คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8266/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3) ที่มีข้อกำหนดห้ามโอนภายใน 10 ปี ตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 31 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฎิวัติฉบับที่ 334(พ.ศ.2515) ข้อ 6 ที่บังคับใช้ในกรณีนี้ในระยะเวลาที่ห้ามโอนนั้นถือได้ว่ารัฐยังไม่ได้มอบสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่บิดาโจทก์ บิดาโจทก์และโจทก์คงมีสิทธิเพียงทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวเท่านั้นเมื่อบิดาโจทก์และโจทก์ไม่มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท จึงไม่อาจสละหรือโอนสิทธิครอบครองที่ดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1377,1378 ให้แก่ผู้อื่นได้ แม้จะรับฟังว่าบิดาโจทก์ขายที่ดินพิพาทและมอบการครอบครองที่ดินให้แก่จำเลย ก็ไม่มีผลตามกฎหมายจำเลยไม่มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท การเปลี่ยนเจตนายึดถือหรือครอบครองที่ดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1381 จะต้องเป็นกรณีที่ครอบครองที่ดินแทนผู้อื่น แต่เมื่อไม่ถือว่าจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทแทนโจทก์แล้ว จึงไม่มีกรณีที่จำเลยจะอ้างได้ว่าจำเลยเปลี่ยนเจตนาครอบครองหรือเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือที่ดินพิพาทแทนโจทก์เป็นครอบครองหรือยึดถือเพื่อตนเองจำเลยจึงไม่ได้สิทธิในที่ดินพิพาทโดยการครอบครอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2524 นายแก้วบิดาโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 418 หมู่ที่ 2 ตำบลห้วยทราย อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ เนื้อที่ 1 ไร่3 งาน 80 ตารางวา ซึ่งเป็นที่ดินที่มีข้อกำหนดห้ามโอนภายใน10 ปี (นับแต่วันที่ 10 มิถุนายน 2519) ตามประมวลกฎหมายที่ดินนายแก้วได้นำที่ดินดังกล่าวจดทะเบียนจำนองไว้กับจำเลยเป็นจำนวนเงิน 30,000 บาท ไม่มีกำหนดเวลาไถ่ถอน ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตกลงส่งดอกเบี้ยปีละครั้ง นายแก้วได้มอบ น.ส.3 ดังกล่าวให้จำเลยยึดถือไว้ ส่วนที่ดินมอบให้โจทก์เข้าครอบครองทำประโยชน์ โจทก์เพาะปลูกต้นยาสูบในที่ดินดังกล่าวตั้งแต่ปี 2525 เป็นต้นมา ต่อมาวันที่ 26 กันยายน2531 นายแก้วถึงแก่กรรม และต่อมาวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2534โจทก์จดทะเบียนรับโอนมรดกที่ดินดังกล่าวมาเป็นของโจทก์หลังจากนั้นโจทก์ติดต่อขอไถ่ถอนที่ดินพิพาทดังกล่าวคืนจากจำเลย แต่จำเลยปฎิเสธ โดยเรียกค่าไถ่ถอน 500,000 บาท โจทก์ให้ทนายความมีหนังสือบอกกล่าวขอไถ่ถอนจำนองจำเลยได้รับหนังสือบอกกล่าวโดยชอบแล้ว แต่เพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยให้รับการไถ่ถอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่418 หมู่ที่ 2 ตำบลห้วยทราย อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่เนื้อที่ 1 ไร่ 3 งาน 80 ตารางวา โดยให้รับเงินไปจากโจทก์จำนวน 52,500 บาท แล้วให้จำเลยคืนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าวแก่โจทก์
นางอรัญ บุญน่วม ภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยยื่นคำร้องสอดว่า จำเลยไปทำงานที่ประเทศญี่ปุ่น ไม่สามารถมาต่อสู้คดีได้ ผู้ร้องสอดมีส่วนได้เสียและทราบข้อเท็จจริงแห่งคดี จึงขอร้องสอดเข้าเป็นจำเลยแทนที่จำเลยเพื่อต่อสู้คดีกับโจทก์ โดยได้รับความยินยอมจากจำเลยแล้ว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
ผู้ร้องสอดให้การและฟ้องแย้งและแก้ไขคำให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์ไม่ใช่ผู้รับมรดกของนายแก้วบิดาโจทก์โจทก์ไม่ได้รับความยินยอมจากบรรดาทายาททุกคนของนายแก้วให้ฟ้องคดี จึงไม่มีอำนาจฟ้อง นายแก้วและโจทก์ไม่เคยเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท จำเลยไม่เคยได้รับหนังสือบอกกล่าวขอไถ่ถอนจำนองของโจทก์ โจทก์ขอไถ่ถอนจำนองโดยยอมให้ดอกเบี้ยเพียง 5 ปี พร้อมกับต้นเงินจำนอง ซึ่งที่ถูกโจทก์จะต้องชำระดอกเบี้ยตั้งแต่วันจำนองคือวันที่ 12มกราคม 2524 จนถึงวันไถ่ถอนจำนองเสร็จสิ้น การจดทะเบียนจำนองเป็นนิติกรรมอำพราง โดยความจริงนายแก้วขายที่ดินดังกล่าวให้จำเลย จำเลยชำระราคา 30,000 บาท ครบถ้วนแล้วนายแก้วตกลงจะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้จำเลยเมื่อครบกำหนดเวลาห้ามโอนแล้ว แต่นายแก้วถึงแก่กรรมเสียก่อนนอกจากนี้นายแก้วและโจทก์รวมทั้งบรรดาทายาทของนายแก้วได้สละการครอบครองที่ดินให้จำเลยเข้าครอบครองทำประโยชน์ในฐานะเป็นเจ้าของที่ดินตั้งแต่วันที่ 12 มกราคม 2524 เป็นต้นมา จนกระทั่งที่ดินมีราคาสูงกว่าเดิมมาก โจทก์จึงไม่ยอมโอนกรรมสิทธิ์ให้จำเลย จำเลยครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินโดยสุจริต เปิดเผยและเจตนาเป็นเจ้าของตั้งแต่วันที่ฝ่ายโจทก์สละการครอบครองที่ดินให้จำเลยตลอดมา ต่อมาเมื่อเดือนตุลาคม2533 มีผู้บุกรุกที่ดินดังกล่าว จำเลยได้ไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนในฐานะเป็นเจ้าของที่ดิน ที่ดินดังกล่าวมีราคาประเมิน 58,500 บาท ขอให้ยกฟ้องและฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทตามฟ้องแก่จำเลย มิฉะนั้นขอให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของโจทก์
