คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8243/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติควบคุมอาคารฯ มาตรา 65 วรรคสองและมาตรา 67 วรรคสอง บัญญัติโทษของผู้ฝ่าฝืนโดยให้ปรับอีกวันละไม่เกิน 10,000 บาท ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนหรือจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้องสำหรับความผิดฐานดัดแปลงอาคารเพื่อพาณิชยกรรมโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นและให้ปรับอีกวันละไม่เกิน 30,000 บาท ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนหรือจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้องสำหรับความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ให้ระงับการดัดแปลงอาคารและความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ห้ามใช้อาคาร เมื่อจำเลยเป็นผู้ครอบครองอาคารและมิได้ปฏิเสธว่าเป็นผู้ดัดแปลงอาคารด้วยตนเองจำเลยจึงเป็นผู้ดำเนินการตามความหมายในมาตรา 4 ซึ่งต้องระวางโทษเป็นสองเท่าของโทษที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดแต่ละฐานตามมาตรา 69 นอกจากนี้การกระทำความผิดของจำเลยยังเป็นการกระทำอันเกี่ยวกับอาคารเพื่อพาณิชยกรรมต้องตามมาตรา 70 ซึ่งบัญญัติโทษของผู้กระทำความผิดเป็นสองเท่าของโทษที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดแต่ละฐานอีกด้วย ดังนั้น โทษที่จำเลยกระทำจึงมีระวางโทษปรับรายวันวันละไม่เกิน 40,000 บาท สำหรับความผิดฐานดัดแปลงอาคารเพื่อพาณิชยกรรมโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น และไม่เกิน 120,000 บาท สำหรับความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ให้ระงับการดัดแปลงอาคารและความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ห้ามใช้อาคาร
การลงโทษปรับจำเลยเป็นรายวันสำหรับความผิดฐานดัดแปลงอาคารเพื่อพาณิชยกรรมโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น เริ่มนับแต่วันที่ดัดแปลงอาคารโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายไปจนถึงวันที่ดัดแปลงอาคารเสร็จ ส่วนการกระทำความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ให้ระงับการดัดแปลงอาคารและความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ห้ามใช้อาคารเริ่มนับแต่วันที่จำเลยทราบคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ให้ระงับการดัดแปลงอาคารและห้ามใช้อาคารแล้วฝ่าฝืนคำสั่งไปจนถึงวันที่ดัดแปลงอาคารเสร็จและหยุดใช้อาคาร

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 2, 4, 21, 40, 41, 65, 67, 69, 70ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 และปรับจำเลยเป็นรายวันจนกว่าจะปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น และนับโทษจำเลยต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1445/2543 ของศาลชั้นต้น

จำเลยให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 วรรคหนึ่งและวรรคสอง,67 วรรคหนึ่งและวรรคสอง, 69, 70 (ที่ถูกต้องปรับบทตามมาตรา21, 40 ด้วย) เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 ฐานดัดแปลงอาคารเพื่อพาณิชยกรรมโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นจำคุก 4 เดือนและปรับ 40,000 บาท ฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ให้ระงับการดัดแปลงอาคารจำคุก 6 เดือนและปรับ 60,000 บาทและฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ห้ามใช้อาคารจำคุก 6 เดือนและปรับ 60,000 บาท รวมจำคุก 16 เดือนและปรับ 160,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 8 เดือนและปรับ 80,000บาท นอกจากนั้นในความผิดฐานแรกให้ปรับเป็นรายวันวันละ 3,000 บาทนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นในความผิดฐานที่สองให้ปรับเป็นรายวันวันละ 3,000 บาท นับแต่วันทราบคำสั่งเป็นต้นไปจนกว่าจะปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นเฉพาะส่วนที่คิดถึงวันฟ้องเป็นเวลา 62 วัน เป็นเงิน 186,000 บาท และในความผิดฐานที่สามให้ปรับเป็นรายวันวันละ 3,000 บาท นับแต่วันทราบคำสั่งเป็นต้นไปจนกว่าจะปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นเฉพาะส่วนที่คิดถึงวันฟ้องเป็นเวลา 62 วัน เป็นเงิน 186,000 บาทโทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29, 30 ยกคำขอให้นับโทษต่อ

