แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยไม่ยื่นคำให้การ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและนัดสืบพยานโจทก์ไป จำเลยยื่นคำร้องว่า จำเลยมิได้จงใจขาดนัดยื่นคำให้การ จึงขออนุญาตยื่นคำให้การ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง จำเลยอุทธรณ์คำสั่งว่าจำเลยมิได้จงใจขาดนัดยื่นคำให้การ จึงขออนุญาตยื่นคำให้การ ต่อมาศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ชนะคดี จำเลยอุทธรณ์ทั้งคำสั่งและคำพิพากษาของศาลชั้นต้น สำหรับคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้จำเลยยื่นคำให้การและยกคำร้องดังกล่าวเป็นคำสั่งตาม ป.วิ.พ.มาตรา 199 วรรคสอง และเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น เมื่อจำเลยมิได้โต้แย้งคำสั่งดังกล่าว จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม ป.พ.พ.มาตรา 226 (1) ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยจึงเป็นการไม่ชอบ และศาลอุทธรณ์ไม่มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งนั้นได้ ชอบที่ศาลอุทธรณ์จะพิพากษายกอุทธรณ์คำสั่งนั้นเสียและวินิจฉัยอุทธรณ์คำพิพากษาของจำเลยต่อไป การที่ศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัยอุทธรณ์คำพิพากษาของจำเลย แต่กลับไปวินิจฉัยถึงพฤติการณ์ของจำเลยว่าจำเลยมิได้จงใจขาดนัดยื่นคำให้การและมีเหตุสมควรรับคำให้การของจำเลยไว้ การวินิจฉัยดังกล่าวเป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริงในอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยว่า จำเลยจงใจขาดนัดยื่นคำให้การหรือไม่นั่นเองคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์จึงไม่ชอบด้วยกระบวนวิธีพิจารณาพิพากษา ถือว่าอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยในปัญหาที่ว่าจำเลยจงใจขาดนัดยื่นคำให้การหรือไม่ เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ จึงต้องห้ามมิให้โจทก์ฎีกาในปัญหาดังกล่าวตาม ป.วิ.พ.มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย และเนื่องจากศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์คำพิพากษาของจำเลย เพื่อให้การวินิจฉัยคดีเป็นไปตามลำดับชั้นศาล ศาลฎีกาเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอุทธรณ์คำพิพากษาของจำเลยเสียก่อน เนื่องจากผลแห่งคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์อาจเกี่ยวโยงไปถึงสิทธิในการฎีกาคดีนี้ต่อไป