คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 826/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันนำเพลง “วันเวลา” และเพลง “เจ็บนิดเดียว” ไปลงโฆษณาเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์และเผยแพร่ทางโทรทัศน์โดยไม่ได้รับอนุญาตอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ แต่ทางไต่สวนโจทก์ได้ความว่าการกระทำที่โจทก์อ้างว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์นั้น เป็นการนำชื่อเพลงดังกล่าวไปลงโฆษณาเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์และเผยแพร่ทางโทรทัศน์และม้วนวิดีโอเทปบันทึกภาพพร้อมเสียง การกระทำที่เป็นการนำเพลงอันมีลิขสิทธิ์ไปลงโฆษณาเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์และเผยแพร่ทางโทรทัศน์ตามฟ้อง กับการนำแต่ชื่อเพลงอันมีลิขสิทธิ์ไปลงโฆษณาเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์และเผยแพร่ทางโทรทัศน์นั้นเป็นการกระทำที่แตกต่างกัน งานเพลงเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ประเภทดนตรีกรรม ซึ่งงานดนตรีกรรมที่จะถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 4 จะต้องมีทำนองเพลงหรือโน้ตเพลงหรือแผนภูมิเพลงที่ได้แยกและเรียบเรียงเสียงประสานแล้วเป็นหลัก จะมีคำร้องด้วยหรือไม่ก็ได้ ลำพังเฉพาะคำร้องหรือชื่อเพลงยังไม่ถือว่าเป็นงานดนตรีกรรมอันมีลิขสิทธิ์ตามบทกฎหมายดังกล่าว เมื่อบริษัทจำเลยที่ 1 ลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์ด้วยข้อความว่า “หมดปัญหากับภาษาต่างดาวด้วย SOKEN VCD & DVD โชว์ชื่อเพลง MP3 เป็นภาษาไทย” และมีข้อความว่า “แสดงหน้าจอ MP3 แบบภาษาไทยจาก VCD SOKEN 190” อยู่ใต้จอภาพเครื่องรับโทรทัศน์ ซึ่งมีข้อความในจอภาพนั้นว่า “แผ่นดิสก์ MP3 01 วันเวลา 02 “เจ็บนิดเดียว” ส่วนสปอตโฆษณาทางโทรทัศน์ก็เป็นการโฆษณาเช่นเดียวกับที่ลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์ จึงเป็นการเอาแต่ชื่อเพลง “วันเวลา” และชื่อเพลง “เจ็บนิดเดียว” มาโฆษณาเผยแพร่ต่อสาธารณชนเท่านั้นมิได้นำทำนองเพลงหรือโน้ตเพลงหรือแผนภูมิเพลงที่ได้แยกและเรียบเรียงเสียงประสานและคำร้องของเพลงทั้งสองดังกล่าวอันเป็นงานดนตรีกรรมมาโฆษณาเผยแพร่ต่อสาธารณชนแต่อย่างใด ลำพังเฉพาะชื่อเพลงทั้งสองมิใช่งานดนตรีกรรมอันมีลิขสิทธิ์ตามความหมายที่บัญญัติไว้ในมาตรา 4 และ 6 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ การนำเอาแต่ชื่อเพลงซึ่งมิใช่งานดนตรีกรรมมาโฆษณาเผยแพร่ต่อสาธารณชนไม่อาจถือเป็นการกระทำอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานดนตรีกรรมได้ ทั้งการกระทำดังกล่าวก็เห็นได้ว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนาที่จะโฆษณาขายสินค้าเครื่องเล่น “VCD SOKEN 190” ของตนเท่านั้น มิได้เจตนากระทำละเมิดลิขสิทธิ์ในงานดนตรีกรรมนั้นแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยทั้งสามไม่เป็นการละเมิดงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ประกอบกิจการผลิต