แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยขับรถพุ่งชนและทับไปบนร่างของผู้ตาย ทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตายทันที จึงไม่ใช่กรณีที่ไม่แสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียง จนเป็นเหตุให้บุคคลอื่นได้รับอันตรายสาหัสหรือตาย อันจะทำให้ได้รับโทษหนักขึ้นตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 78 และ 160 วรรคสอง คงเป็นความผิดตามมาตรา 160 วรรคแรกเท่านั้น และปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความจะมิได้อุทธรณ์ฎีกาศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยขับรถยนต์บรรทุกด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวัง เป็นเหตุให้รถของจำเลยพุ่งเข้าเฉี่ยวชนรถยนต์กระบะได้รับความเสียหายทั้งสองคัน แล้วรถของจำเลยยังพุ่งชนและทับไปบนร่างของนางเภาไรย์ ทำให้นางเภาไรย์ถึงแก่ความตายในทันทีหลังเกิดเหตุจำเลยซึ่งเป็นผู้ขับรถที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลและทรัพย์สินของผู้อื่นได้ทิ้งรถหลบหนีไป ไม่แสดงตัวและแจ้งเหตุที่เกิดขึ้นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงในทันทีขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291, 91 ที่แก้ไขแล้วพระราชบัญญัติ จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43, 78, 157, 160ที่แก้ไขแล้ว
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522มาตรา 43, 157 เป็นความผิดกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ซึ่งเป็นบทหนักจำคุก 6 ปีกระทงหนึ่ง และมีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522มาตรา 78, 160 วรรคสอง จำคุก 2 เดือน อีกกระทงหนึ่ง รวมจำคุก6 ปี 2 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพ มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 ปี 1 เดือนไม่มีเหตุสมควรรอการลงโทษ
จำเลยอุทธรณ์ขอให้รอการลงโทษหรือลงโทษสถานเบา
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยประการแรกว่า มีเหตุสมควรกำหนดโทษจำเลยให้น้อยลงหรือไม่ เห็นว่าสำหรับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 นั้น ข้อเท็จจริงปรากฏตามคำร้องขอฝากขังและคำฟ้องโจทก์ ซึ่งจำเลยให้การรับสารภาพฟังได้ว่า ขณะเกิดเหตุการจราจรอยู่ในภาวะติดขัดอย่างมาก จำเลยขับรถเร็วเนื่องจากเจ้าพนักงานจราจรเปิดช่องเดินรถพิเศษเพื่อระบายรถที่ติดขัด ทำให้เกิดเหตุคดีนี้ขึ้น เป็นพฤติการณ์พิเศษที่น่าเห็นใจจำเลย สมควรกำหนดโทษจำเลยในข้อหานี้ให้น้อยลง ส่วนความผิดฐานไม่แสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงซึ่งศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกพ.ศ. 2522 มาตรา 78, 160 วรรคสอง มานั้น ปรากฏตามคำฟ้องว่าการที่จำเลยขับรถพุ่งชนและทับไปบนร่างของผู้ตาย ทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตายทันที จึงไม่ใช่กรณีที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรา 78จนเป็นเหตุให้บุคคลอื่นได้รับอันตรายสาหัสหรือตาย อันจะทำให้ได้รับโทษหนักขึ้น ตามมาตรา 160 วรรคสอง คงเป็นความผิดตามมาตรา160 วรรคแรก เท่านั้น และการที่ศาลอุทธรณ์ปรับบทกฎหมายลงโทษจำเลยไม่ถูกต้อง เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแม้คู่ความจะมิได้อุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสองประกอบด้วยมาตรา 225 ปัญหาต่อไปมีว่าสมควรรอการลงโทษจำเลยหรือไม่ปรากฏข้อเท็จจริงจากรายงานการสืบเสาะและพินิจของพนักงานคุมประพฤติว่าผู้เสียหายในคดีนี้ทุกคนได้รับการชดใช้ค่าเสียหายจากจำเลยจนเป็นที่พอใจ และไม่ติดใจดำเนินคดีแพ่งและคดีอาญาแก่จำเลยอีกต่อไปและจำเลยขับรถมานานประมาณ 10 ปี ไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อนทั้งในสำนวนนี้ปรากฏว่าจำเลยต้องขังมานานครึ่งปีเศษพอหลาบจำแล้วการให้โอกาสแก่จำเลยได้กลับตัวเป็นพลเมืองดีจักเป็นประโยชน์กว่าจึงสมควรรอการลงโทษจำเลย ฎีกาจำเลยฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกพ.ศ. 2522 มาตรา 78, 160 วรรคแรก จำคุก 1 เดือน สำหรับโทษในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ให้จำคุก 3 ปี รวมจำคุก3 ปี 1 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาของศาล ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้วคงจำคุกจำเลยมีกำหนด 1 ปี 6 เดือน 15 วัน ให้รอการลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 มีกำหนด 2 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์