คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1413/2549

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ตามใบกำกับสินค้าจะมีข้อความระบุราคาเป็นราคา FOB ก็ตาม แต่กลับปรากฏข้อเท็จจริงตามทางพิจารณาเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของคู่สัญญาว่า ผู้ซื้อไม่ได้มีหน้าที่ว่าจ้างผู้ขนส่งให้นำเรือไปรับสินค้าจากผู้ขายหรือให้ผู้ขายช่วยว่าจ้างผู้ขนส่งแทน โดยผู้ซื้อออกค่าขนส่งเองตามเงื่อนไขของการซื้อขายแบบ FOB ดังกล่าวแต่อย่างใด อีกทั้งเมื่อผู้ซื้อพบว่าสินค้าเสียหายและส่งสินค้าคืนแก่บริษัท บ. ตามที่ผู้ขายจะปฏิเสธไม่รับสินค้าตามสิทธิที่กระทำได้หากเป็นการซื้อขายภายใต้เงื่อนไข FOB ดังกล่าว ซึ่งความเสี่ยงภัยในการสูญหายหรือเสียหายของสินค้าได้ตกอยู่แก่ผู้ซื้อแล้ว เนื่องจากมีการขนสินค้าข้ามพ้นกราบเรือ ณ ท่าเรือต้นทางแล้ว แต่ผู้ขายก็ยอมรับสินค้าคืน ซึ่งส่อแสดงว่าคู่สัญญาดังกล่าวมิได้ถือปฏิบัติตามเงื่อนไข FOB เป็นเหตุให้เชื่อได้ว่าคู่สัญญาซื้อขายรายนี้ระบุข้อความคำว่า “FOB” เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับราคาสินค้าเพียงเพื่อใช้แสดงราคาเท่านั้น มิใช่มีข้อตกลงให้นำเรื่องหน้าที่และการโอนความเสี่ยงภัยตามเงื่อนไข FOB ของ INCOTERM มาใช้ด้วย ดังนั้น เมื่อสินค้าเสียหายผู้ขายจึงยังต้องรับผิด
เหตุแห่งความเสียหายของสินค้าที่ขนส่งเกิดขึ้นจากการที่น้ำทะเลท่วมเข้าไปถูกตู้สินค้าซึ่งอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 4 จึงเป็นกรณีจำเลยร่วมที่ 4 ผู้ขนส่งอื่นต้องรับผิดในความเสียหายของสินค้าที่ขนส่งตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 44 ประกอบมาตรา 39 วรรคหนึ่ง และแม้ความเสียหายของสินค้าจะเกิดขึ้นในระหว่างสินค้าอยู่ในความดูแลของจำเลยร่วมที่ 4 ผู้ขนส่งอื่น จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ขนส่งก็ต้องรับผิดในความเสียหายของสินค้านั้นด้วย ตามมาตรา 43 และจำเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัยความรับผิดของจำเลยที่ 1 ผู้เอาประกันภัยที่มีต่อบุคคลอื่นในการขนส่งสินค้าของจำเลยที่ 1 ต้องร่วมรับผิดของจำเลยที่ 1 ด้วย สำหรับจำเลยร่วมที่ 3 ผู้ขนส่งอื่นได้รับการมอบหมายจากจำเลยที่ 1 ให้ขนส่งสินค้า เมื่อเหตุแห่งความเสียหายเกิดขึ้นในช่วงการขนส่งที่จำเลยร่วมที่ 3 ได้รับมอบหมายจำเลยร่วมที่สามจึงต้องรับผิดในความเสียหายของสินค้านี้เช่นกัน
ค่าสำรวจความเสียหายถือได้ว่าเป็นผลจากความเสียหายของสินค้าที่ผู้ขนส่งต้องรับผิดด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินค่าเสียหายจำนวน 2,018,153.96 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 1,920,908 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การและแก้ไขคำให้การทำนองเดียวกันขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องว่า