รับจ้างผลิต จำหน่ายและรับจำหน่ายภาพยนตร์ แถบบันทึกเสียงและแถบบันทึกภาพ และสิ่งอื่นใดที่ใช้บันทึกเสียงและภาพ ส่วนจำเลยที่ 1 ประกอบกิจการค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและเครื่องเสียง โดยมีจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน ระหว่างวันที่ 1 ธันวาคม 2536 ถึงวันที่ 29 กรกฎาคม 2545 ต่อเนื่องกัน โจทก์เป็นผู้สร้างสรรค์ผลิตผลงานต้นแบบและเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในแถบบันทึกเสียงและแถบบันทึกภาพชื่องานชุด “ก้าวใหม่” ซึ่งมีเพลง “วันเวลา” และเพลง “เจ็บนิดเดียว” รวมอยู่ด้วย โจทก์โฆษณางานดังกล่าวทางสื่อหนังสือพิมพ์ สื่อวิทยุกระจายเสียงและสื่อโทรทัศน์ต่าง ๆ ในประเทศไทยโดยใช้เงินจำนวนประมาณ 30,000,000 บาท ต่อมาจำเลยทั้งสามได้ร่วมกันนำเพลง “วันเวลา” และเพลง “เจ็บนิดเดียว” ไปโฆษณาในหนังสือพิมพ์ “ไทยรัฐ” ในรายการของสถานีโทรทัศน์ (2.1) ช่องไอทีวี ช่อง 3 รวม 6 ครั้ง โดยจำเลยทั้งสามร่วมกันแอบอ้างเผยแพร่ต่อสาธารณชนว่ามีเพลง “วันเวลา” และเพลง “เจ็บนิดเดียว” ของโจทก์อยู่ในสินค้าเครื่องเล่นวีซีดียี่ห้อ “โซเคน” รุ่น 190 (SOKEN VCD – 190) ที่จำเลยทั้งสามร่วมกันนำเสนอขายเพื่อการค้า โดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ ทั้งนี้เพื่อให้บุคคลทั่วไปเข้าใจว่าจำเลยทั้งสามเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานเพลงดังกล่าว ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 27, 28, 31 69, 70, 74 และ 76 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 90 และ 91 สินค้าเครื่องเล่นวีซีดียี่ห้อ “โซเคน” รุ่น 190 (SOKEN VCD – 190) ทุกเครื่องให้จำเลยทั้งสามร่วมกันเก็บคืนจากท้องตลาดทั่วราชอาณาจักรแล้วยึดมาทำลายทิ้ง และขอให้จ่ายเงินค่าปรับกึ่งหนึ่งแก่โจทก์
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า คดีของโจทก์มีมูลตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ตามฟ้องโจทก์บรรยายว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันนำเพลง “วันเวลา” และเพลง “เจ็บนิดเดียว” ไปลงโฆษณาเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์และเผยแพร่ทางโทรทัศน์โดยไม่ได้รับอนุญาต อันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ แต่ทางไต่สวนโจทก์กลับได้ความว่าการกระทำที่โจทก์อ้างว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์นั้น เป็นการนำชื่อเพลง “วันเวลา” และเพลง “เจ็บนิดเดียว” ไปลงโฆษณาเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์และเผยแพร่ทางโทรทัศน์ตามหนังสือพิมพ์ไทยรัฐเอกสารหมาย จ. 25 ถึง จ. 28 และม้วนวิดีโอเทปบันทึกภาพพร้อมเสียงวัตถุพยานหมาย จ. 30 และ จ. 32 การกระทำที่เป็นการนำเพลงอันมีลิขสิทธิ์ไปลงโฆษณาเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์และเผยแพร่ทางโทรทัศน์ตามฟ้อง กับการนำแต่ชื่อเพลงอันมีลิขสิทธิ์ไปลงโฆษณาเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์และเผยแพร่ทางโทรทัศน์นั้นเป็นการกระทำที่แตกต่างกันงานเพลงเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ประเภทดนตรีกรรม ซึ่งตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4 บัญญัติไว้ว่า “ดนตรีกรรม” หมายความว่า งานเกี่ยวกับเพลงที่แต่งขึ้นเพื่อบรรเลงหรือขับร้อง ไม่ว่าจะมีทำนองและคำร้องหรือมีทำนองอย่างเดียวและให้หมายความรวมถึงโน้ตเพลงหรือแผนภูมิเพลงที่ได้แยกและเรียบเรียงเสียงประสานแล้ว ดังนี้ งานดนตรีกรรมที่จะถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 จึงต้องมีทำนองเพลงหรือโน้ตเพลงหรือแผนภูมิเพลงที่ได้แยกและเรียบเรียงเสียงประสานแล้วเป็นหลักจะมีคำร้องด้วยหรือไม่ก็ได้ ลำพังเฉพาะคำร้องหรือชื่อเพลงยังไม่ถือว่าเป็นงานดนตรีกรรมอันมีลิขสิทธิ์ตามบทกฎหมายดังกล่าว เมื่อปรากฏตามหนังสือพิมพ์ไทยรัฐเอกสารหมาย จ. 25 ถึง จ. 28 ว่า บริษัทจำเลยที่ 1 ลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์ดังกล่าวด้วยข้อความว่า “หมดปัญหากับภาษาต่างดาวด้วย SOKEN VCD & DVD โชว์ชื่อเพลง MP3 เป็นภาษาไทย” และมีข้อความว่า “แสดงหน้าจอ MP3 แบบภาษาไทยจาก VCD SOKEN 190” อยู่ใต้จอภาพเครื่องรับโทรทัศน์ ซึ่งมีข้อความในจอภาพนั้นว่า “แผ่นดิสก์ MP3 01 วันเวลา 02 เจ็บนิดเดียว” ส่วนสปอตโฆษณาทางโทรทัศน์ตามม้วนวิดีโอเทปวัตถุพยานหมาย จ. 30 จ. 31 และ จ. 32 ก็เป็นการโฆษณาเช่นเดียวกับที่ลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐเอกสารหมาย จ. 25 ถึง จ. 28 จึงเป็นการเอาแต่ชื่อเพลง “วันเวลา” และเพลง “เจ็บนิดเดียว” มาโฆษณาเผยแพร่ต่อสาธารณชนเท่านั้น มิได้นำทำนองเพลงหรือโน้ตเพลงหรือแผนภูมิเพลงที่ได้แยกและเรียบเรียงเสียงประสานและคำร้องของเพลงทั้งสองดังกล่าวอันเป็นงานดนตรีกรรมมาโฆษณาเผยแพร่ต่อสาธารณชนแต่อย่างใดลำพังเฉพาะชื่อเพลงทั้งสองนั้นมิใช่งานดนตรีกรรมอันมีลิขสิทธิ์ตามความหมายที่บัญญัติไว้ในมาตรา 4 และ 6 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 การนำเอาแต่ชื่อเพลงซึ่งมิใช่งานดนตรีกรรมมาโฆษณาเผยแพร่ต่อสาธารณชนไม่อาจถือเป็นการกระทำอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานดนตรีกรรมได้ ทั้งการกระทำดังกล่าวจำเลยที่ 1 ก็เห็นได้ว่ามีเจตนาที่จะโฆษณาขายสินค้าเครื่องเล่น “VCD SOKEN 190″ ของตนเท่านั้น มิได้เจตนากระทำละเมิดลิขสิทธิ์ในงานดนตรีกรรมนั้นแต่อย่างใด กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยว่าโจทก์จะมีลิขสิทธิ์ในงานดนตรีกรรมตามฟ้องหรือไม่การกระทำของจำเลยทั้งสามไม่เป็นการละเมิดงานอันมีลิขสิทธิ์ตามฟ้องโจทก์แต่ประการใด คดีของโจทก์จึงไม่มีมูลตามฟ้อง ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share