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 เห็นว่าศาลชั้นต้นยังไม่ลดโทษปรับรายวันให้จำเลย จึงลดโทษปรับรายวันให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 แล้วพิพากษาแก้เป็นว่า ให้ปรับจำเลยเป็นรายวันฐานดัดแปลงอาคารเพื่อพาณิชยกรรมโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นวันละ 1,500 บาท ฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ให้ระงับการดัดแปลงอาคารวันละ1,500 บาท และฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ห้ามใช้อาคารวันละ 1,500 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาขอให้ลงโทษปรับรายวันในสถานเบานั้น เห็นว่าความผิดฐานดัดแปลงอาคารโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น ฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ให้ระงับการดัดแปลงอาคาร และฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ห้ามใช้อาคาร พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 วรรคสอง และมาตรา 67 วรรคสองบัญญัติโทษของผู้ฝ่าฝืนโดยให้ปรับอีกวันละไม่เกิน 10,000 บาท ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนหรือจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้องสำหรับความผิดฐานดัดแปลงอาคารเพื่อพาณิชยกรรมโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นและให้ปรับอีกวันละไม่เกิน 30,000 บาท ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนหรือจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้องสำหรับความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ให้ระงับการดัดแปลงอาคารและความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ห้ามใช้อาคาร เมื่อจำเลยเป็นผู้ครอบครองอาคารและมิได้ปฏิเสธว่าเป็นผู้ดัดแปลงอาคารด้วยตนเอง จำเลยจึงเป็นผู้ดำเนินการตามความหมายในมาตรา 4 ซึ่งต้องระวางโทษเป็นสองเท่าของโทษที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดแต่ละฐานตามมาตรา 69 นอกจากนี้การกระทำความผิดของจำเลยยังเป็นการกระทำอันเกี่ยวกับอาคารเพื่อพาณิชยกรรมต้องตามมาตรา 70 ซึ่งบัญญัติโทษของผู้กระทำความผิดเป็นสองเท่าของโทษที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดแต่ละฐานอีกด้วย ดังนั้น โทษที่จำเลยกระทำจึงมีระวางโทษปรับรายวันวันละไม่เกิน 40,000 บาทสำหรับความผิดฐานดัดแปลงอาคารเพื่อพาณิชยกรรมโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น และไม่เกิน 120,000 บาท สำหรับความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ให้ระงับการดัดแปลงอาคารและความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ห้ามใช้อาคาร ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ใช้ดุลพินิจลงโทษปรับจำเลยในแต่ละฐานความผิดเพียงวันละ 3,000 บาทก่อนลดโทษนั้น นับว่าเบาเป็นคุณแก่จำเลยมากแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น แต่ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษปรับจำเลยเป็นรายวันสำหรับความผิดฐานดัดแปลงอาคารเพื่อพาณิชยกรรมโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น ความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ให้ระงับการดัดแปลงอาคาร และความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ห้ามใช้อาคารนับแต่วันทราบคำสั่งเป็นต้นไปจนกว่าจะปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นนั้นยังไม่ถูกต้อง เพราะการกระทำความผิดฐานแรกย่อมเริ่มนับแต่วันที่ดัดแปลงอาคารโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายไปจนถึงวันที่ดัดแปลงอาคารเสร็จ ซึ่งตามฟ้องระบุว่าจำเลยกระทำการดังกล่าวระหว่างวันที่ 5 เมษายน 2542 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน2542 ส่วนการกระทำความผิดฐานที่สองและที่สามย่อมเริ่มนับแต่วันที่จำเลยทราบคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ให้ระงับการดัดแปลงอาคารและห้ามใช้อาคารแล้วฝ่าฝืนคำสั่งไปจนถึงวันที่ดัดแปลงอาคารเสร็จและหยุดใช้อาคาร ซึ่งตามฟ้องระบุว่าจำเลยกระทำการฝ่าฝืนคำสั่งดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน2542 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2542 รวม 62 วัน ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ปรับจำเลยเป็นรายวันวันละ1,500 บาท สำหรับความผิดฐานดัดแปลงอาคารเพื่อพาณิชยกรรมโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น นับแต่วันที่ 5เมษายน 2542 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2542 รวม 87 วันความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ให้ระงับการดัดแปลงอาคารนับแต่วันที่ 30 เมษายน 2542 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2542 รวม 62 วัน และความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ห้ามใช้อาคาร นับแต่วันที่ 30 เมษายน 2542 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน2542 รวม 62 วัน เป็นเงิน 130,500 บาท 93,000 บาท และ93,000 บาทตามลำดับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share