แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์บอกเลิกสัญญาโดยระบุเหตุชัดแจ้งทั้งในเรื่องจำเลยมิได้จัดให้มีไฟฟ้าและประปาตามแบบแปลนท้ายสัญญาและยังอ้าง งื่อนไขตามสัญญาข้อ6เรื่องการสร้างโรงภาพยนต์ชัดแจ้งทั้งเหตุที่โจทก์อ้างดังกล่าวชี้ระบุไว้ชัดแจ้งในสัญญาซึ่งเป็นสัญญาต่างตอบแทนแล้ว ดังนี้ เมื่อจำเลยที่ 1ไม่ได้ปฏิบัติการชำระหนี้ตอบแทนแก่โจทก์ตามสัญญา จำเลยที่ 1ย่อมตกเป็นผู้ผิดสัญญา ชอบที่โจทก์จะบอกเลิกสัญญาได้โดยไม่จำต้องชำระเงินค่างวดแก่จำเลยตามที่จำเลยเรียกร้องและมิพักต้องคำนึงว่าข้อกำหนดแห่งการชำระเงินค่างวดตามสัญญา เป็นข้อสำคัญหรือไม่ ขณะที่จำเลยที่ 2 เข้าทำสัญญาฉบับพิพาทกับโจทก์นั้นยังอยู่ในระยะเวลาดำเนินการก่อตั้งและขอจดทะเบียนจำเลยที่ 1จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้เริ่มก่อการบริษัทจึงต้องรับผิดตามสัญญาที่ตนได้ทำขึ้นจนกว่าที่ประชุมตั้งบริษัทได้อนุมัติและได้จดทะเบียนบริษัทแล้ว ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1113 แต่เมื่อยังไม่มีการอนุมัติสัญญาฉบับพิพาทในการประชุมตั้งบริษัท แม้จะมีการจดทะเบียนบริษัทจำเลยที่ 1และภายหลังจำเลยที่ 1 ได้เข้าถือสิทธิตามสัญญาฉบับพิพาทแล้วก็ตาม ก็ยังไม่เป็นเหตุให้จำเลยที่ 2 หลุดพ้นจากความรับผิดดังกล่าวได้ และความรับผิดของจำเลยที่ 2ดังกล่าวนี้ เป็นผลเกิดจากเหตุตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ตามมาตรา 391 กล่าวคือเมื่อโจทก์ได้บอกเลิกสัญญาฉบับพิพาทต่อจำเลยที่ 1 ในฐานะคู่สัญญาแล้ว ผลแห่งการเลิกสัญญาดังกล่าวย่อมก่อให้เกิดหน้าที่แก่บุคคลทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องรวมทั้งจำเลยที่ 2 ที่จำต้องให้โจทก์ได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ความรับผิดดังกล่าวเกิดขึ้นทันทีโดยมิพักต้องอาศัยการบอกกล่าวอีก ดอกเบี้ยที่โจทก์เรียกร้องคดีนี้สืบเนื่องมาจากการใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา ซึ่งจำเลยที่ 2 จำต้องให้โจทก์ได้กลับคืนฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมด้วยการใช้เงินคืนแก่โจทก์โดยให้บวกดอกเบี้ยเข้าด้วย คิดตั้งแต่เวลาที่ได้รับไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391ซึ่งเป็นการทดแทนความเสียหายอย่างหนึ่งเพื่อให้ได้กลับคืนฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมหาใช่หนี้ดอกเบี้ยค้างส่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 166(เดิม) ไม่ โจทก์มีพยานเอกสารคือบันทึกการรับเช็คท้ายสัญญาฉบับพิพาทซึ่งปรากฏเหตุการณ์รับเช็คเป็นลำดับต่อเนื่องตั้งแต่แรกรับเช็คและการเปลี่ยนเช็คสำหรับค่างวดแรกต่อท้ายด้วยบันทึกการรับเช็คสำหรับเงินค่างวดที่สอง โดยมีลายมือชื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 ปรากฏเป็นผู้รับทุกลำดับต่อเนื่องกันมา การบันทึกยอมรับเช็คสำหรับเงินค่างวดโดยไม่ปรากฏมีข้อทักท้วง สงวนหรืออิดเอื้อนเกี่ยวกับเงินงวดแรกดังที่ปรากฏ ย่อมเป็นข้อสันนิษฐานได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3ได้รับเงินงวดแรกไปเรียบร้อยแล้ว หนังสือทวงถามให้โจทก์ชำระเงินค่างวดที่ค้างมีข้อความชัดแจ้งว่าเป็นการทวงถามเงินค่างวดที่สองและต่อจากนั้นโดยจำเลยที่ 3 เป็นผู้ลงชื่อในเอกสารดังกล่าว แสดงว่าโจทก์มิได้ค้างชำระเงินงวดแรก คำให้การจำเลยที่ 1 และที่ 3 คงยืนยันปฏิเสธแต่เพียงว่าไม่ได้รับชำระเงินงวดที่สอง เป็นการยอมรับว่าได้รับเงินงวดแรกแล้วจริงตามฟ้องโจทก์ ส่วนจำเลยที่ 2 นั้น ให้การต่อสู้ในเรื่องรับเงินนี้แต่เพียงว่าไม่รับรองความถูกต้องเท่านั้น หาได้ปฏิเสธว่าไม่ได้รับเงินตามฟ้องโดยชัดแจ้งไม่และในชั้นพิจารณาจำเลยที่ 2 ได้ยอมรับข้อเท็จจริงตามที่โจทก์นำสืบว่าเช็ค จ.10 และ จ.11 ตลอดจนเช็คชำระเงินงวดที่สองมีการเรียกเก็บเงินเข้าบัญชีของจำเลยที่ 2 ได้แล้วจริงดังนี้แม้เช็คเอกสาร จ.10 และ จ.11 จะมีจำนวนเงินและวันเวลาไม่สอดคล้องกับที่ปรากฏในบันทึกการรับเช็คก็ตาม แต่เมื่อจำเลยได้ให้การและนำสืบรับดังกล่าวข้างต้น ข้อดังกล่าวจึงเป็นเพียงข้อปลีกย่อยในพลความที่มิได้เป็นข้อเท็จจริงที่เป็นประเด็นพิพาทในคดีมาตั้งแต่ต้น ไม่อาจมีผลเปลี่ยนคำรับของจำเลยที่ 2 ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อประมาณปลายปี 2521 จำเลยที่ 2 ในฐานะส่วนตัวและผู้เริ่มก่อการบริษัทจำเลยที่ 1 ได้ชักชวนโจทก์ซื้ออาคารพาณิชย์พร้อมที่ดิน โดยแจ้งว่าเป็นของจำเลยที่ 2 เองที่จะก่อตั้งดำเนินการในรูปของบริษัทและบริเวณที่ดินว่างเปล่าด้านในของอาคารพาณิชย์จะสร้างโรงภาพยนตร์ขึ้นภายใน 2 ปี นับแต่วันทำสัญญา โจทก์ตกลงซื้ออาคารพาณิชย์ 2 ห้อง กับจำเลยที่ 2ในราคาห้องละ 1,400,000 บาท และนัดวันทำสัญญา ต่อมาวันที่25 มกราคม 2522 จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ในฐานะส่วนตัวและกรรมการของบริษัทจำเลยที่ 1 ได้นัดโจทก์ไปทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์ห้องที่ 24 และ 25 ที่ตกลงซื้อกับจำเลยที่ 1 แต่ในสัญญาระบุราคาห้องละ 1,220,000 บาท และตกลงกันว่าผู้จะขายจะก่อสร้างโรงภาพยนตร์ขนาด 800 ที่นั่ง ในวันทำสัญญาดังกล่าวโจทก์ชำระเงินมัดจำไว้ห้องละ 50,000 บาท ต่อมาชำระราคาตามงวดเป็นเช็คอีก 4 ฉบับ เป็นเงิน 1,000,000 บาท แต่จำเลยที่ 1ผิดสัญญาไม่สร้างโรงภาพยนตร์ และอาคารพาณิชย์ 2 ห้องที่จะซื้ออยู่ในสภาพไม่เรียบร้อย โจทก์จึงมีหนังสือบอกเลิกสัญญาไปยังจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2525 และมีหนังสือบอกเลิกสัญญาให้จำเลยที่ 1 คืนเงินที่โจทก์ชำระไว้พร้อมด้วยดอกเบี้ยขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินมัดจำค่างวดและดอกเบี้ยแก่โจทก์เป็นเงิน 1,701,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ15 ต่อปี จากต้นเงิน 1,100,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ให้การต่อสู้คดีและฟ้องแย้งว่าโจทก์ยื่นคำร้องฉุกเฉินขอคุ้มครองประโยชน์ของโจทก์ชั่วคราวก่อนพิพากษาเป็นเท็จว่า โจทก์เป็นเจ้าหนี้จำเลยที่ 1 จนศาลหลงเชื่อสั่งยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 92 ของจำเลยที่ 1 ทำให้จำเลยที่ 1ไม่สามารถไถ่ถอนหรือปลดหนี้จำนองและต้องเสียดอกเบี้ยร้อยละ20 ต่อปี คิดเป็นเงินวันละ 2,767 บาท ขอให้ยกฟ้องโจทก์และบังคับโจทก์ชำระค่าเสียหายแก่จำเลยที่ 1 และที่ 3วันละ 2,767 บาท นับแต่วันฟ้องแย้งจนกว่าโจทก์จะถอนการยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 92
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับเฉพาะคำให้การจำเลยที่ 1 ที่ 3ส่วนฟ้องแย้งไม่รับ
จำเลยที่ 2 และที่ 4 ให้การต่อสู้คดีขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันชำระเงินมัดจำ 100,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 25 มกราคม 2522 และชำระเงินค่างวด 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงิน 300,000 บาท นับแต่วันที่ 1 มกราคม 2522กับชำระเงินค่างวด 260,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงิน 260,000 บาท นับแต่วันที่ 10 ตุลาคม 2522 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระหนี้แก่โจทก์เสร็จ แต่ดอกเบี้ยคิดคำนวณถึงวันฟ้อง60,000 บาท จากต้นเงิน 300,000 บาท ต้องไม่เกิน 150,000 บาทและจากต้นเงิน 260,000 บาท ต้องไม่เกิน 130,000 บาท ตามที่โจทก์ขอให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ที่ 4 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
โจทก์และจำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สำหรับปัญหาที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาโดยมิได้ชำระเงินค่างวดตามเวลาที่กำหนดในสัญญา และการบอกเลิกสัญญาของโจทก์อ้างเหตุเพียงไม่มีไฟฟ้าและน้ำประปา มิได้บอกเลิกสัญญาเพราะจำเลยที่ 1 มิได้ก่อสร้างโรงภาพยนตร์นั้น เห็นว่า ตามเอกสารหมาย ล.5 โจทก์บอกเลิกสัญญาโดยระบุเหตุชัดแจ้งทั้งในเรื่องจำเลยมิได้จัดให้มีไฟฟ้าและประปาตามแบบแปลนท้ายสัญญาและยังอ้างเงื่อนไขตามสัญญาข้อ 6เรื่องการสร้างโรงภาพยนตร์ชัดแจ้ง ทั้งเหตุที่โจทก์อ้างดังกล่าวชี้ระบุไว้ชัดแจ้งในสัญญาเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 ซึ่งเป็นสัญญาต่างตอบแทน เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ได้ปฏิบัติการชำระหนี้ตอบแทนแก่โจทก์ตามสัญญา จำเลยที่ 1 ย่อมตกเป็นผู้ผิดสัญญา ชอบที่โจทก์จะบอกเลิกสัญญาได้โดยไม่จำต้องชำระเงินค่างวดแก่จำเลยตามที่จำเลยเรียกร้องและมิพักต้องคำนึงว่าข้อกำหนดแห่งการชำระเงินค่างวดตามสัญญาเป็นข้อสำคัญหรือไม่
สำหรับประเด็นที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า การจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลของจำเลยที่ 1 เป็นการให้จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว ตลอดจนโจทก์มิได้บอกกล่าวทวงถามให้จำเลยที่ 2รับผิดนั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติได้ว่า ขณะจำเลยที่ 2เข้าทำสัญญากับโจทก์นั้น ยังอยู่ในระยะเวลาดำเนินการก่อตั้งและขอจดทะเบียนจำเลยที่ 1 อยู่ จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้เริ่มก่อการบริษัทจึงต้องรับผิดตามสัญญาที่ตนได้ทำขึ้น จนกว่าที่ประชุมตั้งบริษัทได้อนุมัติและได้จดทะเบียนบริษัทแล้ว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1113 แต่ข้อเท็จจริงแห่งคดีตามที่จำเลยนำสืบไม่ได้ความว่าไม่มีการอนุมัติสัญญาเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 ในการประชุมตั้งบริษัทแต่ประการใด ดังนี้แม้จะมีการจดทะเบียนบริษัทจำเลยที่ 1และภายหลังจำเลยที่ 1 ได้เข้าถือสิทธิตามสัญญาเอกสารหมาย จ.1และ จ.2 แล้วก็ตาม ก็ยังไม่เป็นเหตุให้จำเลยที่ 2 หลุดพ้นจากความรับผิดดังกล่าวได้ และความรับผิดของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวนี้เป็นผลเกิดจากเหตุตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 กล่าวคือ เมื่อโจทก์ได้บอกเลิกสัญญาเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 ต่อจำเลยที่ 1ในฐานะคู่สัญญาแล้ว ผลแห่งการเลิกสัญญาดังกล่าวย่อมก่อให้เกิดหน้าที่แก่บุคคลทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งจำเลยที่ 2 ที่จำต้องให้โจทก์ได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ความรับผิดดังกล่าวเกิดขึ้นทันทีโดยมิพักต้องอาศัยการบอกกล่าวอีกแต่ประการใด
สำหรับฎีกาจำเลยที่ 2 ข้อสุดท้ายที่ว่า โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยค้างส่งเกินกว่า 5 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 166 เดิมนั้น เห็นว่า ดอกเบี้ยที่โจทก์เรียกร้องคดีนี้สืบเนื่องมาจากการใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา ซึ่งจำเลยที่ 2จำต้องให้โจทก์ได้กลับคืนฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมด้วยการใช้เงินคืนแก่โจทก์โดยให้บวกดอกเบี้ยเข้าด้วย คิดตั้งแต่เวลาที่ได้รับไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 ซึ่งเป็นการทดแทนความเสียหายอย่างหนึ่งเพื่อให้ได้กลับคืนฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม หาใช่หนี้ดอกเบี้ยค้างส่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 166 (เดิม) ดังที่จำเลยที่ 2 ฎีกาไม่
ส่วนปัญหาตามฎีกาโจทก์ที่ขอให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันชำระเงินงวดแรกที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้รับจากโจทก์ไปคืนนั้นโจทก์มีพยานเอกสารคือบันทึกการรับเช็คท้ายสัญญาเอกสารหมาย จ.2ฉบับพิพาทซึ่งปรากฏเหตุการณ์รับเช็คเป็นลำดับต่อเนื่องตั้งแต่แรกรับเช็คและการเปลี่ยนเช็คสำหรับค่างวดแรก ต่อท้ายด้วยการบันทึกการรับเช็คสำหรับเงินค่างวดที่สอง โดยมีลายมือชื่อจำเลยที่ 2และที่ 3 ปรากฏเป็นผู้รับทุกลำดับต่อเนื่องกันมา การบันทึกยอมรับเช็คสำหรับเงินค่างวดที่สอง โดยไม่ปรากฏมีข้อทักท้วง สงวนหรืออิดเอื้อนเกี่ยวกับเงินงวดแรกดังที่ปรากฏ ย่อมเป็นข้อสันนิษฐานได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้รับเงินงวดแรกไปเรียบร้อยแล้วเป็นประการแรก ประการต่อมาในการทวงถามให้โจทก์ชำระเงินค่างวดที่ค้าง ตามเอกสารหมาย ล.1 และ ล.2 มีข้อความชัดแจ้งว่าเป็นการทวงถามเงินค่างวดที่สองและต่อจากนั้น โดยจำเลยที่ 3เป็นผู้ลงชื่อในเอกสารดังกล่าว แสดงว่าโจทก์มิได้ค้างชำระเงินงวดแรกยิ่งไปกว่านั้นคำให้การจำเลยที่ 1 และที่ 3 คงยืนยันปฏิเสธแต่เพียงว่าไม่ได้รับชำระเงินงวดที่สอง เป็นการยอมรับว่าได้รับเงินงวดแรกแล้วจริงตามฟ้องโจทก์ ส่วนจำเลยที่ 2 นั้น ให้การต่อสู้ในเรื่องรับเงินนี้แต่เพียงว่าไม่รับรองความถูกต้องเท่านั้น หาได้ปฏิเสธว่าไม่ได้รับเงินตามฟ้องโดยชัดแจ้งไม่ และในชั้นพิจารณาจำเลยที่ 2 ได้ยอมรับข้อเท็จจริงตามที่โจทก์นำสืบว่าเช็ค จ.10และ จ.11 ตลอดจนเช็คชำระเงินงวดที่สองมีการเรียกเก็บเงินเข้าบัญชีของจำเลยที่ 2 ได้แล้วจริง ดังนี้แม้เช็คเอกสาร จ.10 และ จ.11จะมีจำนวนเงินและวันเวลาไม่สอดคล้องกับที่ปรากฏในบันทึกการรับเช็คก็ตาม แต่เมื่อจำเลยได้ให้การนำสืบรับดังกล่าวข้างต้นข้อดังกล่าวจึงเป็นเพียงข้อปลีกย่อยในพลความที่มิได้เป็นข้อเท็จจริงที่เป็นประเด็นพิพาทในคดีมาตั้งแต่ต้น ไม่อาจมีผลเปลี่ยนคำรับของจำเลยที่ 2ดังที่ประมวลมาแล้วข้างต้น จึงต้องฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 2และที่ 3 ได้ร่วมกันรับเงินตามเช็คเอกสาร จ.10 และ จ.11เป็นเงินงวดแรกจากโจทก์ไปตามสัญญาเอกสาร จ.1 และ จ.2 จริงจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงต้องรับผิดคืนเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันคืนเงินจำนวน 450,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2522 เป็นต้นไป สำหรับเงินต้น200,000 บาท และนับแต่วันที่ 1 มีนาคม 2522 เป็นต้นไปสำหรับเงินต้น 240,000 บาท จนกว่าจะชำระเสร็จให้โจทก์ด้วยนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3