จำเลยที่ 1 ได้ว่าจ้างบริษัทซีแลนด์เซอร์วิส อินคอร์โพเรชั่น จำกัด ให้เป็นผู้ขนส่งคดีนี้ บริษัทดังกล่าวได้ออกใบตราส่งให้แก่จำเลยที่ 1 และมอบหมายให้บริษัทดัม-สกิป เซลสกาเบท อาฟ 1912 อักติเซลสกาป จำกัด และบริษัทอักติ เซลสกาเบท ดัมสกิปเซลสกาเบท สเวนด์บอร์ก จำกัด ซึ่งดำเนินกิจการขนส่งทางทะเลโดยใช้ชื่อว่า สายการเดินเรือเมอร์สก และเป็นเจ้าของเรือ MAERSK TACOMA เป็นผู้ขนส่ง ความเสียหายของสินค้าที่ขนส่งเกิดขึ้นจากความผิดของทั้งสามบริษัทดังกล่าวหากจำเลยที่ 1 แพ้คดีนี้ โดยต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้น จำเลยที่ 1 สามารถใช้สิทธิไล่เบี้ยแก่ทั้งสามบริษัทได้ ขอให้เรียกบริษัททั้งสามดังกล่าวเข้ามาเป็นจำเลยร่วมในคดีนี้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางอนุญาต และให้เรียกบริษัทดัม-สกิป เซลสกาเบท อาฟ 1912 อักติเซลสกาป จำกัด เป็นจำเลยร่วมที่ 1 บริษัท อักติ เซลสกาเบท ดัมสกิปเซลสกาเบท สเวนด์บอร์ก จำกัด เป็นจำเลยร่วมที่ 2 และบริษัทซีแลนด์ เซอร์วิส อินคอร์โพเรชั่น จำกัด เป็นจำเลยร่วมที่ 3
จำเลยร่วมที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ให้การทำนองเดียวกันขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลยร่วมที่ 3 ยื่นคำร้องว่า หลังจากจำเลยร่วมที่ 3 ออกใบตราส่งให้แก่จำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยร่วมที่ 3 ได้มอบหมายให้บริษัทโอเรียนท์ โอเวอร์ซีส์ คอนเทนเนอร์ไลน์ จำกัด และบริษัทโอโอซีแอล ไทยแลนด์ จำกัด ร่วมกันขนส่งสินค้าตามคำฟ้องจากท่าเรือแหลมฉบังไปยังดินแดนไต้หวัน และทั้งสองบริษัทดังกล่าวได้นำเรือ OOCL APPLAUSE มาขนส่งสินค้า ทั้งสองบริษัทนี้จึงอยู่ในฐานะผู้ขนส่งอื่นตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 3 และปรากฏว่าสินค้าได้รับความเสียหายในช่วงการขนส่งจากท่าเรือแหลมฉบังถึงดินแดนไต้หวัน หากศาลพิพากษาให้จำเลยร่วมที่ 3 แพ้คดี จำเลยร่วมที่ 3 สามารถใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่ทั้งสองบริษัทได้ขอให้หมายเรียกบริษัทโอเรียนท์ โอเวอร์ซีส์ คอนเทนเนอร์ไลน์ จำกัด และบริษัทโอโอซีแอล ไทยแลนด์ จำกัด เข้ามาในคดี ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางอนุญาต และให้เรียกบริษัทโอเรียนท์ โอเวอร์ซีส์ คอนแทนเนอร์ไลน์ จำกัด เป็นจำเลยร่วมที่ 4 บริษัทโอโอซีแอล ไทยแลนด์ จำกัด เป็นจำเลยร่วมที่ 5
จำเลยร่วมที่ 4 และที่ 5 ให้การในทำนองเดียวกันขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ในประการแรกว่า โจทก์จ่ายค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เอาประกันภัยไปโดยชอบอันเป็นเหตุให้ได้รับช่วงสิทธิมาฟ้องคดีนี้หรือไม่ โดยปัญหานี้เห็นสมควรวินิจฉัยตามข้ออุทธรณ์ของโจทก์ว่า บริษัทเคพโทรนิคอินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เป็นผู้มีส่วนได้เสียในสินค้าที่เอาประกันภัยไว้แก่โจทก์หรือไม่เสียก่อน