คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8245/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนไว้ตามคำขอ ยังไม่ได้รับการจดทะเบียนตามกฎหมาย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 67เพราะมาตรานี้เป็นเรื่องฟ้องขอให้ศาลสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่นายทะเบียนรับจดทะเบียนไว้แล้ว
โจทก์และจำเลยต่างยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาทซึ่งนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าเห็นว่าเหมือนหรือคล้ายกันจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า แต่จำเลยได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาทสำหรับสินค้าจำพวกที่ 18 ก่อนโจทก์ประมาณ 1 ปีโดยโจทก์ไม่ทราบมาก่อน นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าจึงไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าให้แก่โจทก์ ทั้ง ๆ ที่โจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเช่นเดียวกันนี้สำหรับสินค้าจำพวกที่ 25ไว้แล้วในปี 2532 ไม่ปรากฏว่านายทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้มีคำสั่งให้โจทก์และจำเลยปฏิบัติตามมาตรา 24 กรณีจึงถือได้ว่ามีข้อโต้แย้งสิทธิของโจทก์แล้วว่าโจทก์หรือจำเลยมีสิทธิที่จะได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาทดีกว่ากัน ด้วยเหตุนี้โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 55
จำเลยเป็นผู้ประดิษฐ์เครื่องหมายการค้าพิพาทและได้ใช้เครื่องหมายการค้าพิพาทมาก่อนโจทก์ แม้จะส่งสินค้าเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยหลังจากโจทก์จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในประเทศไทยแล้ว ก็ไม่มีผลกระทบถึงสิทธิของจำเลยในอันที่จะจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านี้ดีกว่าโจทก์ เนื่องจากจำเลยเป็นผู้ใช้เครื่องหมายการค้าที่แท้จริงมาก่อนโจทก์ และการที่เครื่องหมายการค้าของโจทก์เหมือนกับเครื่องหมายการค้าของจำเลยจนไม่มีที่ติ พฤติการณ์จึงไม่เชื่อว่าโจทก์คิดประดิษฐ์เครื่องหมายการค้าพิพาทขึ้นมาเองโดยไม่ได้ลอกเลียนเครื่องหมายการค้าของจำเลย โจทก์จึงไม่มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าพิพาทดีกว่าจำเลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อปี 2532 โจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า Kipling อ่านว่า คิปลิ้ง ประกอบรูปลิงหางยาว เพื่อใช้กับสินค้าจำพวกที่ 25 ได้แก่ รองเท้า เสื้อผ้า และเครื่องแต่งกาย หลังจากนั้นโจทก์ได้ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวกับสินค้าของโจทก์มาโดยตลอดนอกจากนี้โจทก์ยังได้ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า KIPLING ประกอบรูปดาว 5 แฉก จำนวน 3 ดวง บนพื้นสีดำกับสินค้าอื่น ๆ ของโจทก์เช่น กระเป๋าสตางค์ กระเป๋าถือ กระเป๋าเดินทาง รองเท้า ต่อมาวันที่ 7เมษายน 2542 โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า Kipling ประกอบรูปลิง คือ เครื่องหมาย Kipling เพื่อใช้กับสินค้าจำพวกที่ 18 เช่น กระเป๋าสตางค์ กระเป๋าเดินทาง และขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า KIPLING ประกอบรูปดาว 5 แฉกด้วย แต่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าไม่รับจดทะเบียนให้ เนื่องจากเป็นเครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่น โจทก์ตรวจสอบแล้วพบว่า จำเลยนำเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไปขอจดทะเบียนไว้เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2541 โดยจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า Kipling อ่านว่า คิพปลิ้ง ประกอบรูปลิงคือเครื่องหมาย Kipling และเครื่องหมายการค้าคำว่า KIPLING อ่านว่า คิพปลิ้ง ประกอบรูปดาว 5 แฉกคือเครื่องหมาย ตราดาว เพื่อใช้กับสินค้าจำพวกที่ 18 รายการสินค้าหนังเทียม หีบเดินทาง กระเป๋าและรายการสินค้าอื่นอีกหลายรายการขอให้พิพากษาว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า KIPLINGดีกว่าจำเลยห้ามจำเลยขัดขวางหรือคัดค้านการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ และให้จำเลยเพิกถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า KIPLING ที่ได้ยื่นขอจดทะเบียนต่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า ถ้าไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย

จำเลยให้การว่า คำฟ้องโจทก์เคลือบคลุม จำเลยมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า Kipling ดีกว่าโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ยกฟ้อง

ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมโดยกำหนดค่าทนายความเป็นเงิน 3,000 บาท แทนจำเลย

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เมื่อปี 2532 โจทก์จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า Kipling ประกอบรูปลิงหางยาวเพื่อใช้กับสินค้าจำพวกที่ 38 ได้แก่ รองเท้า เสื้อผ้า และเครื่องแต่งกายตามทะเบียนเลขที่ 139918 และได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวสำหรับใช้กับสินค้าจำพวกที่ 25 รายการสินค้า รองเท้า เสื้อและเสื้อกีฬา ตามทะเบียนเลขที่ ค 96214 ต่อมาวันที่ 3 กุมภาพันธ์2541 จำเลยยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า kipling ประกอบรูปลิงหางยาวและคำว่า KIPLING ประกอบรูปดาว 5 แฉกในวงกลม ต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญาตามคำขอเลขที่ 353552และ 353553 เอกสารหมาย ล.13 และ ล.12 ตามลำดับ เพื่อใช้กับสินค้าจำพวกที่ 18 ได้แก่กระเป๋าและเครื่องหนังชนิดต่าง ๆ ครั้นวันที่ 7 เมษายน 2542 โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า Kipling ประกอบรูปลิงหางยาว เพื่อใช้กับสินค้าจำพวกที่ 18 เช่นเดียวกัน ตามคำขอเลขที่ 384717 แต่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าไม่รับจดทะเบียนให้ เนื่องจากเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ยื่นคำขอจดทะเบียนไว้ก่อนแล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า ข้อเท็จจริงเชื่อได้ว่านายทะเบียนเครื่องหมายการค้ารับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า KIPLING ประกอบรูปดาว5 แฉก ในวงกลม ตามเอกสารหมาย ล.12 ให้แก่จำเลยแล้ว คงเหลือแต่การออกใบสำคัญการจดทะเบียนเท่านั้นโจทก์ในฐานะเป็นผู้มีส่วนได้เสียตามมาตรา 67 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าพ.ศ. 2534 จึงมีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า ในบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นของโจทก์หน้าที่ 5 มีข้อความยอมรับว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยนั้นยังมิได้เป็นเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนแล้วและบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นของนายสัตยะพล สัจจเดชะ ผู้รับมอบอำนาจจำเลยก็ระบุว่า คำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยอยู่ในระหว่างนายทะเบียนจะออกทะเบียนเครื่องหมายการค้าให้แก่จำเลยเท่านั้น ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนไว้ตามคำขอเลขที่ 353553 ยังไม่ได้รับการจดทะเบียนตามกฎหมาย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องตามมาตรา 67 เพราะมาตรานี้เป็นเรื่องฟ้องขอให้ศาลสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่นายทะเบียนรับจดทะเบียนไว้แล้วแต่ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า แม้โจทก์ไม่ได้คัดค้านการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลย ก็ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องต่อศาลเพื่อขอให้มีคำสั่งแสดงว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าพิพาทดีกว่าจำเลยนั้น เห็นว่า โจทก์และจำเลยต่างยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาทซึ่งนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าเห็นว่าเหมือนหรือคล้ายกันจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า แต่จำเลยได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาทสำหรับสินค้าจำพวกที่ 18 ก่อนโจทก์ประมาณ1 ปี โดยโจทก์ไม่ทราบมาก่อน นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าจึงไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าให้แก่โจทก์ ทั้ง ๆ ที่โจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเช่นเดียวกันนี้สำหรับสินค้าจำพวกที่ 25 ไว้แล้วเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2532 ตามเอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.4 และไม่ปรากฏว่านายทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้มีคำสั่งให้โจทก์และจำเลยปฏิบัติตามมาตรา 24 กรณีจึงถือได้ว่ามีข้อโต้แย้งสิทธิของโจทก์แล้วว่าโจทก์หรือจำเลยมีสิทธิที่จะได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาทดีกว่ากัน ด้วยเหตุนี้โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน

มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า โจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าพิพาทดีกว่าจำเลยหรือไม่ โจทก์มีตัวโจทก์และมีบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นของโจทก์ลงวันที่ 1 สิงหาคม 2543 เป็นพยานว่า โจทก์ประกอบอาชีพค้าขายเสื้อผ้า รองเท้า และกระเป๋าถือมาตั้งแต่ปี 2525 แต่เพิ่งจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาทเมื่อปี2532 โดยคำว่า KIP มาจากคำว่า กิมล้ง ซึ่งเป็นชื่อบิดาโจทก์ และเนื่องจากโจทก์เกิดปีวอกจึงใช้คำว่า KIPLING ประกอบรูปลิงเป็นเครื่องหมายการค้าส่วนจำเลยมีนายสัตยะพล สัจจเดชะ ผู้รับมอบอำนาจและหนังสือถ้อยแถลงแสดงความเป็นเจ้าของและการใช้เครื่องหมายการค้าของนายแอนดรูว์ วอล์คเกอร์ หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารของจำเลยเป็นพยานว่า จำเลยเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าพิพาทโดยนายชาร์เวีย เคเกคส์ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทจำเลยได้คิดประดิษฐ์คำว่า Kipling ประกอบรูปลิงหางยาว เป็นเครื่องหมายการค้าเพื่อใช้กับสินค้าของจำเลย และจำเลยได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2529 จากนั้นได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้านี้ในประเทศต่าง ๆ มากกว่า 20 ประเทศ ตามเอกสารหมาย ล.2 ถึง ล.6 ปัจจุบันนี้จำเลยมีสินค้าวางจำหน่ายในสถานที่ต่าง ๆ มากกว่า 5,000 แห่งใน 44 ประเทศ โดยเฉพาะในประเทศไทยจำเลยมีบริษัทมณียาคอนเซ็ปต์ส จำกัด เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าของจำเลยมาตั้งแต่ปี 2540 จำเลยได้โฆษณาสินค้าและเครื่องหมายการค้าของจำเลยในสื่อต่าง ๆ มากมาย ดังนี้ น่าเชื่อว่าจำเลยเป็นผู้ประดิษฐ์เครื่องหมายการค้าพิพาทและได้ใช้เครื่องหมายการค้าพิพาทมาก่อนโจทก์ แม้จะส่งสินค้าเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยหลังจากโจทก์จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในประเทศไทยแล้ว ก็ไม่มีผลกระทบถึงสิทธิของจำเลยในอันที่จะจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านี้ดีกว่าโจทก์ เนื่องจากจำเลยเป็นผู้ใช้เครื่องหมายการค้าที่แท้จริงมาก่อนโจทก์ และการที่เครื่องหมายการค้าของโจทก์เหมือนกับเครื่องหมายการค้าของจำเลยจนไม่มีที่ติ พฤติการณ์จึงไม่น่าเชื่อว่าโจทก์คิดประดิษฐ์เครื่องหมายการค้าพิพาทขึ้นมาเองโดยไม่ได้ลอกเลียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่า กลุ่มประเทศเบเนลักซ์และองค์การเครื่องหมายการค้านานาชาติ (OMPI) ไม่มีอำนาจรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า และทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามถ้อยคำแถลงของนายแอนดรูว์ วอล์คเกอร์ เป็นเพียงสำเนา รวมทั้งโจทก์ไม่มีโอกาสซักค้านปากคำนายแอนดรูว์ วอล์คเกอร์ ศาลจึงรับฟังเป็นพยานไม่ได้นั้นเห็นว่า หนังสือรับรองการต่ออายุเครื่องหมายการค้าของสำนักงานเครื่องหมายการค้าแห่งเบเนลักซ์ตามเอกสารหมาย ล.2 ถึง ล.6มีโนตารีปับลิกและเลขานุการเอกสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงบรัสเซลส์ประเทศราชอาณาจักรเบลเยี่ยมรับรองส่วนหนังสือจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าขององค์การเครื่องหมายการค้านานาชาติและหนังสือทะเบียนเครื่องหมายการค้าท้ายถ้อยแถลงของแอนดรูว์ วอล์คเกอร์ นั้นจำเลยได้อ้างบันทึกถ้อยแถลงของนายแอนดรูว์ วอล์คเกอร์ พร้อมเอกสารแนบท้ายเอกสารหมาย ล.10 เป็นพยานต่อศาลแทนการสืบพยาน และศาลมีคำสั่งอนุญาตแล้วพยานหลักฐานดังกล่าวรวมทั้งถ้อยแถลงของนายแอนดรูว์วอล์คเกอร์ แม้เป็นพยานบอกเล่าก็รับฟังเป็นพยานได้ตามข้อกำหนดคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2540 ของอธิบดีผู้พิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ข้อ 31 และ 37 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 26 และ30 ทั้งหนังสือรับรองการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของสำนักงานเครื่องหมายการค้าแห่งเบเนลักซ์และองค์การเครื่องหมายการค้านานาชาติก็ไม่มีเหตุน่าสงสัยว่าจะไม่มีอำนาจรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังที่โจทก์อุทธรณ์ ด้วยพยานหลักฐานและเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าพิพาทดีกว่าจำเลยและพิพากษายกฟ้อง จึงชอบแล้วอุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share