คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 823/2550

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่าจำเลยที่ 1 เป็นปู่ของโจทก์ทั้งสอง แต่โจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะที่โจทก์ทั้งสองเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท ท. และจำเลยที่ 1 ในฐานะที่เป็นกรรมการของบริษัทดังกล่าวร่วมกับกรรมการอีก 2 คน คือ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้ชดใช้เงินให้แก่บริษัท มิได้ให้ชดใช้เงินให้แก่โจทก์ทั้งสองเป็นการส่วนตัว ทั้งจำนวนเงินตามฟ้อง หากรับฟังได้ตามที่โจทก์ทั้งสองกล่าวหา ก็เป็นเงินของบริษัท มิใช่เงินของจำเลยที่ 1 โจทก์ทั้งสองจึงไม่ต้องห้ามมิให้ฟ้องร้องจำเลยที่ 1 ตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1562

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ทั้งสองฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท ที.พี.เอ็น.อินดัสเตรียล จำกัด จำเลยทั้งสามเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทดังกล่าว ขอให้ศาลบังคับให้จำเลยทั้งสามชำระเงินผลกำไรจำนวน 64,000,000 บาทเศษ ดังกล่าวคืนให้แก่บริษัทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าชำระเสร็จแก่บริษัท ที.พี.เอ็น.อินดัสเตรียล จำกัด จำเลยทั้งสามให้การและฟ้องแย้งทำนองเดียวกันในหลายประเด็น ประเด็นหนึ่งอ้างว่า จำเลยที่ 1 มีศักดิ์เป็นปู่ของโจทก์ทั้งสอง ฟ้องของโจทก์ทั้งสองเฉพาะจำเลยที่ 1 จึงเป็นคดีอุทลุม โจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1
ระหว่างพิจารณา ศาลชั้นต้นทำการวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาดังกล่าวว่าฟ้องของโจทก์ทั้งสองสำหรับจำเลยที่ 1 เป็นคดีอุทลุม โจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 พิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสองเฉพาะจำเลยที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยทั้งสามต่อไป ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษา
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1562 บัญญัติว่า “ผู้ใดจะฟ้องบุพการีของตนเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญามิได้…” อันเป็นบทบัญญัติตัดสิทธิห้ามมิให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดฟ้องบุพการีของตน จึงต้องแปลความโดยเคร่งครัด เมื่อคดีนี้โจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยที่ 1 โดยระบุว่า โจทก์ทั้งสองเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท ที.พี.เอ็น. อินดัสเตรียล จำกัด จำนวนคนละ 3,000 หุ้น และจำเลยทั้งสามอาศัยตำแหน่งหน้าที่ในฐานะเป็นกรรมการของบริษัท ร่วมกันจงใจทำหลักฐานอันเป็นเท็จว่า บริษัทเป็นหนี้เงินกู้ยืมจากกรรมการนับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2539 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2543 รวมเป็นเงิน 64,120,132.28 บาท เท่ากับยอดเงินผลกำไรสุทธิจากการดำเนินกิจการของบริษัททั้งสิ้น ซึ่งจำเลยทั้งสามมีหน้าที่ต้องนำเงินจำนวนดังกล่าวมาแจกเป็นเงินปันผลแก่ผู้ถือหุ้น และจัดสรรเป็นทุนสำรองของบริษัทแต่จำเลยทั้งสามกระทำการดังกล่าวเพื่อนำเงินไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตัวทำให้บริษัทได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้เงินจำนวน 64,120,132.28 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่บริษัท ที.พี.เอ็น อินดัสเตรียล จำกัด โจทก์ทั้งสองจึงฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะที่โจทก์ทั้งสองเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท ที.พี.เอ็น อินดัสเตรียล จำกัด และจำเลยที่ 1 ในฐานะที่เป็นกรรมการของบริษัทดังกล่าวร่วมกับกรรมการอีก 2 คน คือ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้ชดใช้เงินให้แก่บริษัท มิได้ให้ชดใช้เงินให้แก่โจทก์ทั้งสองเป็นการส่วนตัว ทั้งจำนวนเงินตามฟ้อง หากรับฟังได้ตามที่โจทก์ทั้งสองกล่าวหาก็เป็นเงินของบริษัท มิใช่เงินของจำเลยที่ 1 โจทก์ทั้งสองจึงไม่ต้องห้ามมิให้ฟ้องร้องจำเลยที่ 1 ตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นฟ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษา

Share