ในข้อนี้ข้อเท็จจริงได้ความตามใบกำกับสินค้าว่า บริษัทเคพโทรนิค อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ขายสินค้าประเภทหลอดภาพคอมพิวเตอร์ให้แก่บริษัทเคพโทรนิค ยูเอสเอ (ฮ่องกง) จำกัด ในราคาเอฟโอบี (FOB) เป็นเงิน 142,940 ดอลลาร์สหรัฐ จึงมีปัญหาต้องพิจารณาต่อไปว่า การระบุราคาสินค้าเป็นราคาเอฟโอบีเช่นนี้ เป็นการแสดงว่า การซื้อขายสินค้ารายนี้ผู้ซื้อผู้ขายประสงค์จะใช้เงื่อนไขเอฟโอบี อันเป็นเงื่อนไขเฉพาะสำหรับการซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศ (Incoterms) ซึ่งมีความหมายว่า เป็นการซื้อขายสินค้าที่ผู้ซื้อมีหน้าที่จัดหาเรือมาบรรทุกสินค้า ณ ท่าเรือต้นทาง และความเสี่ยงภัยในการสูญหายหรือเสียหายของสินค้าตกแก่ผู้ซื้อเมื่อสินค้าข้ามพ้นกราบเรือที่ท่าเรือต้นทางดังที่จำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมทั้งห้าให้การและนำสืบหรือไม่ เห็นว่า แม้ตามใบกำกับสินค้าจะมีข้อความระบุราคาเป็นราคาเอฟโอบีก็ตามแต่กลับปรากฏข้อเท็จจริงตามทางพิจารณาเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของคู่สัญญาว่า ผู้ซื้อไม่ได้มีหน้าที่ว่าจ้างผู้ขนส่งให้นำเรือไปรับสินค้าจากผู้ขายหรือให้ผู้ขายช่วยว่าจ้างผู้ขนส่งแทน โดยผู้ซื้อออกค่าขนส่งเองตามเงื่อนไขของการซื้อขายแบบ FOB ดังกล่าวแต่อย่างใด อีกทั้งเมื่อผู้ซื้อพบว่าสินค้าเสียหายและส่งสินค้าคืนแก่บริษัทเคพโทรนิค อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) แทนที่ผู้ขายจะปฏิเสธไม่รับคืนสินค้าตามสิทธิที่กระทำได้หากเป็นการซื้อขายสินค้าภายใต้เงื่อนไข FOB ดังกล่าวซึ่งความเสี่ยงภัยในการสูญหายหรือเสียหายของสินค้าได้ตกอยู่แก่ผู้ซื้อแล้ว เนื่องจากกรณีมีการขนสินค้าข้ามพ้นกราบเรือ ณ ท่าเรือต้นทางแล้ว แต่ผู้ขายก็ยอมรับคืนสินค้า ซึ่งส่อแสดงว่าคู่สัญญาดังกล่าวมิได้ถือปฏิบัติตามเงื่อนไข FOB นั้นเลยย่อมเป็นเหตุให้เชื่อได้ว่าคู่สัญญาซื้อขายรายนี้ระบุข้อความคำว่า “FOB” เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับราคาสินค้าเพียงเพื่อใช้แสดงราคาเท่านั้น มิใช่มีข้อตกลงให้นำเรื่องหน้าที่และการโอนความเสี่ยงภัยตามเงื่อนไข FOB ของ INCOTERM มาใช้ด้วยแต่อย่างใด
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่า สินค้าหลอดภาพคอมพิวเตอร์ตามคำฟ้องได้รับความเสียหายในระหว่างการขนส่งช่วงใดหรือไม่ และจำเลยที่ 1 และที่ 2 จำเลยร่วมที่ 1 ถึงที่ 3 กับจำเลยร่วมที่ 4 และที่ 5 ต้องรับผิดในความเสียหายของสินค้านั้นหรือไม่ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า เหตุแห่งความเสียหายของสินค้าที่ขนส่งเกิดขึ้นในระหว่างที่สินค้าอยู่ในความดูแลของจำเลยร่วมที่ 4 จึงเป็นกรณีที่จำเลยร่วมที่ 4 