คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 826/2530

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การกำหนดโทษที่จะลงแก่จำเลยในคดีอาญาต้องคำนึงถึงอัตราโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมายด้วย โทษฐานมียาเสพติดประเภท 1(เฮโรอีน) ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายนั้นถือเอาปริมาณยาเสพติดที่มีไว้ในครอบครองเป็นเกณฑ์กล่าวคือ ถ้าปริมาณไม่เกิน 100กรัม ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปี ถึงจำคุกตลอดชีวิตและปรับตั้งแต่ห้าหมื่นบาทถึงห้าแสนบาท แต่ถ้าปริมาณเกิน 100 กรัม ต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิตหรือประหารชีวิต. จำเลยมียาเสพติดไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย 58.255 กรัม. คือปริมาณกึ่งหนึ่งของเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปี ถึงจำคุกตลอดชีวิต การที่ศาลชั้นต้นกำหนดโทษจำคุกจำเลยถึง 40 ปี ซึ่งเกือบจะเท่าโทษสูงสุดที่กฎหมายกำหนด นับได้ว่าเป็นการกำหนดโทษที่ค่อนข้างจะสูงเกินไป เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้และลดโทษให้จำเลย เหลือโทษจำคุก 15 ปี จึงเป็นกำหนดโทษที่เหมาะสม.(ที่มา-ส่งเสริม)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยข้อหามียาเสพติดให้โทษประเภท 1 (เฮโรอีนป ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 66 วรรคแรก จำคุก 40 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 20 ปี ของกลางริบ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำคุก 30 ปี รับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 15 ปี
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาในชั้นฎีกาคงมีเพียงว่า โทษที่ศาลอุทธรณ์กำหนด ต่ำไปหรือไม่ เห็นว่าในการกำหนดโทษที่จะลงแก่จำเลยในคดีอาญานั้น จะต้องคำนึงถึงอัตราโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมายด้วย โทษฐานมียาเสพติดให้โทษประเภท 1 (เฮโรอีน) ไว้ในความครอบครองเพื่อจำหน่ายนั้น พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522มาตรา 66 ได้กำหนดไว้ต่างกัน ทั้งนี้โดยถือเอาปริมาณยาเสพติดที่มีไว้ในความครอบครองเป็นเกณฑ์ กล่าวคือ ถ้าปริมาณไม่เกิน 100 กรัมต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 8 ปี ถึงจำคุกตลอดชีวิตและปรับตั้งแต่ห้าหมื่นบาทถึงห้าแสนบาท แต่ถ้าปริมาณเกิน 100 กรัม ต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิตหรือประหารชีวิต จำเลยมียาเสพติดไว้ในความครอบครองเพื่อจำหน่าย 58,255 กรัม คือประมาณกึ่งหนึ่งของเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดโทษจำคุก ตั้งแต่ 5 ปี ถึงจำคุกตลอดชีวิต หรืออีกนัยหนึ่งก็เท่ากับโทษจำคุก 52 ปีในกรณีที่มีการเปลี่ยนโทษ ดังนั้นการที่ศาลชั้นต้นกำหนดโทษจำคุกแก่จำเลยถึง 40 ปี จึงเกือบจะเท่ากับโทษสูงสุดที่กฎหมายกำหนด นับได้ว่าโทษที่ศาลชั้นต้นกำหนดนั้นค่อนข้างจะสูงเกินไป ดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้โดยลงโทษจำคุกจำเลย30 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 เหลือโทษ15 ปี ศาลฎีกาเห็นว่าเหมาะสมแล้วจึงไม่มีเหตุที่จะแก้ไข ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน”.

Share