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า นายแก้วบิดาโจทก์ไม่ได้ขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลย เพียงแต่นายแก้วจดทะเบียนจำนองที่ดินดังกล่าวไว้แก่จำเลยซึ่งเป็นเจตนาที่แท้จริงมิใช่นิติกรรมอำพราง นายแก้วเป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทจนถึงปี 2525 จึงได้มอบให้โจทก์เข้าครอบครองทำประโยชน์โดยการปลูกต้นยาสูบตลอดมาจนบัดนี้ จำเลยไม่เคยเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท จำเลยไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในหนี้จำนองที่ค้างเกินกว่า 5 ปี ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า สัญญาจำนองเอกสารหมาย จ.3 เป็นโมฆะ โจทก์มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทดีกว่าจำเลย โจทก์ต้องใช้เงินจำนวน 30,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปีนับแต่วันที่ 12 มกราคม 2524 จนกว่าใช้เสร็จแก่จำเลยและผู้ร้องสอด ให้จำเลยและผู้ร้องสอดส่งมอบ น.ส.3 พิพาทเลขที่ 418 ตำบลห้วยทราย อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่คืนให้แก่โจทก์คำขออื่นและฟ้องแย้งของผู้ร้องสอดให้ยก
ผู้ร้องสอดอุทธรณ์ว่า เมื่อครบกำหนดห้ามโอน 10 ปีแล้วฝ่ายจำเลยได้เปลี่ยนเจตนาเป็นครอบครองที่ดินพิพาทเพื่อตนเอง
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
ผู้ร้องสอดฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาคดีในศาลอุทธรณ์ภาค 2 รับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาตามฎีกาของผู้ร้องสอดว่าจำเลยได้สิทธิในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองแล้วหรือไม่ข้อเท็จจริงได้ความว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ที่มีข้อกำหนดห้ามโอนภายใน 10 ปีตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 31 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฎิวัติ ฉบับที่ 334 (พ.ศ.2515) ข้อ 6 ที่บังคับใช้ในกรณีนี้ บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่งว่า ภายใน 10 ปี นับแต่วันที่ได้รับโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดินอันสืบเนื่องมาจากใบจองมาตรา 30 และมาตรา 33 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ผู้ได้มาซึ่งสิทธิในที่ดินดังกล่าวจะโอนที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นไม่ได้ นอกจากตกทอดทางมรดก ดังนี้ในระยะเวลาที่ห้ามโอนนั้นถือได้ว่ารัฐยังไม่ได้มอบสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่บิดาโจทก์ บิดาโจทก์และโจทก์คงมีสิทธิเพียงทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวเท่านั้น เมื่อบิดาโจทก์และโจทก์ไม่มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท จึงไม่อาจสละหรือโอนสิทธิครอบครองที่ดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1377, 1378 ให้แก่ผู้อื่นได้ แม้จะรับฟังว่าบิดาโจทก์ขายที่ดินพิพาทและมอบการครอบครองที่ดินให้แก่จำเลย ก็ไม่มีผลตามกฎหมาย จำเลยไม่มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท ที่ผู้ร้องสอดฎีกาว่า เมื่อครบกำหนดห้ามโอน 10 ปีแล้ว ฝ่ายจำเลยได้เปลี่ยนเจตนาเป็นครอบครองที่ดินพิพาทเพื่อตนเองนั้นในข้อนี้ดังที่ได้วินิจฉัยไว้แล้วว่า จำเลยไม่มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท กรณีมิใช่จำเลยครอบครองที่ดินพิพาทแทนโจทก์การเปลี่ยนเจตนายึดถือหรือครอบครองที่ดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1381 จะต้องเป็นกรณีที่ครอบครองที่ดินแทนผู้อื่น แต่เมื่อไม่ถือว่าจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทแทนโจทก์แล้ว จึงไม่มีกรณีที่จำเลยจะอ้างได้ว่าจำเลยเปลี่ยนเจตนาครอบครองหรือเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือที่ดินพิพาทแทนโจทก์เป็นครอบครองหรือยึดถือเพื่อตนเอง จำเลยไม่ได้สิทธิในที่ดินพิพาทโดยการครอบครอง
พิพากษายืน

Share