ผู้ขนส่งอื่นต้องรับผิดในความเสียหายของสินค้าที่ขนส่งดังกล่าวตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 44 ประกอบ มาตรา 39 วรรคหนึ่ง และแม้ความเสียหายของสินค้าจะเกิดขึ้นในระหว่างที่สินค้าอยู่ในความดูแลของจำเลยร่วมที่ 4 ผู้ขนส่งอื่น จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ขนส่งก็ต้องรับผิดในความเสียหายของสินค้านั้นด้วย ตามมาตรา 43 และจำเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัยความรับผิดของจำเลยที่ 1 ผู้เอาประกันภัยที่มีต่อบุคคลอื่นในการขนส่งสินค้าของจำเลยที่ 1 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 สำหรับจำเลยร่วมที่ 3 ผู้ขนส่งอื่นซึ่งได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 1 ให้ขนส่งสินค้าตามคำฟ้องจากท่าเรือแหลมฉบังไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อเหตุแห่งความเสียหายของสินค้าที่ขนส่งเกิดขึ้นในช่วงการขนส่งจากท่าเรือแหลมฉบังไปยังท่าเรือเกาซุง ในดินแดนไต้หวัน อันเป็นช่วงการขนส่งที่จำเลยร่วมที่ 3 ได้รับมอบหมาย จำเลยร่วมที่ 3 จึงต้องรับผิดในความเสียหายของสินค้านี้เช่นกัน ส่วนจำเลยร่วมที่ 1 และที่ 2 เจ้าของเรือ MAERSK TACOMA แม้จะเป็นผู้ขนส่งอื่นที่ได้รับมอบหมายให้ขนส่งสินค้าช่วงจากท่าเรือเกาซุงในดินแดนไต้หวันไปยังปลายทางที่ประเทศสหรัฐอเมริกานั้น แต่เมื่อเหตุแห่งความเสียหายของสินค้าไม่ได้เกิดขึ้นในช่วงที่จำเลยร่วมที่ 1 และที่ 2 ได้รับมอบหมายให้ขนส่ง จำเลยร่วมที่ 1 และที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดในความเสียหายของสินค้าดังกล่าว สำหรับจำเลยร่วมที่ 5 ซึ่งเป็นเพียงตัวแทนของจำเลยร่วมที่ 4 ในประเทศไทย ไม่ใช่ผู้ร่วมขนส่งหรือผู้ขนส่งอื่นดังที่ได้วินิจฉัยแล้ว จำเลยร่วมที่ 5 จึงไม่ต้องรับผิดในความเสียหายของสินค้าเช่นกัน และที่จำเลยร่วมที่ 3 และที่ 4 ให้การต่อสู้ว่า เหตุที่สินค้าได้รับความเสียหายเกิดจากความผิดของบริษัทเคพโทรนิค อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ผู้ส่งของเอง อันเป็นเหตุยกเว้นความรับผิดของผู้ขนส่งและผู้ขนส่งอื่นตามมาตรา 52 (10) นั้น เป็นหน้าที่ของจำเลยร่วมที่ 3 และที่ 4 ที่อ้างเหตุว่าตนไม่ต้องรับผิดนั้นต้องนำพยานหลักฐานมาสืบพิสูจน์ให้ได้ความตามที่กล่าวอ้างซึ่งจำเลยร่วมที่ 3 และที่ 4 ก็มิได้กล่าวอ้างให้เห็นว่าตามประเพณีการขนส่งสินค้าหลอดภาพคอมพิวเตอร์นี้จะต้องใช้บรรจุภัณฑ์ที่ป้องกันไม่ให้น้ำเข้าได้โดยเด็ดขาดแต่อย่างใด ข้อเท็จจริงยังไม่อาจฟังได้ว่าเหตุที่สินค้าที่ขนส่งได้รับความเสียหายเกิดจากความผิดของบริษัทเคพโทรนิค อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ผู้ส่งของ ตามข้อต่อสู้ของจำเลยร่วมที่ 3 และที่ 4 ดังนั้น จำเลยร่วมที่ 3 และที่ 4 จึงต้องร่วมกันรับผิดในความเสียหายของสินค้าตามฟ้อง
มีปัญหาต้องวินิจฉัยในข้อสุดท้ายว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 จำเลยร่วมที่ 3 และที่ 4 ต้องร่วมกันรับผิดในความเสียหายของสินค้าที่ขนส่งเพียงใด เห็นว่า เมื่อโจทก์กล่าวอ้างว่าสินค้าได้รับความเสียหายทั้งหมดและฝ่ายจำเลยและจำเลยร่วมได้ให้การปฏิเสธ โจทก์ย่อมมีหน้าที่ต้องพิสูจน์ถึงความเสียหายของสินค้านั้น แต่โจทก์ก็ไม่ได้นำพยานหลักฐานมาแสดงให้เห็นว่าสินค้าอีก 340 ชุด ที่ไม่ได้มีการตรวจสอบนั้นได้รับความเสียหายอย่างไร เมื่อโจทก์ไม่ได้นำสืบพยานหลักฐานให้ปรากฏถึงความเสียหายของสินค้าจำนวน 340 ชุด จึงไม่อาจรับฟังได้ว่าสินค้าจำนวนดังกล่าวได้รับความเสียหายด้วย โจทก์ย่อมมีสิทธิรับช่วงสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายสำหรับสินค้าจำนวน 44 ชุด เท่านั้น สำหรับจำนวนความเสียหายนั้นปรากฏว่าสินค้าหลอดภาพคอมพิวเตอร์ราคาชุดละ 132 ดอลลาร์สหรัฐ จึงเป็นค่าเสียหายสำหรับตัวสินค้าจำนวน 5,808 ดอลลาร์สหรัฐกับค่าสำรวจความเสียหายอีกจำนวน 880 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถือได้ว่าเป็นผลจากความเสียหายของสินค้า รวมเป็นเงินจำนวน 6,688 ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อคิดเป็นเงินไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนเงิน 1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 37.25 บาท ที่โจทก์ได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนสำหรับความเสียหายของตัวสินค้าและค่าสำรวจความเสียหายให้แก่บริษัทเคพโทรนิค อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ผู้เอาประกันภัยไปแล้ว เป็นจำนวน 249,128 บาท ซึ่งไม่เกินจำนวนจำกัดความรับผิดสำหรับสินค้าที่ขนส่งจำนวน 44 ชุด คือ 44 หน่วยการขนส่ง พระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 58 วรรคหนึ่งและวรรคสอง จำเลยที่ 1 ที่ 2 จำเลยร่วมที่ 3 และที่ 4 จึงต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์เป็นเงินจำนวน 249,128 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าว นับแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2542 ซึ่งเป็นวันที่ได้มีการจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยไปอุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 จำเลยร่วมที่ 3 และที่ 4 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 249,128 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินจำนวนดังกล่าว นับแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2542 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 จำเลยร่วมที่ 3 และที่ 4 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีโดยกำหนดค่าทนายความรวม 12,000 บาท ยกฟ้องสำหรับจำเลยร่วมที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลระหว่างโจทก์กับจำเลยร่วมที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 ให้เป็นพับ.

Share