แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 17 เป็นบทบัญญัติที่กำหนดองค์คณะผู้พิพากษาในคดีแรงงานไว้โดยเฉพาะแล้ว จึงไม่นำพระธรรมนูญศาลยุติธรรม พ.ศ.2477 มาตรา 23 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติเรื่ององค์คณะของผู้พิพากษาในคดีทั่วไปมาใช้บังคับ และคำพิพากษาของศาลแรงงานกลางคดีนี้ มีผู้พิพากษา ผู้พิพากษาสมทบทั้งสองฝ่ายได้ลงลายมือชื่อครบทั้งสามคนแล้ว จึงเป็นคำพิพากษาที่ชอบด้วยกฎหมาย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งที่ 366-815/2541 ของจำเลยทั้งสิบ
จำเลยทั้งสิบให้การว่า ไม่มีเหตุที่จะเพิกถอน ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาของศาลแรงงานกลาง ลูกจ้างของโจทก์ผู้มีส่วนได้เสียจำนวน 13 คน ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นจำเลยร่วม ศาลแรงงานกลางอนุญาต
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่าคำพิพากษาศาลแรงงานกลางไม่ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา 23 วรรคหนึ่ง เพราะมีผู้พิพากษาลงชื่อเพียงนายเดียวเท่านั้นเห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 17 บัญญัติว่า “ภายใต้บังคับมาตรา 18 ศาลแรงงานต้องมีผู้พิพากษา ผู้พิพากษาสมทบฝ่ายนายจ้างและผู้พิพากษาสมทบฝ่ายลูกจ้างฝ่ายละเท่า ๆ กัน จึงจะเป็นองค์คณะพิจารณาพิพากษาคดี”ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่กำหนดองค์คณะผู้พิพากษาในคดีแรงงานไว้โดยเฉพาะแล้ว จึงไม่นำพระธรรมนูญศาลยุติธรรม พุทธศักราช 2477 มาตรา 23วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะศาลแรงงานกลางพิพากษาคดีนี้ที่บัญญัติเรื่ององค์คณะของผู้พิพากษาในคดีทั่วไปมาใช้บังคับและคำพิพากษาของศาลแรงงานกลางคดีนี้ผู้พิพากษา ผู้พิพากษาสมทบฝ่ายนายจ้างและผู้พิพากษาสมทบฝ่ายลูกจ้างได้ลงลายมือชื่อครบทั้งสามคนแล้ว จึงเป็นคำพิพากษาที่ชอบด้วยบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวข้างต้น”
พิพากษายืน