คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16889/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้การที่ศาลชั้นต้นสั่งคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกาของโจทก์เมื่อพ้นระยะเวลาฎีกาแล้วจะทำให้โจทก์เสียสิทธิในการยื่นฎีกาภายในกำหนดเวลาที่ยังเหลืออยู่ก็ตาม โจทก์ย่อมคาดหมายได้ว่าศาลชั้นต้นอาจสั่งไม่อนุญาตก็ได้ กรณีไม่อาจนำเหตุที่ศาลชั้นต้นสั่งคำร้องของโจทก์หลังจากพ้นกำหนดระยะเวลาฎีกาแล้ว 4 วัน มาเป็นเหตุที่จะอนุญาตให้โจทก์ขยายระยะเวลาฎีกาได้
การพิจารณาว่ามีเหตุที่จะอนุญาตให้โจทก์ขยายระยะเวลาฎีกาได้หรือไม่ ต้องพิจารณาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 ว่า เหตุที่โจทก์อ้างตามคำร้องเป็นพฤติการณ์พิเศษหรือไม่ การที่โจทก์ไม่สามารถยื่นฎีกาได้ภายในกำหนดเพราะกรรมการบริษัทโจทก์ซึ่งอาศัยต่างประเทศยังไม่เดินทางกลับประเทศไทยเพื่อสั่งจ่ายเช็คค่าฤชาธรรมเนียมที่จะต้องชำระและนำมาวางศาล เป็นความบกพร่องของตัวโจทก์และทนายโจทก์เอง ถือไม่ได้ว่าเป็นพฤติการณ์พิเศษตามบทบัญญัติดังกล่าว

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2556 ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้คู่ความฟัง วันที่ 6 มิถุนายน 2556 วันที่ 4 กรกฎาคม 2556 และวันที่ 6 สิงหาคม 2556 โจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกา ศาลชั้นต้นอนุญาตถึงวันที่ 9 กันยายน 2556 ต่อมาวันที่ 6 กันยายน 2556 โจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกาออกไปจนถึงวันที่ 9 ตุลาคม 2556 อ้างว่า กรรมการบริษัทโจทก์อาศัยอยู่ต่างประเทศและต้องเดินทางไปยังสาขาของโจทก์ที่ต่างประเทศจะเดินทางกลับประเทศไทยเพื่อสั่งจ่ายเช็คค่าใช้จ่ายบริษัทเดือนละครั้ง พนักงานบริษัทโจทก์ได้ดำเนินการขอเบิกค่าฤชาธรรมเนียมแล้ว แต่เนื่องจากกรรมการบริษัทโจทก์ยังไม่เดินทางกลับประเทศไทย โจทก์จึงไม่สามารถยื่นฎีกาพร้อมค่าฤชาธรรมเนียมวางศาลได้ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2556 ว่า ศาลให้โอกาสโจทก์ขยายระยะเวลายื่นฎีกามาแล้วถึง 3 ครั้ง และในการอนุญาตครั้งที่ 3 ตามคำร้องฉบับลงวันที่ 6 สิงหาคม 2556 ศาลระบุว่าจะอนุญาตเป็นครั้งสุดท้าย แต่โจทก์กลับไม่ยื่นฎีกาภายในกำหนด กลับมายื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาอีก พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ข้ออ้างดังกล่าวเป็นความบกพร่องของโจทก์เอง จึงมิใช่กรณีที่มีพฤติการณ์พิเศษอันจะทำให้ศาลอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นฎีกาได้ จึงให้ยกคำร้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้โจทก์ขยายระยะเวลาฎีกา โดยอนุญาตให้โจทก์ขยายระยะเวลาฎีกามีกำหนด 15 วัน นับแต่วันฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ แล้วให้ศาลชั้นต้นดำเนินการต่อไปตามกฎหมาย ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า มีเหตุที่จะขยายระยะเวลาฎีกาให้โจทก์หรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย กล่าวคือ เมื่อศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ขยายระยะเวลาฎีกาถึงวันที่ 9 กันยายน 2556 แล้ว โจทก์ไม่ยื่นฎีกาภายในกำหนดเวลาดังกล่าว แม้ต่อมาศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกาครั้งที่ 4 ของโจทก์ภายหลังจากระยะเวลายื่นฎีกาได้ล่วงพ้นไปแล้ว ก็ไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดที่จะบังคับศาลให้ต้องพิจารณาและมีคำสั่งตามคำร้องของโจทก์ภายในระยะเวลาที่ศาลได้อนุญาตให้ขยายระยะเวลาไว้ ซึ่งหากตีความเช่นนั้น ต้องถือว่ามีเหตุอนุญาตให้ขยายระยะเวลาฎีกาได้ทุกกรณี อันขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 เพราะศาลต้องพิจารณาจากพฤติการณ์พิเศษที่ทำให้คู่ความไม่อาจยื่นฎีกาได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด ทั้งข้ออ้างที่โจทก์ระบุในคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกาเป็นความบกพร่องของโจทก์เอง จึงมิใช่กรณีที่มีพฤติการณ์พิเศษอันจะทำให้ศาลอนุญาตให้ขยายระยะเวลาฎีกาได้นั้น เห็นว่า คดีนี้ ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ขยายระยะเวลาฎีกาครั้งที่ 3 ถึงวันที่ 9 กันยายน 2556 โจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกาครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2556 ซึ่งเหลือระยะเวลาเพียง 3 วันก็จะครบกำหนดระยะเวลายื่นฎีกาแล้ว ทนายโจทก์ย่อมทราบดีว่า เมื่อยื่นคำร้องดังกล่าวแล้วเจ้าพนักงานศาลต้องปฏิบัติหน้าที่ไปตามระบบงานที่เป็นอยู่ เนื่องจากเป็นที่รู้กันอยู่ว่าในแต่ละวันมีคู่ความหรือประชาชนไปติดต่อกับเจ้าพนักงานศาลเป็นจำนวนมาก ไม่ได้มีเฉพาะคดีของโจทก์เพียงคดีเดียว ดังเห็นได้ว่า มีข้อความประทับไว้ตอนล่างคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกาของโจทก์ครั้งที่ 4 ว่า ถ้าศาลไม่อาจสั่งได้ในวันนี้ ผู้ยื่นจะมาติดตามเพื่อทราบคำสั่งทุก ๆ 7 วัน มิฉะนั้นถือว่าทราบคำสั่งแล้ว ซึ่งแสดงว่า ศาลชั้นต้นอาจสั่งคำร้องของทนายโจทก์ในวันอื่นถัดจากวันยื่นคำร้องก็ได้ เป็นหน้าที่ของทนายโจทก์ที่จะต้องมาติดตามคำสั่งของศาลชั้นต้นเอง มิฉะนั้นถือว่าทนายโจทก์ทราบคำสั่งแล้ว ประกอบกับไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายระบุไว้ว่าศาลชั้นต้นต้องมีคำสั่งคำร้องในวันที่คู่ความยื่นคำร้องหรือภายในระยะเวลากี่วัน แม้การที่ศาลชั้นต้นสั่งคำร้องของโจทก์เมื่อพ้นระยะเวลาฎีกาแล้วจะทำให้โจทก์เสียสิทธิในการยื่นฎีกาภายในกำหนดเวลาที่ยังเหลืออยู่ก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกา โจทก์ย่อมคาดหมายได้ว่า ศาลชั้นต้นอาจสั่งไม่อนุญาตก็ได้ ทนายโจทก์ควรต้องเตรียมยื่นฎีกาภายในกำหนดเวลาที่เหลืออยู่ไว้ด้วย กรณีจึงไม่อาจนำเหตุที่ศาลชั้นต้นสั่งคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกาของโจทก์หลังจากพ้นกำหนดระยะเวลาฎีกาแล้ว 4 วัน มาเป็นเหตุอนุญาตให้โจทก์ขยายระยะเวลาฎีกาได้ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไว้ ดังนี้ การที่จะพิจารณาว่ามีเหตุที่จะอนุญาตให้โจทก์ขยายระยะเวลาฎีกาได้หรือไม่นั้น ต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 เมื่อโจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกาก่อนสิ้นระยะเวลา จึงต้องพิจารณาว่า เหตุที่โจทก์อ้างตามคำร้องเป็นพฤติการณ์พิเศษหรือไม่ เห็นว่า ตามคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกาครั้งที่ 3 ของโจทก์ ฉบับลงวันที่ 6 สิงหาคม 2556 ระบุว่า ทนายโจทก์เพิ่งได้รับแจ้งให้ยื่นฎีกา แสดงให้เห็นว่า โจทก์รู้ว่าจะยื่นฎีกาคดีนี้ตั้งแต่วันดังกล่าวเป็นอย่างช้า เมื่อศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ขยายระยะเวลาฎีกาครั้งที่ 3 ถึงวันที่ 9 กันยายน 2556 โจทก์ย่อมมีเวลาพอที่จะเตรียมเงินค่าฤชาธรรมเนียมที่จะต้องชำระและนำมาวางศาลได้ทัน การที่โจทก์ไม่สามารถยื่นฎีกาได้ภายในกำหนด เพราะกรรมการบริษัทโจทก์ซึ่งอาศัยอยู่ต่าง ประเทศยังไม่เดินทางกลับประเทศไทยเพื่อสั่งจ่ายเช็คค่าฤชาธรรมเนียมที่จะต้องชำระและนำมาวางศาล จึงเป็นเพราะความบกพร่องของตัวโจทก์และทนายโจทก์เอง ถือไม่ได้ว่าเป็นพฤติการณ์พิเศษตามบทบัญญัติดังกล่าว อันศาลจะพึงขยายระยะเวลาฎีกาให้โจทก์ได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share