แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่นายจ้างจะมีความผิดฐานรับเด็กหญิงอายุต่ำกว่า13ปีบริบูรณ์เข้าทำงานอันเป็นการใช้แรงงานเด็กตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงาน(ฉบับที่10)ข้อ20ซึ่งออกตามความในข้อ2(3)แห่งประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่103ลงวันที่16มีนาคม2515ต้องได้ความว่านายจ้างรู้ว่าเด็กที่ตนรับเป็นลูกจ้างอายุต่ำกว่า13ปีบริบูรณ์ซึ่งโจทก์จะต้องพิสูจน์ให้เห็นว่านายจ้างผู้รับเด็กเข้าทำงานรู้เช่นนั้นเมื่อโจทก์นำสืบไม่ได้นายจ้างก็ไม่มีความผิด
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าเมื่อระหว่างวันที่3มิถุนายน2534เวลากลางวันถึงวันที่13พฤศจิกายน2534เวลากลางวันติดต่อกันจำเลยได้ตั้งโรงงานประกอบกิจการตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูปและเปิดดำเนินงานประกอบกิจการตัดเย็บเสื้อผ้าโดยไม่ได้รับอนุญาตทั้งจำเลยยังได้ให้ที่พักอาศัยช่วยซ่อนเร้นแก่คนต่างด้าวเชื้อชาติลาวสัญชาติลาวจำนวน10คนซึ่งเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่มีหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางอันถูกต้องไม่ผ่านเข้ามาตามช่องทางด่านตรวจคนเข้าเมืองและอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตทั้งยังได้ช่วยเหลือบุคคลต่างด้าวทั้ง10คนดังกล่าวด้วยประการใดๆเพื่อให้บุคคลต่างด้าวดังกล่าวพ้นจากการถูกจับกุมโดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่าบุคคลต่างด้าวดังกล่าวเป็นคนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนกฎหมายนอกจากนี้เมื่อระหว่างวันที่3มิถุนายน2534เวลากลางวันถึงวันที่13พฤศจิกายน2534เวลากลางวันติดต่อกันตลอดมาจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างและได้ทราบประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงาน(ฉบับที่12)ที่ห้ามมิให้นายจ้างรับเด็กอายุต่ำกว่าสิบสามปีบริบูรณ์เป็นลูกจ้างได้รับเด็กอายุต่ำกว่าสิบสามปีบริบูรณ์รวม8คนเป็นลูกจ้างต่อมาวันที่13พฤศจิกายน2534เจ้าพนักงานจับกุมจำเลยได้เหตุเกิดที่แขวง คลองต้นไทร เขต คลองสาน กรุงเทพมหานครขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติโรงงานพ.ศ.2512มาตรา5,7,8,12,43,44พระราชบัญญัติโรงงาน(ฉบับที่2)พ.ศ.2518มาตรา5,11พระราชบัญญัติโรงงาน(ฉบับที่3)พ.ศ.2522มาตรา3,4กฎกระทรวงฉบับที่1(พ.ศ.2512)ออกตามความในพระราชบัญญัติโรงงานพ.ศ.2512ประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงาน(ฉบับที่12)ลงวันที่18มกราคม2533ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่103ลงวันที่16มีนาคม2515ประมวลกฎหมายอาญามาตรา91ให้จำเลยหยุดประกอบกิจการโรงงาน
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติโรงงานพ.ศ.2512มาตรา12,44วรรคแรกพระราชบัญญัติคนเข้าเมืองพ.ศ.2522มาตรา64ประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงาน(ฉบับที่12)ลงวันที่18มกราคม2533ข้อ20ประกอบด้วยประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่103ลงวันที่16มีนาคม2515ข้อ1ข้อ8จำเลยกระทำผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา91ฐานประกอบกิจการโรงงานโดยไม่ได้รับใบอนุญาตให้จำคุก6เดือนฐานให้ที่พักอาศัยซ่อนเร้นคนต่างด้าวที่หลบหนีเข้าเมืองให้จำคุก1ปี6เดือนฐานรับเด็กอายุต่ำกว่าสิบสามปีบริบูรณ์เป็นลูกจ้างให้จำคุก3เดือนรวม3กระทงเป็นจำคุก2ปี3เดือนให้จำเลยหยุดประกอบกิจการโรงงานคำขอโจทก์นอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติโรงงานพ.ศ.2512มาตรา12,44วรรคแรกพระราชบัญญัติคนเข้าเมืองพ.ศ.2522มาตรา64ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติโรงงานพ.ศ.2512มาตรา12,44วรรคแรกจำคุก6เดือนปรับ15,000บาทตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมืองพ.ศ.2522มาตรา64จำคุก1ปี6เดือนปรับ15,000บาทเรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา91เป็นจำคุก2ปีปรับ30,000บาทโทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด2ปีไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา29,30ให้จำเลยหยุดการประกอบกิจการโรงงานข้อหาอื่นให้ยก
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าการที่จะมีความผิดฐานรับเด็กอายุต่ำกว่า13ปีบริบูรณ์เป็นลูกจ้างอันเป็นการใช้แรงงานเด็กตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงาน(ฉบับที่12)ข้อ20ซึ่งออกตามความในข้อ2(3)แห่งประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่103ลงวันที่16มีนาคมพ.ศ.2515จะต้องพิจารณาได้ความว่าบุคคลที่เป็นนายจ้างรู้ว่าเด็กที่ตนรับเป็นลูกจ้างนั้นมีอายุต่ำกว่า13ปีบริบูรณ์ซึ่งข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นหน้าที่ของโจทก์จะต้องพิสูจน์ให้เห็นว่านายจ้างผู้รับเด็กเข้าทำงานรู้เช่นนั้นแต่สำหรับกรณีของโจทก์ได้ความเพียงว่าเด็กที่จำเลยรับเข้าทำงานเป็นผู้บอกว่าอายุ12ปีซึ่งก็จำวันเดือนปีเกิดของตนเองไม่ได้และไม่มีเอกสารใดมาแสดงนอกจากนี้ได้ความจากร้อยตำรวจตรีศักดิ์สิทธิ์ พนักงานสอบสวนตอบคำถามค้านของทนายจำเลยว่าพยานไม่อาจทราบได้ว่าเด็กที่จำเลยรับเข้าทำงานนั้นจะอายุเกินกว่า13ปีหรือต่ำกว่า13ปีเนื่องจากเด็กมีรูปร่างใกล้เคียงกันเห็นว่าแม้เด็กจะอายุต่ำกว่า13ปีแต่โจทก์ก็ไม่ได้นำสืบพอให้เชื่อได้โดยมั่นคงว่าเป็นเช่นนั้นจริงซึ่งปัญหานี้จำเลยปฏิเสธตลอดมาว่าไม่ได้กระทำผิดพยานหลักฐานเพียงเท่าที่โจทก์นำสืบมาฟังไม่ได้ว่าจำเลยรู้ว่าเด็กที่จำเลยรับเป็นลูกจ้างนั้นอายุต่ำกว่า13ปีบริบูรณ์ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องในความผิดฐานนี้มาชอบแล้วฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน