แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความผิดฐานพยายามส่งออกซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 เพื่อจำหน่าย ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ฯ มาตรา 65 วรรคสอง ประกอบ ป.อ. มาตรา 80 วางโทษจำเลยในความผิดฐานนี้จำคุกตลอดชีวิต ดังนั้น แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 5 จะมีอำนาจหยิบยกปัญหาที่ศาลชั้นต้นปรับบทลงโทษความผิดข้อหาดังกล่าวมาไม่ถูกต้องขึ้นวินิจฉัยเอง โดยพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ฯ มาตรา 15 วรรคสอง, 65 วรรคสอง ประกอบด้วย ป.อ. มาตรา 80 พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ฯ มาตรา 7 อันเป็นการปรับบทกฎหมายที่ถูกต้องลงโทษแก่จำเลยได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคห้า แต่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 กำหนดโทษที่ลงแก่จำเลยเสียใหม่เป็นประหารชีวิตตามบทบัญญัติแห่งมาตรา 65 วรรคสอง ซึ่งสูงกว่าโทษจำคุกตลอดชีวิตที่ศาลชั้นต้นลงแก่จำเลยในความผิดฐานนี้นั้นเป็นการไม่ถูกต้อง เพราะเมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยให้หนักขึ้นจึงไม่อาจลงโทษจำเลยเกินกว่าจำคุกตลอดชีวิตได้ เพราะเป็นการเพิ่มเติมโทษซึ่งทำให้จำเลยต้องรับโทษหนักขึ้นอันเป็นผลร้ายแก่จำเลย ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบด้วยมาตรา 225 กรณีเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 65, 66, 102 พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 3, 7 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 80, 91 ริบเฮโรอีนและเมทแอมเฟตามีน หีบไม้แกะสลัก พลาสติกและกระดาษที่ใช้ห่อหุ้มหีบไม้ของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสอง, 65 วรรคสอง, 66 วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80 เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีเฮโรอีนและเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ให้ประหารชีวิต ฐานพยายามส่งออกซึ่งเฮโรอีนและเมทแอมเฟตามีน จำคุกตลอดชีวิต จำเลยให้การรับสารภาพชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง ลดโทษหนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52 และ 53 ลงโทษฐานมีเฮโรอีนและเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุกตลอดชีวิต ฐานพยายามส่งออกซึ่งเฮโรอีนและเมทแอมเฟตามีน จำคุก 33 ปี 4 เดือน จำเลยต้องโทษสูงสุดจำคุกตลอดชีวิต จึงกำหนดให้จำคุกตลอดชีวิตสถานเดียว ริบเฮโรอีนและเมทแอมเฟตามีน หีบไม้แกะสลัก พลาสติก และกระดาษที่ใช้ห่อหุ้มหีบไม้ของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสอง, 65 วรรคสอง, 66 วรรคสอง ประกอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80 พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 7 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานพยายามส่งออกซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 เพื่อจำหน่าย ซึ่งมีระวางโทษเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิดสำเร็จอันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้ประหารชีวิตลดโทษหนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52 (1) คงลงโทษจำคุกตลอดชีวิต นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พยานโจทก์เบิกความสอดคล้องต้องกัน พยานโจทก์ทั้งสี่ปากไม่เคยมีเรื่องโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน ไม่มีเหตุจะเบิกความเพื่อปรักปรำจำเลยในความผิดร้ายแรงเช่นนี้ โดยเฉพาะนางระวิภาเห็นจำเลยครั้งแรก วันที่ 7 หรือ 8 พฤษภาคม 2542 และได้พูดคุยกับจำเลยเนื่องจากจำเลยสอบถามเกี่ยวกับการฝากส่งสิ่งของ และวันที่ 10 เดือนเดียวกันจำเลยก็นำหีบไม้แกะสลักไปฝากส่งกับนางระวิภาอีก และวันที่ 11 เดือนเดียวกันนั้นนางระวิภาก็ชี้ให้ตำรวจดูจำเลยว่าเป็นคนส่งหีบไม้แกะสลักดังกล่าว นับว่านางระวิภาเห็นจำเลยก่อนชี้ตัวจำเลยให้เจ้าพนักงานตำรวจ 2 ครั้ง และหลังจากนั้นเพียงวันเดียวก็ชี้ให้เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลย นางระวิภาย่อมจำจำเลยได้ว่าเป็นคนฝากส่งหีบไม้แกะสลักดังกล่าว เจ้าพนักงานตำรวจค้นตัวจำเลยก็พบใบเสร็จรับเงินและนามบัตรของนางระวิภาและใบเสร็จรับเงินค่าซื้อหีบไม้แกะสลักจากนายเดชที่ตัวจำเลย อันเป็นการสนับสนุนพยานโจทก์ทั้งสี่ปากให้มีน้ำหนักยิ่งขึ้น ที่จำเลยเบิกความต่อสู้ว่าใบเสร็จรับเงินและนามบัตรของนางระวิภาและใบเสร็จรับเงินค่าซื้อหีบไม้แกะสลักจากนายเดชเจ้าพนักงานตำรวจไม่ได้ค้นได้จากกระเป๋าเงินของจำเลยนั้นก็มีตัวจำเลยเป็นพยานปากเดียวไม่มีพยานอื่นสนับสนุน ทั้งในบันทึกการจับกุมก็ระบุว่าค้นพบเอกสารดังกล่าวที่กระเป๋าเงินของจำเลย ซึ่งจำเลยก็ลงลายมือชื่อในบันทึกการจับกุมดังกล่าว ที่จำเลยเบิกความต่อสู้ว่าจำเลยไม่เคยเห็นบันทึกการจับกุมมาก่อน ลายมือชื่อผู้ต้องหาไม่ใช่ลายมือชื่อของจำเลย ไม่มีลักษณะเป็นลายมือชื่อแต่เป็นตัวพิมพ์ใหญ่ ลายมือชื่อของจำเลยในใบแต่งทนายความ รายงานกระบวนพิจารณาของศาลทุกฉบับและหนังสือเดินทางแตกต่างกับลายมือชื่อในช่องผู้ต้องหาตามบันทึกการจับกุมนั้น เห็นว่า การเขียนลายมือชื่อเป็นเรื่องของจำเลยว่าจะเขียนอย่างไร จำเลยมีตัวจำเลยเพียงคนเดียวที่อ้างว่าลายมือชื่อผู้ต้องหาไม่ใช่ของจำเลย ฝ่ายโจทก์มีดาบตำรวจเสนาะและพันตำรวจตรีธนรัชต์เบิกความยืนยันว่าจำเลยลงลายมือชื่อในบันทึกการจับกุมโดยมีนางสาวจตุรพรเป็นล่ามแปลบันทึกการจับกุมให้จำเลยฟัง ซึ่งฝ่ายจำเลยก็ไม่ได้ถามค้านพยานโจทก์ทั้งสองปากดังกล่าวเกี่ยวกับลายมือชื่อของจำเลยในช่องผู้ต้องหา แต่ถามค้านพันตำรวจตรีธนรัชต์เรื่องค้นได้อะไรจากกระเป๋าเงินของจำเลย พันตำรวจตรีธนรัชต์ก็เบิกความยืนยันว่าพบใบเสร็จรับเงินของบริษัทที.เค.เอ๊กซ์เพรส จำกัด ใบเสร็จรับเงินในการซื้อหีบไม้แกะสลักและนามบัตรของนางระวิภา ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า เจ้าพนักงานตำรวจค้นเอกสารดังกล่าวได้จากตัวจำเลย ที่จำเลยนำสืบต่อสู้อ้างฐานที่อยู่ โดยจำเลยเบิกความว่าจำเลยเช่ารถจากนางอ้อยหรือนางสุรีย์พร เดินทางไปจังหวัดแม่ฮ่องสอนตั้งแต่วันที่ 8 พฤษภาคม 2542 และเดินทางกลับมาถึงเชียงใหม่ในวันที่ 11 พฤษภาคม 2542 การไปจังหวัดแม่ฮ่องสอนจำเลยไปกับเพื่อน 2 คน คนหนึ่งเป็นผู้หญิงไทยอีกคนเป็นชายชาวฝรั่งเศสนั้น จำเลยก็ไม่ได้นำเพื่อนของจำเลย 2 คนดังกล่าวมาเบิกความสนับสนุนคำเบิกความของจำเลย นางสุรีย์พรพยานจำเลยก็เบิกความแต่เพียงว่าจำเลยเช่ารถไปจากนางสุรีย์พร โดยจำเลยบอกว่าจะเดินทางไปจังหวัดแม่ฮ่องสอน ก็เห็นได้ว่านางสุรีย์พรไม่ได้เดินทางไปกับจำเลยด้วย จำเลยจะเดินทางไปจังหวัดแม่ฮ่องสอนหรือไม่ นางสุรีย์พรก็ไม่ทราบ นางสุรีย์พรทราบจากจำเลยว่าจำเลยจะเดินทางไปจังหวัดแม่ฮ่องสอนก็เป็นพยานบอกเล่าไม่มีนำหนักให้รับฟัง ดังนั้น ที่จำเลยนำสืบต่อสู้อ้างฐานที่อยู่ก็มีตัวจำเลยเพียงปากเดียวไม่มีน้ำหนัก เห็นว่า พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักปราศจากข้อระแวงสงสัย พยานจำเลยไม่สามารถหักล้างพยานโจทก์ได้ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า จำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 อย่างไรก็ตามสำหรับความผิดฐานพยายามส่งออกซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 เพื่อจำหน่าย ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 65 วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80 วางโทษจำเลยในความผิดฐานนี้จำคุกตลอดชีวิต ดังนี้ แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 5 จะมีอำนาจหยิบยกปัญหาที่ศาลชั้นต้นปรับบทลงโทษความผิดข้อหาดังกล่าวมาไม่ถูกต้องขึ้นวินิจฉัยเอง โดยพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสอง, 65 วรรคสอง ประกอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80 พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 7 อันเป็นการปรับบทกฎหมายที่ถูกต้องลงโทษแก่จำเลยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคห้า แต่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 กำหนดโทษที่ลงแก่จำเลยเสียใหม่เป็นประหารชีวิตตามบทบัญญัติแห่งมาตรา 65 วรรคสอง ซึ่งสูงกว่าโทษจำคุกตลอดชีวิตที่ศาลชั้นต้นลงแก่จำเลยในความผิดฐานนี้นั้นเป็นการไม่ถูกต้อง เพราะเมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยให้หนักขึ้นจึงไม่อาจลงโทษจำเลยเกินกว่าจำคุกตลอดชีวิตได้ เพราะเป็นการเพิ่มเติมโทษซึ่งทำให้จำเลยต้องรับโทษหนักขึ้นอันเป็นผลร้ายแก่จำเลย ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212 ประกอบด้วยมาตรา 225 กรณีเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบานั้น เห็นว่า ความผิดฐานนี้มีโทษประหารชีวิตสถานเดียว โทษจำคุกตลอดชีวิตที่ลงแก่จำเลยนั้นเป็นคุณแก่จำเลยมากแล้ว ศาลฎีกาไม่อาจลงโทษต่ำกว่านี้ได้
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษสำหรับความผิดฐานพยายามส่งออกซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 เพื่อจำหน่าย จำคุกตลอดชีวิต เมื่อลดโทษหนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 แล้วคงลงโทษจำคุก 33 ปี 4 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5.