้าพนักงานของโจทก์ที่ 1ได้ประเมินเพิ่มแล้ว แม้การประเมินจะไม่ชอบด้วยกฎหมายจำเลยก็ต้องอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ เมื่อจำเลยไม่อุทธรณ์จำเลยก็ต้องเสียภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลตามการประเมินที่ยุติไปแล้วนั้น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยนำเครื่องไฟฟ้าสำหรับปรุงอาหารจำนวน120 ชุด เข้ามาในราชอาณาจักรโดยสำแดงราคา 109,509.95 บาท ชำระอากรขาเข้า ภาษีการค้า และภาษีบำรุงเทศบาลแล้ว ต่อมาเจ้าพนักงานของโจทก์ที่ 1 ตรวจสอบพบว่าราคาที่สำแดงต่ำกว่าราคาอันแท้จริงในท้องตลาด จึงได้ประเมินราคาสินค้าเพิ่มให้ถูกต้องเป็นเงิน178,259.27 บาท และประเมินภาษีอากรเพิ่มขึ้นเป็นอากรขาเข้า58,825.55 บาท ภาษีการค้า 55,003.68 บาท ภาษีบำรุงเทศบาล 5,500.37บาท เมื่อนำเงินภาษีอากรที่จำเลยชำระแล้วไปหักออก จำเลยจะต้องชำระอากรขาเข้า 22,687.27 บาท ภาษีการค้า 21,213.29 บาท และภาษีบำรุงเทศบาล 2,121.33 บาท รวมเป็นเงิน 46,021.89 บาทเจ้าพนักงานแจ้งการประเมินให้จำเลยทราบแล้ว จำเลยไม่ชำระและไม่อุทธรณ์คัดค้านการประเมินภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันได้รับแจ้งการประเมิน จึงต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มภาษีการค้าอัตราร้อยละ1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือน คิดถึงวันฟ้องเกินจำนวนภาษีการค้าที่ต้องชำระ จึงคิดเพียงภาษีการค้าที่ค้างชำระ 21,213.29 บาทและเงินเพิ่มภาษีบำรุงเทศบาล 2,121.33 บาท รวมภาษีอากรและเงินเพิ่ม69,356.51 บาท โจทก์ทวงถามแล้ว จำเลยไม่ชำระ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยสำแดงราคาสินค้าตามราคาซื้อขาย จำเลยเป็นผู้นำเข้าสินค้าตามฟ้องเป็นรายแรก จะถือเอาราคาที่มีผู้นำเข้ามาใน พ.ศ. 2527 มาเทียบเคียงและประเมินย้อนหลังเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ราคาสินค้าที่โจทก์ที่ 1นำมาเปรียบเทียบเป็นราคาสินค้าที่นางวรรณชลี กรัยวิเชียรนำเข้ามา แต่ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 2 วรรคสิบสองบัญญัติว่า คำว่า “ราคาอันแท้จริงในท้องตลาด” หรือ “ราคา”แห่งของอย่างใด นั้น หมายความว่า ราคาขายส่งเงินสด (ในส่วนของขาเข้าไม่รวมค่าอากร) ซึ่งจะพึงขายของประเภทและชนิดเดียวกันได้โดยไม่ขาดทุน ณ เวลาและที่ที่นำของเข้า หรือส่งของออก แล้วแต่กรณีโดยไม่มีหักทอนหรือลดหย่อนราคาอย่างใด” ดังนั้น จึงไม่อาจนำราคาสินค้าที่นางวรรณชลีนำเข้ามาเปรียบเทียบถือเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาดตามบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้นได้ ทั้งนี้เพราะสินค้าพิพาทที่จำเลยนำเข้า มีจำนวน 120 ชุด ซึ่งมีจำนวนมากพอที่จะแสดงให้เห็นว่า จำเลยสั่งซื้อและนำเข้ามาเพื่อจำหน่ายจึงมีเหตุผลให้เชื่อได้ว่าเป็นราคาขายส่งเงินสด แต่สินค้าที่นางวรรณชลีนำเข้ามามีเพียง 2 ชิ้น เท่านั้น ซึ่งเป็นการสั่งซื้อและนำเข้ามาเพียงจำนวนเล็กน้อยมากจนอาจเรียกได้ว่าเป็นการสั่งซื้อและนำเข้ามาเพื่อใช้เองมากกว่าจะนำเข้ามาเพื่อจำหน่าย ราคาที่นางวรรณชลีสำแดงไว้จึงรับฟังไม่ได้ว่าเป็นราคาขายส่งเงินสดตามที่ระบุไว้ในมาตรา 2 วรรคสิบสอง ดังกล่าวยิ่งกว่านั้นยังปรากฏต่อไปด้วยว่าสินค้าที่นางวรรณชลีนำเข้านั้นนำเข้ามาเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน2525 แต่จำเลยนำสินค้าพิพาทเข้าเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2526อันเป็นระยะเวลาห่างกันถึงเกือบ 1 ปี มิใช่เป็นการนำเข้าณ เวลาเดียวกันหรือใกล้เคียงกันอันจะนำมาเปรียบเทียบหาราคาอันแท้จริงในท้องตลาดตามบทนิยามของมาตรา 2 วรรคสิบสอง ดังกล่าวข้างต้นได้เช่นกัน ดังนั้น การที่เจ้าพนักงานของโจทก์ที่ 1นำราคาสินค้าที่นางวรรณชลีนำเข้ามาเป็นเกณฑ์คำนวณหาราคาอันแท้จริงในท้องตลาด แล้วประเมินราคาสินค้าพิพาทที่จำเลยนำเข้าเพิ่มขึ้นเป็นราคาชุดละ 136.50 เหรียญสิงคโปร์ จึงเป็นการไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 2 วรรคสิบสอง และย่อมส่งผลให้การประเมินให้จำเลยเสียอากรขาเข้าเพิ่มขึ้นพลอยไม่ชอบด้วยกฎหมายไปด้วย
ประเด็นวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองในประการต่อไปมีว่าจำเลยต้องเสียภาษีการค้า และภาษีบำรุงเทศบาล รวมทั้งเงินเพิ่มภาษีทั้งสองประเภทนี้ให้แก่โจทก์ที่ 2 หรือไม่ เห็นว่า ในส่วนของภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาล ซึ่งเป็นภาษีอากรฝ่ายสรรพากรจำเลยมิได้อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมินตามประมวลรัษฎากรมาตรา 30 ภาษีส่วนนี้จึงยุติตามที่เจ้าพนักงานของโจทก์ที่ 1ได้ประเมินเพิ่มแล้ว จำเลยจึงต้องรับผิดชำระภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลพร้อมเงินเพิ่มภาษีทั้งสองประเภทดังกล่าว รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 46,669.24 บาท ให้แก่โจทก์ที่ 2 ส่วนที่จำเลยแก้อุทธรณ์ว่า เมื่อการประเมินของโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ย่อมไม่อาจเรียกร้องให้จำเลยชำระภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาล นั้นก็เห็นว่า ในส่วนของภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาล แม้การประเมินจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยก็ต้องอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ เมื่อจำเลยไม่อุทธรณ์ จำเลยก็ต้องเสียภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลตามการประเมินที่ยุติไปแล้วนั้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลรวมทั้งเงินเพิ่มภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 46,669.24 บาท ให้แก่โจทก์ที่ 2 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง